มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย…ก่อนที่เราจะมี “สังฆราชองค์ที่ 20” ในรัชกาลที่ 10

‘ในหลวง’ ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ ในพระราชพิธีสถาปนา ‘พระสังฆราช’ องค์ที่ 20

7 กุมภาพันธ์ 2560

สำนักนายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ความว่า

“ตามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 เป็นเหตุให้ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง บัดนี้ มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องจักได้สนองและดำเนินการเพื่อให้พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประเพณีต่อไป จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขยายความการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่า

ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือพิจารณารายชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติสมควรได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยเสนอรายชื่อไป 5 รูป

หลังจากนำขึ้นทูลเกล้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 17.00 น. ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ม็อบพระสงฆ์ปะทะทหาร ระหว่างรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการแทรกแซงกิจการคณะสงฆ์ ที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ก่อนวันมาฆบูชา ปี 2559

ก่อนที่เราจะมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20
มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

โดยภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 และมีการพระราชทานเพลิงพระศพไปเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 มีการประชุมวาระนัดพิเศษของมหาเถรสมาคม

ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 คือ สมเด็จช่วง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

แต่หลังจากนั้น พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้นำหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 300,000 รายชื่อ ยื่นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช., นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

พร้อมๆ กับที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้วินิจฉัยขั้นตอนเสนอชื่อพระสังฆราชตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ อาจไม่ถูกต้อง

การคัดค้านดังกล่าว ทำให้เครือข่ายคณะสงฆ์ฯ ชุมนุมที่พุทธมณฑล นับหมื่นรูป ออกมาตอบโต้โดยชี้ว่ามีแผนล้มล้างโครงการปกครองคณะสงฆ์ และต่อต้านสมเด็จช่วง

การชุมนุมครั้งนั้นมีพระปะทะกับทหารที่มาดูแลความสงบ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่พุทธศาสนิกชนอย่างรุนแรงและอื้อฉาว

เวลาต่อมาสมเด็จช่วงถูกร้องเรียนเรื่องรถเบนซ์ในครอบครอง และดีเอสไอได้สรุปว่า รถเบนซ์หรูของสมเด็จช่วง มีการใช้เอกสารปลอมในการจดประกอบ และเตรียมจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

สมเด็จช่วง

ยิ่งกว่านั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติว่า มหาเถรสมาคมทำผิดขั้นตอนเกี่ยวกับการเสนอชื่อ “สมเด็จช่วง” เป็น “สังฆราช”

แม้ว่าในเวลาต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติว่าขั้นตอนตั้ง “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราชถูกต้องตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แล้ว และเสนอให้นายกฯ พิจารณาดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยเหตุผล “ผมทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่มีปัญหาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จบ…ต้องรอกระบวนการเรียบร้อยก่อน”

เส้นทางสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ของสมเด็จช่วง ขรุขระยิ่งขึ้น

เมื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน และพระพุทธะอิสระ โจมตีความสัมพันธ์ระหว่าง “สมเด็จช่วง” กับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ที่เข้าไปพัวพันกับคดีการฉ้อโกงเงินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด

รวมถึงระบุว่า สถานภาพของ “พระธัมมชโย” อาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุมาตั้งแต่ปี 2542 ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ใน 2 กรณี คือ กรณีการไม่ยอมคืนที่ดินให้วัดพระธรรมกาย และการกล่าวหาว่าพระไตรปิฎกมีความบกพร่องจึงเป็นเหตุให้บิดเบือนคำสอน

หากสมเด็จช่วงขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 จะนำไปสู่ความขัดแย้งในวงการพุทธศาสนา เพราะ “สมเด็จช่วง” เป็นพระอุปัชฌาย์ของ “ธัมมชโย” และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวัดพระธรรมกาย

โอกาสของสมเด็จช่วงริบหรี่ลงอย่างมาก

รถยนต์เบนซ์โบราณ คันหมายเลขทะบียน ขม 99 กรุงเทพมหานคร

แม้ว่าในเวลาต่อมา นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะระบุว่า “ไม่มีชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาของรถเบนซ์โบราณ”

ขณะที่ เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลง สั่งไม่ฟ้อง “พระมหาศาสนมุนี” หรือหลวงพี่แป๊ะ พระลูกศิษย์สมเด็จช่วง ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 161 เนื่องจากคดีขาดอายุความ

แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว

เมื่อ”จู่ๆ “มีการเคลื่อนไหว” สำคัญ” ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ขอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 เกี่ยวกับการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช 3 วาระรวด โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

การแก้ไขดังกล่าว เป็นการแก้ไขในมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

โดยแก้ไขเป็น “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ”

ผลจากการแก้ไขนี้ ทำให้มติเอกฉันท์ของมหาเถรสมาคม ที่ให้เสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 สิ้นสภาพไป เพราะการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

และอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้อธิบายไว้ในตอนต้น รัฐบาลได้เสนอรายชื่อพระผู้ใหญ่ที่มีคุณสมบัติขึ้นเป็นสังฆราช 5 รูป ให้ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง”

ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

ถือเป็นการยุติปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวว่า “ขออย่าขัดแย้ง ไม่ใช่ว่ารูปอื่นดีหรือไม่ดี ซึ่งผมเคยบอกไปว่า ต้องดูเรื่องงานและเรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ที่พระองค์ท่านทรงพิจารณาเอง”

ทั้งนี้ ชื่อสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เพิ่งได้รับการสนใจจากสื่อมวลชนเมื่อราวต้นเดือนกุมภาพันธ์

โดยเมื่อวันที่ 2 สื่อมวลชนเริ่มติดตามการทำข่าวของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ที่ไปร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลอายุวัฒนมงคล 76 ปี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)

และเริ่มจับตาเป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง มหาเถรสมาคม ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดพิธีสวดพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 5 ของเดือน จำนวน 12 ครั้ง

สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2

ปรากฏว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นประธานในพิธี นำพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ พระราชาคณะพระสังฆาธิการทุกระดับ ทุกวัดในเขตกรุงเทพมหานคร รวมกว่า 500 รูป เข้าร่วมพิธี

โดยสมเด็จพระมหามุนีวงศ์กล่าวสัมโมทนียกถา ก่อนวางพานพุ่มเครื่องสักการะ และจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และนำพระสวดพระพุทธมนต์ถวายป็นพระราชกุศล เป็นเวลา 50 นาที โดยใช้บทสวด อาทิ ธัมมะนิยามะสุตตัง (100 วัน), ติลักขะณาทิคาถา, ติอุทานะคาถา, ภัทเทกะรัตตะคาถา, สะติปัฏฐานะปาโฐ, อะภิณหะปัจจะเวกขะณะปาโฐ, ภาระสุตตะคาถา, วิปัสสะนาภูมิปาโฐ, ปัฏฐานะมาติกาปาโฐ, ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง เป็นต้น

และที่สุด สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) ได้ออกแถลงการณ์ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ถือเป็น สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในรัชกาลที่ 10