ศัลยา ประชาชาติ : ปิดฉาก ASEAN Summit ไทย-จีน-สหรัฐ ใครได้-ใครเสีย

บทบาทการเป็นผู้นำอาเซียนของประเทศไทยในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 “เกือบจะ” ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จ

จากผลงานที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมทั้ง 10 ด้าน บวกกับความสามารถผูกโยงผู้นำ 17 ชาติอาเซียนและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, อินเดีย, จีน, นิวซีแลนด์, รัสเซีย, ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ให้เข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนวาระเป้าหมาย “สร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคฝ่าความผันผวนทางเศรษฐกิจ” ก่อนที่ไทยส่งไม้ต่อให้กับ “เวียดนาม” ในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2563

ทว่าความสำเร็จที่เกือบจะไปถึงฝั่งของประเทศไทยนั้นกลับ “สะดุด” หยุดลงในคืนสุดท้ายก่อนที่จะปิดประชุมอย่างเป็นทางการ

เมื่อผู้นำอาเซียนและชาติพันธมิตร 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย จีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, อินเดีย, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ไม่สามารถประกาศความสำเร็จในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งได้ใช้เวลาในการเจรจากันมานานกว่า 7 ปีลงได้

โดยมีสาเหตุหลักมาจาก “อินเดีย” 1 ใน 6 ชาติพันธมิตรของ RCEP เกิดพลิกท่าทีกลางวงประชุมด้วยการประกาศไม่ร่วมรับรองผลการเจรจา RCEP ในคืนสุดท้ายก่อนจะปิดประชุมในวันที่ 4 พฤศจิกายน

ด้วยเหตุผลที่ว่า การเจรจา RCEP รอบนี้ “ไม่ตอบโจทย์ความกังวลและผลประโยชน์ที่น่าพอใจของอินเดีย”

เจอเข้าแบบนี้ ไม่ว่าทีมงานเจรจา RCEP ฝ่ายไทยในฐานะเจ้าภาพจะออกแรงพยายามสรุปผลการเจรจา RCEP ทั้ง 20 ประเด็นให้ได้ตามเป้าหมายมากเพียงไรก็ตาม แต่ไม่อาจโน้มให้ทีมเจรจาของอินเดียปรับเปลี่ยนท่าทีได้ และมีแนวโน้มว่าอินเดีย “อาจจะ” ไม่อยู่ร่วมใน RCEP

จนสุดท้ายเหลือเพียง 15+1 ประเทศที่ร่วมกันขับเคลื่อนความตกลงฉบับนี้

 

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สะท้อนความยากในการเจรจา RCEP ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจาก “ผลประโยชน์” ที่ไม่ลงตัวระหว่างสมาชิกคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ยังมีข้อกังวลหลักๆ อยู่ถึง 2-3 ประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถสรุปการเจรจาได้

ประเด็นแรกมาจากการที่ปัจจุบันประเทศอินเดียประสบภาวะขาดดุลการค้ากับทั้ง 15 ประเทศสมาชิก RCEP รวมกันถึง 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ซึ่ง “ครึ่งหนึ่ง” เป็นการขาดดุลการค้ากับจีน

หากอินเดียยอมรับผลการเจรจาด้วยการเปิดตลาดสินค้าในกรอบ RCEP อาจมีผลทำให้สินค้าจากจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือสินค้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกีวีและนมจากนิวซีแลนด์ ยางพาราจากอินโดนีเซีย-มาเลเซีย “พาเหรด” ทะลักเข้าสู่ตลาดอินเดีย

ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ออกมา “โวยวาย” เสียงดังสไตล์แขกเอากับรัฐบาลอินเดียได้ แม้จะมีการผลักดันให้ตั้ง “กองทุน” เยียวยาผลกระทบก็ตาม

“เป้าหมายใน RCEP ของอินเดียก็คือ การผลักดันให้ประเทศสมาชิกเปิดเสรีธุรกิจบริการและการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูงด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งอินเดียได้เปรียบในสาขาเหล่านี้ รวมไปถึงความต้องการให้ฟิลิปปินส์-อินโดนีเซียเปิดตลาดข้าวบาสมาติ ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ เนื่องจากเวียดนามในฐานะผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ในอาเซียนไม่ยินยอม” ดร.อัทธ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของกรอบระยะเวลาในการลดภาษีสินค้าหลังจากได้ข้อสรุป RCEP ด้วย ซึ่งเดิมกำหนดว่า สมาชิก RCEP จะทยอยลดภาษีระหว่างกันเป็น 0% ในเวลาตั้งแต่ 10 ปี แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่าจะให้เริ่มนับการลดภาษีจากปีใด

โดยทางอินเดียเป็นกังวลว่า หากเริ่มสตาร์ตนับเวลาลดภาษีจากปีที่เริ่มเจรจา RCEP ตั้งแต่ปี 2013 ก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 4 ปีที่ภาษีจะกลายเป็น 0% ในปี 2023

“ซึ่งเป็นสิ่งที่อินเดียปรับตัวไม่ทัน”

ดังนั้น อินเดียจึงขอให้เริ่มนับระยะเวลาลดภาษีตั้งแต่ปี 2019 ไปอีก 10 ปี หรือทยอยลดภาษีเป็น 0 จนถึงปี 2029 เพื่อที่อินเดียจะได้ยืดเวลาการปรับตัวออกไปได้อีก

 

การที่ RCEP ไม่สามารถปิดการเจรจาตามกรอบในปี 2562 ได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนทุกชาติสมาชิกที่ร่วมเจรจากันมา 7 ปี ก็ใช่ว่าสมาชิกทั้งหมดเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากแท้ที่จริงแล้ว RCEP ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่อาเซียนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้

ประกอบกับแม้ชาติสมาชิกทั้ง 15 ชาติจะลงนามในความตกลง RCEP ทันที

แต่กระบวนการทางกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกที่จะให้สัตยาบันยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ด้านอินเดียที่ยังไม่ตัดสินใจตกลงเข้าร่วม RCEP นั้น ด้วยความเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่มหึมาจากจำนวนประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ แต่ในทางกลับกัน ประเทศสมาชิกที่เหลือของ RCEP อาจจะอ่อนแรงลงหากขาดตลาดอินเดีย

อย่างไรก็ตาม หากจะตั้งคำถามว่า ใครคือผู้ที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP มากที่สุด ดูเหมือนสปอตไลต์จะสาดแสงไปที่จีน ที่แสดงบทบาทเป็น “ผู้นำ” ในการผูกโยงอาเซียนเข้ากับเส้นทางสายไหม One Belt One Road

ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นทั้งกับอาเซียน จีน และสหรัฐ สามารถเกาะกระแสความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะในเวทีความสัมพันธ์เพื่อวางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน 2030 ของนายหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และเวทีความสัมพันธ์เพื่อวางยุทธศาสตร์อาเซียน-ญี่ปุ่น

ซึ่งนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศขยายความร่วมมือกับอาเซียนด้วยการเพิ่มวงเงินกู้ให้อาเซียนใช้ลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

สหรัฐอเมริกาเองดูจะอยู่ในจุดเสี่ยงมากที่สุด เพราะไม่เพียงอยู่นอกวง RCEP โดยไม่ได้เข้าร่วมเจรจาในกรอบความตกลงฉบับนี้

แถมประธานาธิบดีทรัมป์เองกลับตัดสินใจลดความสำคัญในการเข้าร่วมเจรจาในกรอบคู่ขนานกับอาเซียนลงด้วยการส่งตัวแทนในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวิลเบอร์ รอสส์ กับนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติมาเท่านั้น

ส่งผลให้เวทีการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐถูกดำเนินไปอย่าง “เงียบเหงา” มีเพียง 3 ชาติสมาชิก ได้แก่ ไทยในฐานะเจ้าภาพ-เวียดนามในฐานะเจ้าภาพปีถัดไป และ สปป.ลาว เท่านั้นที่เข้าร่วมการหารือกับสหรัฐ

 

ในประเด็นดังกล่าว ดร.อัทธ์กลับมองท่าทีของสหรัฐในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ว่า มีเวทีย่อย “อินโด-แปซิฟิก บิซิเนส ฟอรั่ม” ซึ่งสหรัฐมอบให้นายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นทูตพิเศษเข้าร่วม

โดยฟอรั่มนี้น่าสนใจในแง่ที่ว่า ไม่มี “จีน” แต่มี “สหรัฐ” เป็นแกนหลัก พร้อมด้วยสมาชิกอาเซียน, เอเชียใต้, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นฟอรั่ม แต่ในอนาคตอาจจะถูกพัฒนาความสัมพันธ์ขึ้นในลักษณะที่คล้ายกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC

แม้จะยังไม่เทียบเท่าเวทีระดับ APEC แต่อย่าลืมว่า ในภูมิภาคนี้สหรัฐแทบจะไม่มีเวทีให้ “เล่น” และแสดงความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และไม่ได้ริเริ่มกลับมาทำความตกลงในลักษณะนี้กับชาติในเอเชีย-แปซิฟิกอีก

ท้ายที่สุดหากวิเคราะห์โอกาสและความได้เปรียบในกลุ่มอาเซียนแบบลึกๆ ในตอนนี้น่าจะ “ฟันธง” ลงไปได้เลยว่า “เวียดนาม” จะยืนอยู่แถวหน้าๆ ของสมาชิก RCEP ที่ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้มากที่สุด จากการวางบทบาทเป็นแหล่งรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องของแรงงานและแหล่งวัตถุดิบ

นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นชาติเดียวที่เข้าเป็นสมาชิกในความตกลง CPTPP ความตกลงทวิภาคีกับสหภาพยุโรปหรือ EVFTA และยังคงได้ประโยชน์จากการลดภาษีของสหรัฐตามกรอบสนธิสัญญาไมตรีอีกด้วย

ในขณะที่ “ประเทศไทย” ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังคง “เคว้งคว้าง” ความหวังในการเปิดตลาดในความตกลง RCEP ยังจำเป็นต้องรอกระบวนการทางกฎหมายของแต่ละประเทศสมาชิกต่อไป

การเจรจาความตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นฟื้นฟูการเจรจากันใหม่ แม้ว่ารัฐบาลไทยอยากเปิดการเจรจา แต่สหภาพยุโรปยังไม่ขยับ

ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลง CPTPP เองก็ยังไม่ได้เริ่ม ซ้ำปัจจุบันไทยยังถูกสหรัฐระงับสิทธิพิเศษ GSP เข้าไปอีก 573 รายการในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ยังมองไม่เห็นทางออกแต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้คือภาพรวมที่เกิดขึ้นและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับการประชุมสุดยอดอาเซียน หรือ ASEAN Summit ครั้งที่ 35 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป