เศรษฐกิจ / เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน กรุยทางเจรจาสหรัฐคืนจีเอสพีไทย จับตาผลสรุปต้องแลกด้วยอะไร?

เศรษฐกิจ

 

เวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

กรุยทางเจรจาสหรัฐคืนจีเอสพีไทย

จับตาผลสรุปต้องแลกด้วยอะไร?

 

ปิดฉากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เป็นไปอย่างชื่นมื่น พ่วงด้วยข่าวดีเรื่องการเจรจา กรณีสหรัฐประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทยจำนวน 537 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563

ข่าวดีนั้น เมื่อช่วงพบปะระหว่างนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเปิดทางให้ไทยเจรจา เพื่อหาทางออกหรืออุทธรณ์ให้ได้รับจีเอสพีกลับคืนมา

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริการะบุว่า สหรัฐยินดีรับฟังข้อมูลและข้อเสนอจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อนำไปพิจารณาคืนสิทธิจีเอสพีให้กับสินค้าไทย

ตรงนี้น่าจะทำให้ภาครัฐและเอกชนไทยหายใจโล่งไปได้เปลาะหนึ่ง เพราะไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐสูงมากปีละประมาณ 9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกทั้งหมด เป็นอันดับ 2 รองจากจีน

 

ในปี 2561 ที่ผ่านมามีสินค้าไทย 1,485 รายการใช้สิทธิจีเอสพี จากสินค้าได้สิทธิทั้งหมด 3,500 รายการ โดยจำนวนที่จะถูกตัดสิทธิ 573 รายการคิดเป็น 40% ของสินค้าใช้สิทธิจีเอสพี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะกระทบต่อการส่งออกของไทยแค่ 0.01% ของการส่งออกในภาพรวมของไทย

เมื่อเข้าไปดูข้อมูลในชิงลึกจะพบว่าสินค้าที่จะถูกตัดจีเอสพี 573 รายการนั้นใช้สิทธิจีเอสพีเพียง 70% ส่วนอีก 30% ไม่ได้ใช้สิทธิ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีคืนมา จะทำให้สินค้าดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4-5% ทั้งนี้ สินค้าที่ส่งออกโดยใช้สิทธิจีเอสพีมีมูลค่า 40,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นเงินภาษีที่ผู้ประกอบการไทยต้องจ่ายให้สหรัฐ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นภาระของผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น

กลุ่มสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีอัตราสูงสุดคือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องครัวเซรามิกต้องเสียภาษี 26% ส่วนกลุ่มอัตราต่ำสุดคือ เคมีภัณฑ์ 0.1%

หลังไทยถูกตัดจีเอสพี เกิดความกังวลว่า สหรัฐอาจนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) มาใช้กับไทยเพิ่มขึ้น เพราะในปี 2561 ที่ผ่านมา สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยสูงประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในปีหน้าสหรัฐเข้าสู่โหมดเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ดังนั้น ประเมินว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาอาจแสดงอำนาจการค้ากับไทยเพิ่มเติมเหมือนกับที่ทำกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะจีนจนกลายเป็นสงครามการค้า

เหตุผลที่ไทยถูกตัดจีเอสพีครั้งนี้สหรัฐอ้างว่าไทยไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งต่างจากการถูกตัดจีเอสพี 11 รายการเมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐให้เหตุผลว่าสินค้าทั้ง 11 รายการ มีส่วนแบ่งตลาดและมูลค่าส่งออกเกินเกณฑ์ที่กำหนด

 

ในช่วงปีหน้านอกเหนือจากการเจรจาขอคืนสิทธิจีเอสพีแล้ว ต้องติดตามการพิจารณาสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำคัญภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ซึ่งจะมีการประกาศผลการจัดสถานะในช่วงปลายเดือนเมษายนของทุกปี

โดยก่อนหน้านี้ไทยถูกจัดให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) มานานกว่า 10 ปี จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ไทยได้ปรับสถานะให้ดี เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL)

มีความกังวลว่าสหรัฐอาจใช้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 มาเล่นงานไทยเพิ่มเติม

นอกจากนี้ มีความกังวลว่า 1 เงื่อนไขของการให้สิทธิจีเอสพี คือ ในเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ต้องมีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล ซึ่งในข้อนี้มีการมองว่ากรณีการแบน 3 สารเคมีของไทยปิดกั้นตลาดและสินค้าจากสหรัฐหรือไม่ เพราะในสหรัฐยังมีการใช้หนึ่งในสารเคมี คือ ไกลโฟเซต

หลังไทยมีมติแบน 3 สารเคมีไม่กี่วัน สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง แสดงความกังวลว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าสหรัฐมาไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิล และองุ่น มูลค่ารวม 51,000 ล้านบาท เพราะตามกฎองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หากประเทศคู่ค้าแบนสารเคมีที่สหรัฐใช้อยู่จะทำให้สหรัฐไม่สามารถขายสินค้าไปยังประเทศดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงกรณีที่ไทยห้ามไม่ให้นำเข้าหมูจากสหรัฐ เพราะพบสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมีการมองว่าสหรัฐอาจยกเรื่องนี้มาเจรจาบีบให้ไทยนำเข้าหมูจากสหรัฐ แลกกับการคืนสิทธิจีเอสพี

 

ในการทำงานของไทยต้องทำแบบคู่ขนานคือต้องเร่งเจรจากับสหรัฐเพื่อขอคืนสิทธิจีเอสพี รวมถึงต้องหาแนวทางรองรับผลกระทบหากสหรัฐไม่คืนสิทธิให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้หาตลาดใหม่ เช่น จีน ให้เจาะเป็นรายมณฑล

ส่วนกรมการค้าต่างประเทศเสนอแผนเร่งด่วน เพื่อบุกตลาดและกระตุ้นความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมาย อาทิ อินเดีย บาห์เรน กาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตุรกี รัสเซีย กลุ่มซีแอลเอ็มวี ศรีลังกา บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ มีข้อเสนอจากเอกชนและนักวิชาการให้ฟื้นกระแสนิยมไทย เพื่อลดการส่งออกและลดการพึ่งพาท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะนี้มีสัดส่วนถึง 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

 

นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องลดการพึ่งพาสิทธิจีเอสพี เพราะสหรัฐสามารถตัดจีเอสพีได้ทุกเมื่อ และสามารถใช้เหตุผลทั้งเรื่องแรงงาน สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ก่อการร้าย เรื่องหมู เรื่องการแบน 3 สารเคมี มาเป็นข้ออ้างได้ทั้งหมด โดยอยากเห็นนโยบายไทยแลนด์เฟิร์สต์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เหมือนในสหรัฐประกาศนโยบายยูเอสเอเฟิร์สต์ ส่วนจีนใช้นโยบายเมดอินไชน่า 2015

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ปัญหาค่าเงินบาท ดังนั้น เรื่องจีเอสพีจึงส่งผลด้านจิตวิทยาทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก หลังจากนี้คงขึ้นอยู่กับการเจรจา เพราะสิ่งที่สหรัฐเรียกร้องให้ไทยตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ในสหรัฐเองก็ยังไม่สามารถตั้งได้ ดังนั้น สหรัฐไม่ควรจะมาเรียกร้องให้ไทยตั้งขึ้นมา

หลังจากนี้การกีดกันทางการค้าโดยใช้เอ็นทีบีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เอกชนอยากเรียกร้องคือ อยากให้รณรงค์การใช้สินค้าไทย (เมดอินไทยแลนด์) ซึ่งอยากให้รัฐบาลกำหนดไปเลยว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า ลดการพึ่งพาตลาดประเทศเหลือเพียง 50% โดยอีก 50% เป็นตลาดในประเทศแทน

เรื่องจีเอสพีน่าจะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลและนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าจะเดินไปในทางไหน

จะหันไปซบอกสหรัฐเหมือนเดิม หรือจะพยายามยืนหยัดด้วยขาของตัวเอง ด้วยนโยบายนิยมไทย ตามข้อเสนอเอกชน

            และท้ายสุดก็เหมือนครั้งหนึ่งไทยถูกอียูตัดสิทธิจีเอสพี