เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | พื้นฐานสำคัญกว่าพื้นที่

โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย

กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม ฯ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ไว้ท้ายเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เป็นปรารภเหตุที่ทรงมุมานะแต่งวรรณคดีสำคัญจนจบ

ด้วยวรรณคดีสมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นเรื่องแต่งค้างไว้แต่สมัยอยุธยา โดยสองกวีคือพระมหาราชครู และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เริ่มแต่งในรัชกาลของพระองค์ (พ.ศ.2199-2231) ทรงแต่งค้างไว้จวบจนยุครัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมาฯ จึงทรงนิพนธ์ต่อจนจบเรื่องเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2392

ครบ 170 ปีในปีนี้พอดี

กาพย์ปรารภเหตุข้างต้นนี้มีนัยสำคัญที่ทรงฝากไว้ให้ผู้รักในวิชาหนังสือได้คิดถึงกาลจะเสื่อมสลาย (ไขษย) ของกวีในสยามประเทศนี้

ซึ่งดูน่าเป็นห่วงจริงด้วย

จากสภาพการณ์วิกฤตสิ่งพิมพ์ และอุบัติการณ์โลกจอแผ่นที่เหมือนจะไม่เหลือพื้นที่ให้บทกวีได้ปรากฏเอาเสียเลยนี้ วรรคกวีว่า “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม”

ใกล้จะถึงกาละเสียละกระมัง

ที่เข้ามาแทนพื้นที่สื่อขณะนี้คือเวทีประกวด ดังปรากฏรางวัลวรรณกรรมหลากหลายล้วนตัวเลขเงินรางวัลสูงๆ ล่อนักล่ารางวัลให้หัวปักหัวปำอยู่กับเวทีประกวด บ้างก็ถึงหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อผิดหวัง

เคยนิยามภาวะนี้ว่าเป็นวิกฤตเขาวงกตของโลกวรรณกรรม

เวทีประกวดวรรณกรรมจึงมีสองด้านซ้อนกันอยู่ ด้านดีคือเสริมสร้างคุณค่างานเขียน ด้านร้ายคือก่อกิเลสแก่นักเขียนที่มักตกเป็นเหยื่อของรางวัล

วรรคกวี “โดยมุมานะหฤทัย” นี้ดีนัก

ด้วยมุ่งจิตสำนึกสร้างสรรค์กวีนิพนธ์เป็นหลัก และเป้าหมายเพื่อกวีจะต้องมีอยู่คู่แผ่นดินสยาม ดังวรรคที่ว่า “กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม” นั้น

วิกฤตพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตวรรณกรรม วิกฤตสำคัญอีกส่วนคือวิกฤตพื้นฐานภาษานี่เป็นหัวใจหลัก

วิกฤตพื้นที่ย่อมคลี่คลายไปตามสภาพการณ์ของยุคสมัย

วิกฤติพื้นฐานต่างหากจะเป็นจุด “เสื่อมสลาย” คือ “กาลไขษย” ที่แท้จริงของงานวรรณกรรม โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไทย

เวทีประกวดสะท้อนจุดวิกฤตพื้นฐาน โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไทยชัดเจนที่สุด

กวีนิพนธ์นั้นเป็นมงกุฎของวรรณกรรม เพราะคัดคำมากรองความรู้สึกนึกคิดที่เป็นปัญญาของมนุษย์ให้ปรากฏออกมาเป็นบทกวี

มีคำอธิบายขยายความอีกเช่น บทกวีคือการใช้คำที่มีอยู่จำกัด มาถ่ายทอดความรู้สึกอันไม่จำกัดของคนให้ออกมาได้

ท่านอาจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ท่านเคยนิยามว่า “บทกวีเป็นพลังของสังคม”

ก็ด้วยเหตุว่า บทกวีเป็นความแหลมคมทางปัญญามนุษย์ อันนำมาใช้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมได้นั่นเอง

โดยนัยนี้ พลังปัญญาคือพลังสังคม

ทุกชาติทุกภาษามักมีวาทะโวหารเปรียบเทียบถึงพลังกวี เช่น ญี่ปุ่นมีภาษิตว่า

คำไพเราะคำเดียวทำให้อบอุ่นไปตลอดฤดูหนาวสามเดือน

หรือจีนว่า คำหนึ่งคำมีค่ากว่าหมื่นภาพ และภาพหนึ่งภาพมีค่ากว่าหมื่นคำ

เยอรมันเองอาจารย์เจตนาเคยเล่าว่าอะไรๆ ที่ดีวิเศษนั้นเขาจะตีค่าว่าเหมือนบทกวีได้หมด เช่น อาหารอร่อยก็ว่า “อร่อยเหมือนบทกวี” นั่นเลย

ความวิเศษของความรู้สึกนี่แหละคือรสของบทกวี

ความพิเศษของภาษาแม้จะต่างกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือสามารถนำมาแต่งเป็นบทกวีที่มีอานุภาพ มีพลังได้เหมือนกัน

ตัวอย่างภาษาไทย ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งของภาษาในโลกที่ยังดำรงอยู่ต่อเนื่องมานับเป็นพันปี กระทั่งมีพื้นฐานโครงสร้างที่ลงตัวจนถึงปัจจุบัน

พื้นฐานสำคัญของภาษาไทยที่โดดเด่นคือเสียงกับจังหวะ อันมีรายละเอียดพิสดารเป็นต่างหากออกไป “หลากหลายและล้ำลึก”

เสียงกับจังหวะเป็นองค์ประกอบของความไพเราะงดงามในทุกสรรพศิลป์นี้ดังเรียกชื่อต่างกันไป เช่น

ในงานจิตรกรรม เสียงคือความเหลื่อมล้ำหรือมิติของแสงเงา ดังเรียกโทนสีนั้น จังหวะก็คือองค์ประกอบที่กำหนดอยู่ในรูปเขียนนั้นๆ

ในประติมากรรมและสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน ล้วนมีมิติและทรวดทรง เปรียบดังเสียงและจังหวะนั้นเอง

ดนตรีและนาฏะลีลา ก็เสียงกับจังหวะนี่แหละเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ไพเราะและงดงาม

บทกวีมีเสียงอักษรและวรรณยุกต์กำหนดความเหลื่อมล้ำของเสียง กับมีสระกำหนดจังหวะของถ้อยคำและวรรคตอน ประกอบเป็นโครงสร้างให้เกิดความงาม ความไพเราะ เช่นกันกับศิลปะอื่นทุกแขนง

นี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญกว่าพื้นที่

กวีวรรณ

เขียนคำเป็นคำคำ

คือคำคัดคำจัดแจง

ไม่มีอะไรแปลง

อะไรเปลี่ยนไปจากคำ

เขียนคำด้วยสัมผัส

จัดลำดับเสียงสูงต่ำ

ไพเราะเสนาะล้ำ

ก็คือคำมีทำนอง

เขียนความเป็นเรียงความ

ไปตามขั้นตอนครรลอง

ถึงคำจะคล้องจอง

ก็เป็นได้แค่เรียงความ

เหวยเหวยกวีวรรณ

เห็นไหมนั่นอะไรงาม

อลังการอันเรืองราม

การร่ายรำแห่งภาษา

เศกใจจนแจ้งใจ

ให้หัวใจได้รจนา

มธุรทัศน์ทิพย์ศรัทธา

ผองเนรมิตรกวี!