หน้า 8 : บริหาร “ความเชื่อ”

“อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าววาทะเด็ดเรื่อง “การเมือง” ไว้นานแล้ว

“การเมืองนั้น ความเชื่อ คือ ความจริง”

ถ้านักการเมืองคนไหนภาพลักษณ์ดี พูดจาไพเราะ ทำให้คน “เชื่อ” ว่าเป็น “คนดี”

เขาจะเป็น “คนดี”

ทำอะไรก็ไม่ผิด

ในขณะที่นักการเมืองคนไหนภาพลักษณ์แย่ หรือฝ่ายตรงข้ามสามารถโจมตีให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเขาเป็นคนขี้โกง

คนนั้นจะเป็นคนไม่ดีทันที

ทำอะไรก็ผิด

การบริหาร “ความเชื่อ” จึงเป็นกลยุทธ์การบริหารที่คนในแวดวงการเมืองต้องเรียนรู้

ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง

หรือมาจากการรัฐประหารก็ตาม

ตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศ
เรื่องหนึ่งที่เขาพยายามทำให้ประชาชน “เชื่อ” คือ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวดีขึ้น

พูดทุกวันมาหลายปี

โอม…ดีขึ้น…ดีขึ้น…

…เพี้ยง

แต่คนก็ยังไม่เชื่อ

เพราะหลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดการณ์

บอกว่าจะเซ็นสัญญารถไฟฟ้าความเร็วสูงภายใน “ปีนี้” มาหลายปี

จนถึง “ปีนี้” ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

พยายามให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนมากมาย แต่ก็ไม่มีใครยอมลงทุนเพราะกำลังการผลิตยังเหลืออีกเยอะ

จนปลัดกระทรวงการคลังต้องออกมาบ่นน้อยใจ

เมื่อประชาชนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

นั่นคือ “ความจริง” ทางการเมือง

 

เช่นเดียวกับข่าวเรื่องรัฐบาล “ถังแตก”

หลังจากมีนักวิชาการออกมาชี้ประเด็นเรื่อง “เงินคงคลัง” ของรัฐบาลเหลือเพียงแค่ 7 หมื่นกว่าล้านบาท

ต่ำที่สุดในรอบหลายปี

แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องการบริหาร “เงินคงคลัง” ไม่ให้เหลือมากเกินไป

ถ้าจะให้มากกว่านี้ก็ได้ ก็แค่กู้เงินมาเติมเท่านั้นเอง

แต่ที่ไม่ทำเพราะต้องการประหยัด “ดอกเบี้ย”

ฟังดูก็มีเหตุผล

แต่เนื่องจากเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจแบบนี้ค่อนข้างซับซ้อน

ต่างฝ่ายต่างใช้ข้อมูลตัวเลขมาสนับสนุนความคิดของตนเอง

ฝ่ายหนึ่งบอกว่ารัฐบาล “ถังแตก”
รัฐบาลก็บอกว่าไม่ได้ “ถังแตก”

แต่เป็นการบริหาร “พื้นที่” ใน “ถังเงิน” ให้เหมาะสม

ประมาณว่า “ความว่าง” คือ “ความงาม” ชนิดหนึ่ง

เมื่อข้อมูลซับซ้อนยากเกินกว่าที่ชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจ

ชาวบ้านก็จะใช้ “ความเชื่อ” ของเขาตัดสิน

ชาวบ้าน “เชื่อ” ว่าอย่างไร

นั่นคือ “ความจริง” ทางการเมือง