สนทนาว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ปัจจุบัน-หลังรัฐประหาร และแนวทางหลังถูกตัดสิทธิจีเอสพี

“มีหลายกระแสที่บอกว่าจะให้เราแบน-บอยคอตสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ตอบโต้การตัดจีเอสพีไทย ก็ต้องบอกว่าการแบนสินค้าของเขา เอาเข้าจริงจะทำได้มากน้อยแค่ไหน มีหลายคนพยายามปลุกกระแส-เคลื่อนไหว แต่เท่าที่พิจารณาดูจากสื่อ มองในความเป็นจริงว่าการกระทำแบบนี้กับประเทศมหาอำนาจที่สินค้า-วัฒนธรรมเขาซึมซับอยู่ทั่วโลก ไม่ต้องไปมองไหนไกล เอาแค่อยากให้ย้อนกลับมาดูตัวของเราเองว่าตอนเช้าเราตื่นขึ้นมาเราใช้สินค้าอะไรที่ไม่ใช่ของเขาบ้างมีหรือไม่? อย่างน้อยที่ตื่นขึ้นมาคุณต้องเปิดมือถือ คุณใช้ Facebook คุณจะหาข้อมูลคุณเปิด Google คุณต้องเปิด YouTube ดูสิ่งต่างๆ ที่พูดๆ กันมา มันเหมือนกับประชดประชันมากกว่า ซึ่งมันไม่ได้เกิดผลอะไรขึ้นกับใครเลย”

นั่นคือมุมมองของ อ.ประพีร์ อภิชาติสกล หัวหน้าโครงการอเมริกันศึกษา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อ.ประพีร์มองว่าในเมื่อที่เรายังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตลาดของสหรัฐอยู่เพราะการส่งออกเป็นสิ่งที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทย

สิ่งที่เราทำได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือการปรับมาตรฐานแรงงานของเรา โดยการทบทวนมาตรฐานใหม่ หาสาเหตุว่าเพราะอะไรถึงไม่ได้มาตรฐานตามสากล อีกอย่างหนึ่งก็คือ การส่งคนไปเจรจา

ส่วนการที่บอกว่าจะแบนเขา ให้ดูความเป็นจริงว่า วัฒนธรรมอเมริกามันกลับสอดแทรกอยู่ลึก

ตัวเองอาจจะไม่ได้กินแมคโดนัลด์ แต่เราไปกินแฮมเบอร์เกอร์ยี่ห้ออะไรก็ตาม มันก็คือวัฒนธรรมของเขาแล้ว

การดูหนังดูภาพยนตร์ เราดู netflix หนังฮอลลีวู้ด เป็นการทำให้ถูกแทรกซึมไปโดยไม่รู้ตัวว่าความคิดของเขา ความคิดแบบอเมริกันอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่แค่เพียงสินค้า แต่เราเอาวัฒนธรรมเขามาใช้แล้วในชีวิต


หนึ่งตัวอย่างที่ชัดคือ กรณีที่สหรัฐโจมตีอัฟกานิสถาน แต่ชาวอัฟกานิสถานเองกลับชื่นชมหรือดูหนังฮอลลีวู้ดอยู่เลย มันหมายความว่าอะไร?

เขาซึมซับไปโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้สึกว่าหนังถูกสร้างด้วยคนอเมริกัน

เราคงต้องย้อนถอยความคิดเรากลับไปสัก 20-30 ปีที่แล้วสมัยเราเป็นเด็ก เราไม่ต้องมาใช้สื่อโซเชียล ไม่ต้องมาใช้วัฒนธรรมของเขา

แต่เราอาจจะลืมไปไหมว่า ของบางอย่างมันไม่ใช่เป็นเพียงแค่ของ ไม่ใช่สินค้า แต่มันคือ “ความคิด” ตื่นมาเราแปรงฟัน-หยิบกางเกงยีนส์มาใส่ มันก็คือวัฒนธรรมอเมริกันที่เขาใส่ไปขุดเหมือง อย่างนี้เป็นต้น

ชีวิตเราแทบจะแยกไม่ออกจากวิถีนั้นแล้ว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนออกมาพูดสื่อสารลักษณะนี้ก็อยากจะให้ไปสำรวจตัวเองซะก่อนว่าเราจะไม่รับวัฒนธรรมเขามาได้จริงหรือไม่?

มุมมองต่อการตัดสิทธิจีเอสพี

ต้องย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง หลังจากนั้นเกิดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ครั้งหนึ่ง ว่า น่าจะมีการช่วยเหลือกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาโดยให้ประเทศที่พัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรโดยงดเว้นภาษีกับสินค้าบางชนิดซึ่งมีการดำเนินการมาตั้งนานแล้ว

และไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาที่มีกับเรา สหภาพยุโรปหรืออียู ญี่ปุ่น เป็นการช่วยเหลือประเทศสมาชิกซึ่งเป็นการให้ gsp แบบทั่วไป ไม่ต้องต่างตอบแทนและเป็นการให้โดยไม่เลือกปฏิบัติในการให้สิทธินี้

แต่เมื่อพิจารณาดูจริงๆ แล้วก็ไม่ถึงกับว่าจะไม่มีการต่างตอบแทนกันเลย เมื่อพูดถึงการตัดสิทธิ จะตัดสิทธิรายประเทศก็ได้ หรืออาจจะตัดสิทธิเป็นรายสินค้า ก็อย่างที่ทราบกันว่าประเทศไทยเคยมีเคสนี้มาก่อนแล้ว

อย่างเช่นตอนปี 2528 เรามีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์-ปัญหาเรื่องของยา ก็เลยมีการใช้นโยบายในลักษณะแบบนี้ในการตัดสิทธิต่างๆ กับประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งปกติแล้ววงรอบแบบนี้เขาจะมีการทบทวนทุกปี ว่าประเทศนี้หรือสินค้าประเภทไหน เช่น กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาระดับเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมากแล้วเขาก็จะมีการทบทวนหรืออาจจะเป็นรายสินค้าบางประเภท

รวมถึงเงื่อนไขสำคัญต่างๆ เช่น การไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ละเมิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน หรือกระทั่งเรื่องความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐ

สิ่งเหล่านี้มันคือปัจจัยในการพิจารณา เอาเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย

แต่เผอิญว่าจังหวะรอบนี้ในการทบทวน มาในช่วงนี้พอดี ซึ่งปกติทุกปีเป็นวงรอบจะต้องมีการทบทวน หลังปี 2528 เป็นต้นมาเราก็เจอหลายมาตรการในรูปแบบอื่นๆ ในการกีดกันทางการค้าหรือตัดสิทธิประโยชน์บางประเภท เพราะเขามีมาตรา 301 ที่ให้สิทธิกับรัฐบาลสหรัฐ เราเรียกกันว่า “กฎหมายกีดกันทางการค้า”

เขาก็จะมีเครื่องมือตัวนี้อยู่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลมันเป็นปัญหาที่จะต้อง “ใช้การเจรจาเป็นหลัก” ในการพูดคุยและไปค้นหาสาเหตุจริงๆ ว่ามาจากอะไรกันแน่ เพราะที่ผ่านมาคนไทยเองบางส่วนพยายามโยงกันเองเรื่องการที่เราแบนสารพิษ

ต้องเน้นย้ำว่าการเจรจาเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เราเองก็ต้องทบทวนตัวเองว่าจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง แล้วจะทำยังไงให้ไม่ถูกตัดสิทธิอีกในภายภาคหน้า

ส่วนตัวก็เชื่อว่าเราอาจจะสามารถไปหาตลาดอื่นๆ ส่งสินค้าที่ถูกตัดสิทธิไปขายได้

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐช่วงที่ผ่านมา

เรามักจะผูกโยงกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องใดๆ โดยเฉพาะผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเน้นเรื่องธุรกิจอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเพราะเขาเป็นนักธุรกิจมาก่อน เขาอาจจะไม่สนใจว่าประเทศไทยจะเป็นยังไงในด้านอื่นๆ เท่าเรื่องผลประโยชน์และเศรษฐกิจ

นโยบายอเมริกาเฟิร์สต์ มันยิ่งทำให้ภาพของเขาออกมาว่าเขากลายเป็นผู้ที่ปกป้อง หวงแหนผลประโยชน์และทำเพื่อประชาชนของตัวเอง รักษาผลประโยชน์ของชาติมากกว่าสิ่งใด

ยิ่งปีหน้าก็จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี การชู America First หรือคอนเซ็ปต์ make America Great again ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ ยิ่งต้องทำคะแนนมากขึ้น อาจจะทำให้เขาเรียกคะแนนกลับมาได้

ประชาชนเขาก็ไม่ได้สนใจเรื่องการต่างประเทศอยู่แล้ว ยิ่งต้องทำให้เห็นว่ามีการปกป้องผลประโยชน์-ปกป้องธุรกิจของคนในชาติ

แต่อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ 1 ปีหลังจากนี้ ในสหรัฐก่อนจะมีการเลือกตั้งอะไรก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

แต่ถามว่าผู้ท้าชิงจากพรรคอื่นๆ มีใครเข้าตาโดดเด่นมากพอหรือยัง ก็ยังไม่เห็น หรือยังไม่ว้าว

แม้ที่ผ่านมาจะมีการเสนอไอเดียขึ้นมาหลายคนหลายชื่อ หรืออาจจะยังไกลเกินไปที่จะวิเคราะห์ได้

แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่า “ทรัมป์” ยังมีโอกาสอยู่

เพราะหากเราวิเคราะห์ถึงฐานเสียงครั้งที่แล้วของเขาก็มาจากความเบื่อหน่ายของประชาชนในสิ่งเดิมๆ ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าคนอเมริกาก็ไม่ได้สนใจเรื่องต่างประเทศ เขาจัดสิทธิการค้าอะไรกับใคร เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือเรื่องการอยู่ดีกินดี ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเขาจะอยู่ยังไง ปัญหาคนว่างงานจะมีงานทำหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ที่ทำให้เขาเลือกใครคนหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำ

ที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของสหรัฐมีการวิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินนโยบายใช้ลักษณะงานกล่าวอ้าง เช่น การเข้าไปโจมตีอิรัก หรือการกล่าวอ้างเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อจะเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศต่างๆ โดยอ้างถึงเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเพื่อต้องการเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ฉะนั้น เราก็จะเห็นลักษณะการใช้แนวนโยบายแบบนี้มาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเราก็เชื่อว่าอุดมการณ์ของเขาจริงๆ ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นมาก็คือเรื่องของประชาธิปไตย-เสรีนิยม หลักความเสรีและความถูกต้อง

แต่ในทางปฏิบัติในความเป็นจริงแล้วก็จะมีความขัดแย้งกันเองกับการปฏิบัติ พูดอย่างหนึ่งหรือทำอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่เราเห็นสหรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้น

แต่หลังๆ มาก็เน้นเรื่องความสัมพันธ์ในเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจมันจะต่างกับเรื่องการเมือง-ความมั่นคง เพราะทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันเรื่องของผลประโยชน์โดยที่เขาได้และเราก็ไม่เสียมากก็อาจจะเป็นการปรับแนวความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว สัญญาณความต้องการเป็นพันธมิตร-เศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่เป็นความสำคัญด้านเอเชีย ยิ่งการที่จีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการค้าของโลกซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างที่อยากจะได้พันธมิตร แม้ว่าที่ผ่านมาเราอาจจะดูเหมือนสนิทชิดเชื้อกับจีนมากขึ้น สหรัฐก็คงต้องจับตามองดูอยู่ว่าเราจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเข้าหาจีนมากน้อยแค่ไหน

แต่ว่าประเทศไทยเราเองต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองให้มากที่สุดด้วย

โอเคเราคงไม่ได้ทิ้งสหรัฐอเมริกา แต่การสมดุลกับจีนก็ต้องทำให้ดี เพราะจีนเปลี่ยนไปแล้วไม่เหมือนอดีต ต้องมองด้วยกรอบที่ต่างจากเดิม

ซึ่งความสัมพันธ์เรากับสหรัฐ หลังการรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นเป็นช่วงปลายยุคโอบามา ประเทศเราก็สะดุดลงไปนิดหนึ่ง ท่าทีสหรัฐชัดเจนว่าไม่พอใจที่เราจะต้องกลับมาเป็นแบบนี้

แต่พอหลังจากยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นต้นมาก็ดูเหมือนว่าเขาเองไม่สนใจว่าเราจะเป็นแบบไหน

ยิ่งตอนที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปสหรัฐปีก่อนก็มีการพูดกันแต่เรื่องของการค้าขายของ ซื้อของ เสียมากกว่า โดยไม่ได้กดดันมาถามเราว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ เราเองอาจจะยังไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากเขามาก แต่อย่างน้อยเราอย่าไปเสียผลประโยชน์อะไรมากกว่านี้ และทุกอย่างควรจบที่ “การเจรจา”

ซึ่งส่วนใหญ่การเจรจาที่ประสบความสำเร็จ มักไม่ได้มาจากโต๊ะประชุม มันจะมาจากงานเลี้ยงหรือบรรยากาศสบายๆ โดยที่ไม่ต้องเป็นทางการ