เกษียร เตชะพีระ | รู้จักมาร์ติน ลี : นักประชาธิปไตยอาวุโสของฮ่องกง (2)

เกษียร เตชะพีระ

รู้จักมาร์ติน ลี : นักประชาธิปไตยอาวุโสของฮ่องกง (2)

ย้อนอ่าน (ตอน1)

ก่อนคืนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงให้จีน เจ้าหน้าที่อังกฤษมักพูดกับมาร์ติน ลี ว่า :

“คุณลี คุณจะเอาประชาธิปไตยเข้ามาในฮ่องกงเพื่ออะไร? พวกคุณไม่ชนะหรอก เพราะมันมีพรรคคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็พรรคก๊กมินตั๋งอยู่แล้ว พวกเขามีอิทธิพลมากเหลือเกินในฮ่องกง”

มาร์ติน ลี : “คุณจะรู้ได้ไงว่าเราจะไม่ชนะ ถ้าคุณไม่ให้โอกาสเราเลย?”

……………

เจ้าหน้าที่อังกฤษผู้เปิดโอกาสในการสร้างประชาธิปไตยในฮ่องกงให้แก่มาร์ติน ลี กับพรรคพวกของเขาซึ่งสังกัด “สหภาพนักประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง” ได้แก่ คริส แพ็ทเทน ผู้เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงคนสุดท้ายของอังกฤษใน ค.ศ.1992

แพ็ทเทนเสนอให้ปฏิรูปการเลือกตั้งซึ่งจะเปิดโอกาสให้ชาวฮ่องกง 2.7 ล้านคนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงโดยตรง

หมากการเมืองก่อนจากของอังกฤษนี้ส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นประชาธิปไตยเสียส่วนใหญ่ และทำให้รัฐบาลจีนโมโหโกรธายิ่ง

อัลเลน ลี นักการเมืองท้องถิ่นชาวฮ่องกงจึงพยายามแก้ไขเพิ่มเติมข้อเสนอการปฏิรูปประชาธิปไตยของแพ็ทเทนในสภานิติบัญญัติ เพื่อเปิดช่องทางให้สามารถเจรจาต่อรองกับทางการปักกิ่งได้ในอนาคต

ทว่า ด้วยเสียงสนับสนุนของสหภาพนักประชาธิปไตยฯ ของมาร์ติน ลี ข้อเสนอของแพ็ทเทนก็ผ่านโหวตในสภาไปได้อย่างเฉียดฉิว ส่วนข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมของอัลเลน ลี ตกไป

อย่างไรก็ตาม หลังจีนได้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะฮ่องกงกลับคืนมา ทางการปักกิ่งก็เอาคืนโดยถอดถอนสภานิติบัญญัติจากการเลือกตั้งของฮ่องกงทิ้งหมด แล้วแทนที่มันด้วยสภานิติบัญญัติชั่วคราวที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

มาร์ติน ลี เล่าถึงฉากเปลี่ยนผ่านทางอำนาจอธิปไตยและการเมืองของฮ่องกงนี้ว่า :

“ข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของคริส แพ็ทเทน นั้นถูกเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมบางประการโดยพรรคของอัลเลน ลี และถ้าหากข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นผ่านความเห็นชอบของสภา (หมายถึงสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปการเมืองของแพ็ทเทน – ผู้แปล) พวกเราก็จะไม่เสียที่นั่งในสภาไปในกระบวนการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยคืนให้จีน ผมเฝ้าถามตัวเองเรื่อยมาว่าผมตัดสินใจผิดหรือเปล่า? ถ้าหมุนนาฬิกาย้อนกลับไปได้ ผมจะทำแตกต่างออกไปไหม?

“ผมไม่คิดว่าเราผิดตรงไหนเลย ฝ่ายตรงข้ามต่างหากที่ผิด ทั้งนี้เพราะพวกเขานั่นแหละที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีประชาธิปไตยโดยเขียนระบุเอาไว้ในกฎหมายพื้นฐาน และแน่ล่ะว่าเรามีสิทธิ์ที่จะยืนกรานว่าอะไรที่ได้สัญญาไว้ จะต้องส่งมอบให้ตามสัญญา และไม่ใช่ส่งมอบมาให้แค่ครึ่งใบ”

มาร์ติน ลี ได้เคลื่อนไหววิ่งเต้นในโลกตะวันตกอย่างแข็งขันเพื่อให้ฮ่องกงได้มีประชาธิปไตย ในปี ค.ศ.2014 เขาได้เข้าพบนักการเมืองชั้นนำของอังกฤษและสหรัฐเพื่อป่าวร้องคัดค้านการที่ปักกิ่งเข้าควบคุมฮ่องกงหนักมือขึ้นเรื่อยๆ ทางการจีนก็ตอบโต้โดยวิจารณ์ลีว่า :

“ตั้งหน้าตั้งตาบ่อนทำลายเสถียรภาพของฮ่องกง”

ต่อคำกล่าวหานี้ มาร์ติน ลี ชี้แจงว่า :

“ถ้าหากผมไม่เคยไปต่างประเทศโพ้นทะเลรวมทั้งอังกฤษเพื่อร้องขอประชาธิปไตยเลย จะมีการหยิบยื่นประชาธิปไตยให้ฮ่องกงไหม? ดูอย่างมาเก๊าสิครับ และอันที่จริง ผมพร้อมจะไปต่างประเทศอีก เมื่อไหร่ก็ตามที่จำเป็น ผมก็จะไป ทำไมผมจะไม่ควรไปล่ะ? ใครกันที่ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศขึ้นมาก่อน? ไม่ใช่ผมนะครับ จีนต่างหากที่ทำ เพราะทั้งจีนกับอังกฤษวิ่งเต้นอย่างขันแข็งแรงกล้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนแถลงการณ์ร่วม (ปี ค.ศ.1984) ของตนจากโพ้นทะเล เอาเข้าจริงมันเป็นแค่สนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลสองประเทศ แต่กระนั้นรัฐบาลอื่นๆ อีกมากหลายก็ออกมาสนับสนุนมันรวมทั้งรัฐบาลสหรัฐ แคนาดา และนานาประเทศยุโรปด้วย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นล่ะ? ก็เพราะการวิ่งเต้นของจีนกับอังกฤษนั่นแหละ มิหนำซ้ำพวกเขาซึ่งรวมกระทั่งรัฐบาลจีนก็คอยย้ำเตือนผู้คนไม่ให้ลืมว่าแถลงการณ์ร่วมนั้นขึ้นทะเบียนไว้กับสหประชาชาติเรียบร้อยแล้วด้วย ไม่ต้องห่วงหรอกนะครับ ฉะนั้นถ้าหากพวกเขาทำให้ฮ่องกงกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว ทำไมผมถึงจะบอกผู้คนในโลกว่าเอาเข้าจริงกำลังเกิดอะไรขึ้นในฮ่องกงไม่ได้ล่ะ? ถ้าผมพูดปด พวกเขาก็กล่าวแก้สิ่งที่ผมพูดซีครับ”

ระหว่างการประท้วงโดยขบวนการร่มในฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.2014 มาร์ติน ลี เป็นหนึ่งในหมู่นักกิจกรรมประชาธิปไตยผู้นั่งประท้วงอยู่เป็นกลุ่มสุดท้ายด้วยจนกระทั่งเขาและพรรคพวกถูกตำรวจจับกุมและยุติการประท้วงยาวนาน 79 วันลง

มาร์ติน ลี อธิบายจุดยืนทางการเมืองของเขาว่า :

“ผมเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน ไม่เพียงสำหรับฮ่องกง แต่ในทุกๆ ประเทศ มันเป็นสิทธิพลเมืองของประชาชน เมื่อใดก็ตามที่คุณเป็นบุคคล เป็นมนุษย์ คุณก็มีสิทธิ์นั้น ไม่มีระบบอื่นใดดีกว่านี้อีกแล้ว ดังนั้นผมจึงมั่นใจว่าไม่ช้าก็เร็วทั้งโลกจะมีประชาธิปไตย และต่อให้จีนเป็นประเทศสุดท้ายที่จะมีประชาธิปไตย ถึงไงประชาธิปไตยก็ยังจะมาถึงจีนอยู่ดี แม้ว่าผมจะไม่ได้อยู่ดูมันก็ตาม

“แน่ล่ะครับว่ามันยาก ถ้าผมบอกคุณว่ามันง่าย ผมก็บ้าไปแล้ว คนมากหลายจะบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ต่อให้มันเป็นไปไม่ได้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเรายอมแพ้ ถ้าเรายอมแพ้ นั่นก็แปลว่าเรากลับเป็นฝ่ายที่ทำให้มั่นใจได้เลยว่ามันเป็นไปไม่ได้แหงๆ แต่ถ้าเรายืนหยัดสู้ต่อไป มันก็ยังมีโอกาสอยู่เสมอแหละ”

มุขแหย่คอมมิวนิสต์ของมาร์ติน ลี ที่พรรคพวกไม่เอาด้วย

มาร์ติน ลี เป็นประธานผู้ก่อตั้งของทั้ง “สหภาพนักประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง” (ก่อตั้ง ค.ศ.1990) และ “พรรคประชาธิปไตย” (อันเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในสภานิติบัญญัติของฮ่องกงปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการหลอมรวม “สหภาพ” เข้ากับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยชื่อ “จุดนัดพบ” เป็นพรรคเดียวใน ค.ศ.1994)

ตอนก่อตั้ง “สหภาพ” มีการอภิปรายในหมู่พรรคพวกว่าจะตั้งชื่อกลุ่มว่าอย่างไรดี มาร์ติน ลี เสนอแนะอย่างฉลาดเจ้าเล่ห์แบบหยิกแกมหยอกว่าควรตั้งชื่อกลุ่มว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ฮ่องกง”!?!?

ลีอธิบายว่า “ตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องในฮ่องกง ดังนั้น เราสามารถใช้ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ฮ่องกงได้ ถ้าพวกคอมมิวนิสต์จีนโจมตีเรา มันคงสนุกดี คือมันจะกลายเป็นเรื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์ฮ่องกงนั่นปะไร!”

ทว่า พอลงคะแนนเสียงเลือกชื่อกลุ่มกัน มีเสียงเดียวเท่านั้นที่โหวตให้ตั้งชื่อว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ฮ่องกง” คือเสียงของเจ้าตัวมาร์ติน ลี คนเสนอนั่นเอง

“คะแนนเสียงของผมเองครับ พวกสมาชิกร่วมกลุ่มของผมเขาไม่เล็งการณ์ไกลขนาดนั้น” ฮาาาาาาาา