ยุทธนา บุญอ้อม : “ทุกวันนี้ ลูกสอนผมมากกว่าผมสอนลูก”

บทสัมภาษณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่ิอ พ.ย.2562 ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์

ปัจจุบัน “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” มีวัยขึ้นต้นด้วยเลข 5 แล้ว อย่างไรก็ตาม คุณพ่อลูกหนึ่งผู้นี้ มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับวัยรุ่นต่างยุคมามากมาย

ในฐานะดีเจ, ผู้บริหารคลื่นวิทยุ (ทั้งสายเมนสตรีมและอินดี้), คนทำนิตยสาร, หุ้นส่วนโรงภาพยนตร์ทางเลือก, ผู้บริหารค่ายเพลง, พิธีกรรายการโทรทัศน์ และเป็นออร์แกไนเซอร์ของมิวสิก เฟสติวัล ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ส่งผลให้ “ป๋าเต็ด” เป็นผู้ใหญ่ที่ต้องพยายามทำความเข้าใจ “วัยรุ่น-คนรุ่นใหม่” อยู่ตลอดเวลา

ท่ามกลางห้วงยามที่ความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่นเริ่มปะทุกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมการเมืองร่วมสมัย

จึงน่ารับฟังทัศนะของเขาต่อประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง

ยุทธนาเปิดเผยว่า หลักการสำคัญที่เขายึดมั่นเสมอเวลาดีลกับคนรุ่นใหม่-รุ่นลูก ก็คือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

“ผมคิดอย่างเดียวและคิดตลอดเวลาเลยครับ คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ผมจะนึกย้อนไป ณ วันที่ผมวัยรุ่นอยู่ มันมีอะไรบ้างที่เวลาผู้ใหญ่พูดกับเรา แล้วทำให้เราเสียใจ ทำให้เราอึดอัด ทำให้เรารู้สึกว่าจริงเหรอ? เราต้องทำอย่างนั้นจริงๆ เหรอ? คือเวลาผู้ใหญ่ไม่มีเหตุผลกับเราน่ะ

“ไม่ได้หมายความว่าผมอึดอัดกับทุกคำสั่งของผู้ใหญ่นะ แต่ผมจะอึดอัดเวลาผู้ใหญ่บอกให้เราทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล ไม่ชี้แจง ไม่อธิบาย ว่าทำไม แต่บอกให้ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ผมจะอึดอัดมาก

“แล้วผมจะรู้สึกว่ามันเรื่องเดียวกันเลย วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยเป็นวัยแห่งการตั้งคำถาม คือมันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เขากำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยที่ท่องหนังสือไปสู่การเริ่มที่จะหาคำตอบ คือจากตอบคำถามว่าอะไร เปลี่ยนไปสู่ตอบคำถามว่าทำไม ซึ่งมันต้องการการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากกว่าเดิม แล้วความเห็นที่ใหม่ๆ นั่นแหละ ที่มันนำไปสู่วิวัฒนาการของโลกของสังคม

“ดังนั้นเมื่อผมโตขึ้นมาแล้วผมต้องเลี้ยงลูก ผมก็จะนึกแบบเดียวกัน ผมจะไม่สั่งลูกให้ทำในสิ่งที่มันไม่มีเหตุผล หรือบางเรื่้องเราคิดว่ามันมีเหตุผล แต่ถ้า (ลูก) โต้แย้งมาด้วยเหตุผลที่มันสมควร เราก็จะฟัง แล้วบางครั้งเราก็จะยอมที่จะ เออ งั้นไม่ต้องทำก็ได้ เออ เข้าใจแล้ว คือมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วย

“ดังนั้นเวลาที่ผมเห็นผู้ใหญ่พยายามจะบอกว่า หูย! เด็กเดี๋ยวนี้มันเป่าหูกันง่าย อยากให้คนนั้น นึกย้อนกลับไปตอนที่เขาวัยรุ่น เขารู้สึกยังไงบ้าง?”

“ป๋าเต็ด” ยอมรับตรงไปตรงมาว่าในโลกที่ผันแปรไป คนรุ่นเขาไม่สามารถจะถ่ายทอดองค์ความรู้เดิมๆ บางอย่าง ซึ่งหมดอายุลงแล้วให้แก่คนรุ่นหลัง ตรงกันข้าม ในหลายกรณี ลูกสาวกลับเป็นคนที่สอนเรื่องราวใหม่ๆ ให้แก่เขาด้วยซ้ำ

“คือเอาง่ายๆ ทุกวันนี้ ลูกสอนผมมากกว่าผมสอนลูก ผมรู้สึกว่าผมต้องเรียนรู้จากเขา หลายอย่าง เรื่องที่เรารู้แนะนำเขาไม่ได้แล้ว มันล้าสมัยไปหมดแล้ว เราต้องเรียนรู้จากเขา

“มันมีเรื่องที่เป็นหลักการเท่านั้นแหละ ที่เราจะสอนเขาได้ คือหลักการที่มันสำคัญๆ มันจะยังคงอยู่ต่อไป เช่น คำว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราเนี่ยเป็นหลักการที่อยู่ได้ตลอดกาล … เราอยากปฏิบัติต่อผู้อื่น แบบเดียวกับที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา อย่างที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น ซึ่งเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องเบสิก เรื่องแบบนี้ที่เราจะสอน

“แต่เราจะไม่มาสอนเรื่องที่แบบอย่าฟังเพลงแบบนี้เลย เพลงแบบนี้ไม่เพราะหรอก ต้องฟังเพลงแบบพ่อสิ เราจะเริ่มนึกย้อนกลับไป แล้ววันที่พี่ฟังอัสนี-วสันต์ พ่อพี่ฟังสุนทราภรณ์ เขาก็ย่อมบอกว่าอัสนี-วสันต์ร้องเพลงอะไรวะเนี่ย เสียงเหมือนควายถูกเชือดเลย เขาใช้คำนี้จริงๆ

“แต่เราก็จะรู้สึก โอ้โห! พ่อไม่เข้าใจเลย ไม่วัยรุ่นเลย เดี๋ยวนี้มันต้องร้องอย่างงี้ดิ แล้วทุกวันนี้ ผมจะไปบอก (ลูก) ว่าอย่าไปฟังยังโอมเลย มันร้องอะไรวะฟังไม่รู้เรื่อง พอผมจะพูดอย่างนี้ ผมก็จะนึกถึงคำที่พ่อเคยบอกผมว่าอัสนี-วสันต์ ร้องเพลงไม่ได้เรื่อง มันเรื่องเดียวกัน

“เราน่ะต้องเข้าใจซะอีกว่าทำไม (ลูก) ถึงชอบยังโอม อรรถรสของเพลงยังโอมคืออะไร เราทำความเข้าใจ แล้วเราก็จะ อ๋อ! มันอย่างนี้นี่เอง

“ดังนั้นเราน่ะต้องเรียนจากเด็กให้เยอะขึ้น อย่ามาหวังให้เด็กเรียนจากเรามากมาย เราโง่มากเลย จำไว้ หลายเรื่องเด็กฉลาดกว่าเราเยอะ ไอ้พวกที่บอกว่าเด็กมันโง่ นี่ผมโมโหแทนเด็กครับ”

เมื่อถามว่าพ่ออย่างเขาได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง? จากการเลี้ยงดูลูกในสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองอันเข้มข้นร้อนแรง “ป๋าเต็ด” ตั้งข้อสังเกตว่า

“ถึงมันจะไม่สำคัญที่สุด แต่การเมืองเป็นเรื่องสำคัญครับ มันเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา มันเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเรา มันเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่เราอยู่ เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เราต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการมีส่วนร่วมในการเมืองตามสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเข้าใจ และควรใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่ด้วย

“มันจึงเป็นเรื่องน่าดีใจที่สื่อออนไลน์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มันทำให้การมีส่วนร่วม (ทางการเมือง) ของคนรุ่นใหม่มันเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“แต่ก่อนมันมีคำว่าสภากาแฟใช่ไหมครับ เขาจะคุยการเมืองกัน เช้าๆ ผู้ใหญ่เขาต้องไปนั่งคุยกันที่ร้านกาแฟปากซอย นั่งคุยกัน วิพากษ์วิจารณ์ ในร้านกาแฟก็ไม่มีเด็กอยู่ เด็กก็นั่งดูการ์ตูนอยู่ที่บ้าน หรือไปซ้อมดนตรีกับเพื่อน แล้วนี่มันเลยทำให้มันไม่ได้คุยกัน แล้วพอกลับบ้าน พ่อก็ไม่คุยเรื่องการเมืองกับลูกอยู่แล้ว …

“แต่ทุกวันนี้ มันไม่จำเป็นเลย เพราะว่าเข้าไปเฟซบุ๊กก็เจอข่าวเดียวกัน กรุ๊ปไลน์ก็ส่งถึงกัน มันเป็นเรื่องดี มันทำให้ตอนนี้ทันกันหมดแล้ว มันยิ่งตอกย้ำว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เข้าใจว่าเด็กไม่เข้าใจเรื่องการเมือง หรือเด็กไม่สนใจการเมือง หรือที่เลวร้ายที่สุด เด็กไม่ควรมายุ่งเรื่องการเมือง ต้องเปลี่ยนความคิดแล้ว

“นี่คือโลกอีกใบหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว แล้วก็ต้องน้อมรับคำสอนของเด็กบ้างในบางครั้ง”