ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ในประเทศ CYBER WARFARE
กําลังได้รับความสนใจและตีความอย่างกว้างขวาง
ที่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก “Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
ระบุว่า “อยู่ ไม่ เป็น 16 พ.ย.62”
จากนั้นทางเฟซบุ๊ก “พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party” ก็ได้นำข้อความดังกล่าวไปแชร์ต่อ
พร้อมกับระบุว่า 16 พฤศจิกายน รอฟังรายละเอียดเพิ่มเติมในเร็ววันนี้
จากนั้นลูกพรรคและแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่ ร่วมมือกันติดแฮชแท็ก “#อยู่ไม่เป็น”
จนทำให้แฮชแท็กดังกล่าวได้ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์
พร้อมกับมีการผูกโยงเรื่องนี้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันที่ 20 พฤศจิกายน
ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ของนายธนาธร จากกรณีการถือหุ้นในบริษัทวี-ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นกิจการสื่อสารมวลชนที่ต้องห้ามไม่ให้ ส.ส.มีหุ้นในกิจการดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่
และหากเกี่ยวข้อง คำว่า อยู่ ไม่ เป็น
จะสื่อถึงอะไร
แน่นอน ต้องย้อนไปยังที่มาของวลีที่ว่า
ซึ่งน่าจะมาจากคติธรรมเตือนใจ
“อยู่ให้เป็น
เย็นให้พอ
รอให้ได้”
ซึ่งเป้าหมายจริงๆ คือ การเรียกร้องให้มีสติ อดทน เฝ้ารอ ไม่รุ่มร้อนกับสิ่งเร้าเกินไป
แต่เมื่อพรรคอนาคตใหม่นำมาแปลงเป็น “อยู่ ไม่ เป็น” ย่อมต้องการสื่อในทางตรงข้าม
นั่นคือ ไม่อาจทนอยู่กับสิ่งที่เป็นได้อีกแล้ว
น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ทวีตข้อความในทวิตเตอร์ว่า “#อนาคตใหม่ ไม่ถนัดเอาตัวรอด ไม่เชี่ยวชาญหมากล้อมเก็บแต้มการเมือง เรารู้แต่ว่าเราสร้างพรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้คนไทยเท่าเทียมกัน พาประเทศไทยเท่าทันโลก ยุติรัฐประหารซ้ำซาก ถ้าไม่ทำทั้งหมดนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีอนาคตใหม่ #อยู่ไม่เป็น 16 พ.ย.นี้เจอกันค่ะ”
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“เกิดคำถามขึ้นมากมายเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ โดนโจมตี โดนกลั่นแกล้งมาโดยตลอด… ถามใจคุณดูว่าจริงมั้ย?
พรรคอนาคตใหม่ยังไม่เคยทำอะไรผิดเพราะไม่เคยเป็นรัฐบาล แต่สังคมส่วนมากก็ตั้งคำถาม โดยเชื่อไปในทิศทางว่า ‘โดนยุบแน่’ … ลองถามใจคุณดูครับ ว่าสังคมนี้ยุติธรรมหรือมีอำนาจมืดซ่อนอยู่? พวกเราพรรคอนาคตใหม่แค่อยากมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เราเชื่อว่าดีกับสังคมโดยรวม แน่นอนครับ เราไม่ได้ถือปืนมาสั่งให้คุณเชื่อตามเรา แต่เราเล่นตามกติกาประชาธิปไตย เราแค่อยากให้ประชาชนมีความหวัง มีที่พึ่ง มีทางเลือก หรือว่าที่พวกเรากำลังโดนกระหน่ำอยู่ เพียงเพราะว่าพวกเรา ‘อยู่ไม่เป็น’ ครับ? รอพบกับพวกเราพรรคอนาคตใหม่ 16 พฤศจิกายนนี้ แล้วท่านจะทราบว่าทำไมพวกเราจึงไม่ยอมอยู่เป็น”
คําอธิบายเหล่านี้ สอดคล้องกับคำพูดของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านั้น
“สถานการณ์ในปัจจุบัน ผมอยากเรียนให้ทราบว่าคดีต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่โดนฟ้องรวมๆ 20 กว่าเรื่องในขณะนี้ ทุกคนคงวิเคราะห์กันได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเลย แต่กลับมีความคิดความเชื่อเต็มไปหมดว่าจะถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ จำคุก ฯลฯ”
“ทำให้ผมต้องขอถามกลับไปตรงๆ ว่า ทุกคนรู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริงๆ หรือ หรือว่าเพียงเพราะมีแนวทางที่ผู้มีอำนาจไม่สบายใจจึงต้องโดนกระทำเช่นนี้”
“อย่างในกรณีหุ้นสื่อที่นายธนาธรโดนอยู่ในตอนนี้ ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมิต้องการให้ ส.ส.หรือรัฐมนตรีมีอิทธิพลในการครอบงำสื่อ นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่ากิจการที่ถือหุ้นนั้นเป็นสื่อหรือไม่ และการถือหุ้นนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถึงขั้นมีอิทธิพลครอบงำสื่อ”
“เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี ส.ส.คนหนึ่ง ไม่ได้ถือหุ้นสื่อเลย แต่มีคู่สมรสถือหุ้นสื่อ เป็นเจ้าของสื่อโดยตรง มีอิทธิพลครอบงำสื่อ นำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ ส.ส.คนนี้กลับไม่โดนอะไรเลย ตกลงแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้ต้องการจัดการนักการเมืองที่ครอบงำสื่อจริงๆ หรือกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งกันแน่”
พิจารณาตามคำพูดนี้ และนำไปสู่วลี “อยู่ ไม่ เป็น”
ก็น่าชัดเจนว่า เป็นกระบวนการตอบโต้ การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกกระทำ
และพรรคจะไม่ยอม และอยู่ไม่เป็นอีกแล้ว
และยิ่งย้อนกลับไปอ่านสารของนายธนาธรที่เผยแพร่เมื่อ 31 ตุลาคม ถึงสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค
โดยนายธนาธรระบุว่า เป็น “เพื่อนร่วมการเดินทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม”
ความตอนหนึ่งระบุว่า
“เราต่างทราบกันดีว่า ยิ่งถากถางเส้นทางไปข้างหน้าไกลมากเท่าใด ขวากหนามและบาดแผลก็ยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น
ในแง่หนึ่ง รอยแผลจึงเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันว่า
สองมือเราได้เริ่มลงมือทำ สองเท้าเรายังก้าวเดินไปไม่หยุดย่ำอยู่กับที่…”
“…จากมือไม่กี่มือที่เริ่มสร้างพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา
จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงความฝันและรอบข้างที่ว่างเปล่า
มาถึง ณ เวลานี้ ความว่างเปล่านั้นถูกเติมเต็มด้วยเพื่อนร่วมทางกว่า 6,300,000 คน
อนาคตใหม่จึงไม่ใช่เพียงชื่อพรรคการเมือง แต่หมายถึงผู้คนซึ่งกำลังเดินทางไกลร่วมกัน”
“1 ปีที่พวกเราเดินร่วมกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อยนั้น
ยังไกลไม่พอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เจริญงอกงามอย่างที่เราได้วาดฝันกันเอาไว้
จากนี้ต่อไปขอจงจับมือ กอดไหล่ แล้วเอาหัวใจผูกร่วมกันไว้ให้แน่น
เป้าหมายยังอีกยาวไกล ขวากหนามยังมีอีกมาก
ทว่ายังมีหนทางอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่หัวใจไม่ยอมแพ้
พรรคอนาคตใหม่คือการเดินทาง”
แม้เป้าหมายของสารนี้จะมุ่งไปที่การปลุกปลอบหลังจากเกิดความแตกแยกในพรรคจนมีสมาชิกบางส่วนลาออกไป
แต่ก็มีการปลุกเร้าที่จะเดินหน้าต่อไป สำหรับ “ผู้ที่หัวใจไม่ยอมแพ้”
และนำมาสู่แคมเปญ “อยู่ ไม่ เป็น” ในที่สุด
ซึ่งก็น่าสนใจ “อยู่ ไม่ เป็น” จะแปรไปสู่อะไร
โดยเฉพาะหากพรรคอนาคตใหม่เผชิญชะตากรรมในด้านลบ นับตั้งแต่คดีธนาธรถือหุ้น บ.วี-ลัคมีเดีย มีการร้องต่อ กกต. และ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลนัดตัดสินคดีวันที่ 20 พฤศจิกายน
และยังมีคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัว “ธนาธร-ปิยบุตร” และพรรค เกือบ 20 คดี
ทั้งคดีร้องให้ยุบพรรค คดีนายธนาธรถือหุ้นสื่อ คดีผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คดีผิด ม.116 คดีดูหมิ่นศาล คดีบริจาคเงินให้พรรค คดีหมิ่นสถาบัน คดีนายธนาธรให้พรรคกู้เงิน
ที่น่าสนใจ อาทิ
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช.แจ้งดำเนินคดีนายธนาธร 3 ข้อหา คือ ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ความผิดฐานให้ความช่วยเหลือพาผู้ต้องหาหลบหนี ตามมาตรา 189 และความผิดฐานมั่วสุมชุมนุมเกิน 5 คน ตามมาตรา 215
เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2562 นายมหัศจักร โสดี ตัวแทนกลุ่มคนไทยหัวใจตรงกันที่รักและเคารพในสถาบัน และผู้ประสานงานลูกศิษย์วัดอ้อน้อย ศิษย์อดีตพระพุทธะอิสระร้องให้ตรวจสอบพฤติกรรมการพูด การแสดงออกของนายปิยบุตร เนื่องจากเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง
นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ร้องเมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2562 ขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากการกระทำของนายธนาธรและนายปิยบุตร มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะมีการใช้วาทกรรมว่าจะสานต่อภารกิจของคณะราษฎร 2475 ให้สำเร็จลุล่วง โดยไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนว่าการสานต่อภารกิจนั้น รวมถึงการยังคงซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หรือไม่
นายสุรวัชร สังขฤกษ์ ประธานกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ร้องเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2562 เนื่องจากเห็นว่านายธนาธรมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เข้าข่ายล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
นายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องนายธนาธรให้พรรคกู้เงิน 191 ล้านบาท
เป็นต้น
คดีข้างต้นเหล่านี้ หลายคดีมีเป้าหมายที่จะยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองนายธนาธรและผู้บริหารพรรค
ซึ่งหากยึดหลัก “อยู่ให้เป็น” ก็คงหมายถึงการหาทางประนีประนอมกับฝ่ายกุมอำนาจ เพื่อจะขอความเมตตาให้มี “ชีวิตการเมือง” ต่อไปนั้น
แกนนำอนาคตใหม่คงประเมินแล้วว่า ไม่น่าจะได้ผลเพราะชะตากรรมดูจะหนักและถูกกระทำมากขึ้นเรื่อยๆ
การลุกขึ้นสู้ และชูแคมเปญ “อยู่ไม่เป็น” อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
จึงถูกเลือก
ส่วนจะสู้อย่างไร คงต้องรอดูในวันที่ 16 พฤศจิกายน
หนึ่งในการสู้ ก็คือการเคลื่อนไหวนอกสภา หรือก้าวสู่ท้องถนน
แม้จะมีพลังแต่ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าสร้างความวุ่นวายให้ประเทศเหมือนดังฮ่องกง และอาจถูกโยนบาปว่าเป็นพวกหัวรุนแรง
คงจะต้องเจอแรงเสียดทานสูงแน่
ที่สำคัญ แนวร่วมคือประชาชนทั่วไป จะเอาด้วยหรือไม่
หากลงสู่ท้องถนนโดยปราศจากมวลชนหรือเงื่อนไขที่สุกงอมเพียงพอ โอกาสที่จะพ่ายแพ้ทางการเมืองมีสูงมาก
พรรคจะเสี่ยงหรือไม่ นี่คือคำถาม
การต่อสู้อีกแนวทางหนึ่งก็คือ การทำสงครามมวลชนผ่านไซเบอร์ หรือไซเบอร์ วอร์แฟร์ อย่างที่ปูทางให้เห็น จากการเปิดตัวแคมเปญ “อยู่ ไม่ เป็น”
ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
เพราะพรรคอนาคตใหม่ก็ถนัดแนวทางนี้
ซึ่งหากสามารถปลุกกระแสผ่านไซเบอร์อย่างมีน้ำหนัก จะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่น่าสนใจ
จะทำอย่างไร ทำจริงหรือไม่ คงต้องติดตาม
แต่นาทีนี้ดูเหมือนก็ชี้ชัดว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่งอมืองอเท้า “ถูกกระทำอีกแล้ว”
หากแต่จะสู้
ไม่ยอมประนีประนอมอีกต่อไป
ดูซิว่าพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่จะประสบชะตากรรมเช่นไร
จะมีฤทธิ์เดช ทำให้ฝ่ายมีอำนาจไม่อาจจัดการได้อย่างในอดีต
หรือจะประสบความระส่ำระสาย และถูกไล่เบี้ยหนักยิ่งขึ้น
หลัง 16 พฤศจิกายน คงเห็นอะไรชัดขึ้น