รายงานพิเศษ / คสช. Gen.2 ‘บิ๊กแดง’ นำทีม ผบ.เหล่าทัพ ยูนิตี้ จับตา ‘กองพลบิ๊กแดง’ จัดทัพรับศึกสภา

รายงานพิเศษ

 

คสช. Gen.2

‘บิ๊กแดง’ นำทีม

ผบ.เหล่าทัพ ยูนิตี้

จับตา ‘กองพลบิ๊กแดง’

จัดทัพรับศึกสภา

 

แม้จะไม่ใช่ยุค คสช. แม้ คสช.จะสิ้นสลายไปพร้อมๆ กับการมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

แต่ในความเป็นจริง คสช.ไม่ได้หายไปไหนเลย

เพราะในรัฐบาลนี้มีทั้ง 3 ป.พี่น้อง คีย์แมน ที่เป็นสัญลักษณ์ของ คสช.

นำโดย บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

บิ๊กป้อม พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ถูกเรียกว่าสามเสาหลักของ คสช.

จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กองทัพตกเป็นเป้าทางการเมือง

รวมทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ควบ รมว.กลาโหมเองด้วย

 

ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์เอ่ยปากเตือนปลัดกลาโหม ผบ.สูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ ในที่ประชุมสภากลาโหม ให้พร้อมรับศึกการถูกโจมตีนอกสภา และถูกอภิปราย และถูกถามในสภา จากการที่คณะกรรมาธิการคณะต่างๆ เชิญมาให้ข้อมูล

เช่นเดียวกับที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็บุกไปชี้แจงต่อ กมธ.ความมั่นคง ที่สภา และปลัดกลาโหมนำทีมเสนาธิการเหล่าทัพไปชี้แจง กมธ.ทหาร แม้จะไม่พูดอะไรมาก เพราะอ้างความมั่นคง และจะชี้แจงกับ กมธ.งบประมาณอยู่แล้ว

ด้วยเพราะกองทัพและรัฐบาลถูกมองเป็นพวกเดียวกัน และเป็น คสช.แปลงร่าง มาในรูปของรัฐบาลเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญและกลเกมที่ คสช.ได้วางเอาไว้ล่วงหน้า

แถมทั้ง ผบ.เหล่าทัพ ก็ล้วนเคยเป็น คสช.มาแล้วทั้งนั้น ยกเว้นบิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ.คนใหม่ ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา หลังจากที่ คสช.สลายตัวตาม กม. เมื่อรัฐบาลเข้าถวายสัตย์ 16 กรกฎาคม 2562

โดยเฉพาะยังมีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ.ต่อเป็นปีที่ 2 หลังจากที่ปีแรกได้เป็น ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. รวมทั้ง ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) อีกด้วย

ที่สำคัญ ตลอดเวลาของการเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ก็ทำหน้าที่พิทักษ์ดูแล พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด

โดยเฉพาะการออกโรงฉะกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่อต้านทหารมาตลอด

จนถึงครั้งล่าสุด ที่ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเรา ในมุมมองความมั่นคง” ที่ประกาศศึกกับพวกซ้ายจัดดัดจริต และพวกคอมมิวนิสต์เดิม หัวฝังชิพ และนักธุรกิจฮ่องเต้ซินโดรม

ยิ่งทำให้กองทัพและรัฐบาลแสดงออกถึงความเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น

จนถูกมองว่าจะเป็นทายาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ในอนาคต เป็นผู้นำ คสช.ในเจเนอเรชั่นที่ 2

แต่ไม่ได้หมายถึงการนำปฏิวัติรัฐประหารแบบบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บิดา

แต่หมายถึงการนำทัพ คสช. พร้อมแนวร่วมและองคาพยพในการต่อสู้ สกัดกั้นขั้วอำนาจเก่า ไม่ให้กลับมายึดอำนาจรัฐได้อีก

พร้อมๆ กันนั้น ผบ.เหล่าทัพในยุคนี้ ยังแสดงออกถึงการเป็นกองทัพที่อยู่เคียงข้าง สนับสนุนนัฐบาล

ไม่ใช่แค่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และ รมว.กลาโหมเท่านั้น แต่ยังเป็น “พี่ตู่” ของน้องๆ ทุกคนด้วย

การนัดพบปะ ประชุมกันของผู้บัญชาการทหาร (ผบท.) เมื่อสัปดาห์ก่อน จึงถือว่ามีนัยสำคัญ

เพราะเป็นการประชุมคณะผู้บัญชาการทหารครั้งแรก ที่เป็นชุดใหม่ มีสมาชิกเพิ่มมา 2 คน คือ พล.อ.อ.มานัต ผบ.ทอ. และบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร

และเป็นการประชุมครั้งแรกที่กระทรวงกลาโหม ด้วยเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ รมว.กลาโหม นัดประชุมสภากลาโหมในเวลาไล่เลี่ยกัน

ทั้งๆ ที่ปกติแล้วการประชุม ผบท. ก่อนประชุม ผบ.เหล่าทัพนั้นจะไม่เคยประชุมที่กลาโหม เพราะกลาโหมไม่ได้อยู่ใน ผบ.เหล่าทัพ และ ผบท.

แต่ด้วยเพราะบิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ได้แต่งตั้งบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม เป็นที่ปรึกษาของคณะผู้บัญชาการทหารด้วย

เนื่องจาก พล.อ.ณัฐเป็นเตรียมทหารรุ่น 20 เพื่อนร่วมรุ่นของผู้บัญชาการเหล่าทัพหลายคน

และเพื่อแสดงถึงความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกันของผู้บัญชาการเหล่าทัพในยุคนี้

 

การประชุม ผบ.เหล่าทัพที่มีทุก 2 เดือนนั้น จะมีการประชุมคณะผู้บัญชาการทหาร ที่มีทั้ง 5 เสือก่อนเสมอ เป็นการปิดห้องคุยกันในหมู่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ

โดยมีการเผยแพร่ภาพการประชุมและพบปะกันแค่ 7 คนของผู้บัญชาการเหล่าทัพ

คณะผู้บัญชาการทหาร (ผบท.) ในยุคนี้มี พล.อ.พรพิพัฒน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน

โดยในวันที่ 30 กันยายน 2563 คณะนี้จะเกษียณราชการทั้งหมด รวมทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.มานัต ผบ.ทอ. รวมทั้งบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

คงเหลือแค่ พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม เป็นหลัก เพราะเกษียณกันยายน 2564

และ พล.อ.เฉลิมพล ว่าที่ ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2566 ที่จะเป็นหลักให้กองทัพ รวมทั้งรัฐบาล

และมีการวางตัวบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ยาวถึงปี 2566 เพื่อประคองรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่รอดปลอดภัย

ในส่วนของ ผบ.ทร.นั้น คาดกันว่า บิ๊กช่อ พล.ร.อ.ช่อฉัตร กระเทศ รอง ผบ.ทร. มาแรงแซงโค้ง จ่อขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนต่อไป เพราะร่ำลือกันว่ามีสถานะพิเศษ จึงทำให้มีพลังพิเศษแซงหน้าแคนดิเดตคนอื่นๆ

แม้ว่าเดิม พล.ร.อ.ลือชัยจะหมายมั่นปั้นมือบิ๊กแก๋ง พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ

ส่วน ผบ.ทอ.คนใหม่ ก็คาดกันว่าจะเป็นบิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธรินทร์ ปุณศรี ผช.ผบ.ทอ.

บทบาทของ พล.อ.ณัฐ และ พล.อ.เฉลิมพล หลัง ผบ.เหล่าทัพเกษียณหมดจะสำคัญ เพราะจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลบิ๊กตู่ ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้กลับมาอีกสมัย

พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์

ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ เมื่อเกษียณราชการ 30 กันยายน 2563 ก็ถูกจับตามองว่า จะมีตำแหน่งใดรองรับสู่การเป็นบุคคลพิเศษ สถานะพิเศษ

ยังคงไม่สามารถลงสู่สนามการเมืองได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญจะต้อง 2 ปีหลังลาออกจาก ส.ว.

แต่ที่แน่ๆ ในระหว่างที่เป็น ผบ.ทบ. นั้น พล.อ.อภิรัชต์ก็ได้จัดทัพแบบมองอนาคต

โดยเฉพาะการสร้างกองพลทหารราบที่ 11 (พล.ร.11) ให้มั่นคง แข็งแรง และภารกิจแทน พล.1 รอ. ที่โอนย้ายไปเป็นหน่วยในพระองค์

มีการวางตัวนายทหารที่มาเติบโตใน พล.ร.11 ที่ พล.อ.อภิรัชต์เลือกเอง ที่มีสเป๊กว่าต้องเป็นนายทหารรุ่นใหม่ได้ ภาษาอังกฤษ มีวิสัยทัศน์

เพราะหน่วยนี้ได้ถูกเรียกว่าเป็น “กองพลสไตรเกอร์” เพราะ พล.อ.อภิรัชต์นำรถเกราะที่ซื้อจากกองทัพบกสหรัฐอเมริกามาประจำที่กรมทหารราบที่ 112 จัดตั้งให้เป็นกรมสไตรเกอร์ ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ เคยเป็น ผบ. พล.ร.11 (พล.ร.11) ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า ฉะเชิงเทรา

พ.ท.อัครพัฒน์ เทพณรงค์

โดยที่ พล.อ.อภิรัชต์รู้สถานะและบทบาทของ พล.ร.11 ซึ่งต้องถือว่า พล.ร.11 กำลังจะเป็นหน่วยรบหลักแล้ว จากเดิมที่เป็นกองพลสนับสนุนการรบ และกลายเป็นกองพลรบหลัก แทน พล.1 รอ

โดยมีบิ๊กปู พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เป็น ผบ.พล.ร.11

พล.ร.11 กลายเป็นกองพล Stryker หลัง พล.อ.อภิรัชต์จัดซื้อรถเกราะ Stryker จากสหรัฐอเมริกา และเป็นกองพลที่มาทำหน้าที่แทน พล.1 รอ. และเป็น “กองพลยุทธศาสตร์”

โดยในโผ 287 ผู้บังคับการกรม หรือพันเอกพิเศษ ก่อนหน้านี้ พล.อ.อภิรัชต์ได้จัดแถวทหารเพิ่มเติม

โดยมีผู้การกัง พ.อ.ณัฐฏพล อัศวินวงศ์ เป็น ผบ.ร.112 มือขวาบิ๊กแดง

นอกจากนั้น ในโผ 379 ผู้พัน พล.อ.อภิรัชต์ ยังดึงนายทหารที่เคยร่วมกันมาหลายคน ให้มาทำงาน

โดยเฉพาะนายทหารที่ขุมกำลังในกองทัพภาคที่ 1 ใหม่ ทั้งกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) กองพลทหารราบที่ 9 และกองพลทหารราบที่ 11 หรือกองพลรถเกราะสไตรเกอร์

พ.อ.สราวุธ ไชยสิทธิ์

“ผู้การด้วง” พ.อ.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ เสธ.พล.1 รอ. เป็น ผบ.ร.31 รอ. คุมหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว RDF ของ ทบ. “เสธ.ย้ง” พ.อ.คฑาวุธ ชัยย้ง รอง ผบ.ร.31 รอ. เป็น เสธ.พล.1 รอ.

ในส่วน พล.ร.11 กองพล Stryker นั้น มีผู้การกอล์ฟ พ.อ.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผบ.ร.29 ขยันขึ้นเป็นรอง ผบ.พล.ร.11

ผู้การอ้อ พ.อ.จักรพันธุ์ พันธุ์มงคล ผบ.ร. 111 เป็นรอง ผบ.พล.ร.11

พ.อ.เอกนันต์ เหมะบุตร เป็น ผบ.ร.111 เสธ.ช้าง พ.อ.วรรธ อุบลเดชประชารักษ์ รอง ผบ.ร.112 เป็นเสธ.พล.ร.11

พ.อ.ณัฐฏพล อัศวินวงศ์

ที่น่าจับตามองคือ มีการจัดทัพภาคที่ 1 ใหม่ ที่เป็นขุมกำลังรบหลัก และ พล.ร.11 กองพล Stryker ที่ ทบ.ปรับให้มาเป็นกำลังรบแทน พล.1 รอ. และเป็นกองพลยุทธศาสตร์ของ ทบ.ในการปรับโครงสร้างหน่วย

และวางตัว ผบ.หน่วยเอาไว้ ทั้งผู้พันโอม พ.ท.อัครพัฒน์ เทพณรงค์ ผบ.ร.29 พัน 1 อดีต ทส.พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำหน่วยไปฝึกระดับกองร้อยกับ ทบ.สหรัฐครั้งแรก Lightning Forge ที่ Hawaii และฝึกทดสอบที่ Louisiana มาแล้ว ให้ขยับข้ามจาก พล.ร.9 กาญจนบุรี มาเป็นเสธ.ร.112 พล.ร.11 กรมรถเกราะ Stryker

พ.ท.ป้องรัฐ แย้มงามเรียบ เป็น ผบ.ร.112 พัน. 1 พ.ท.ณัฐพงศ์ มั่งอะนะ เป็น ผบ.ร.112 พัน 2 พ.ท.ปฐมพล วงพิเดช เป็น ผบ.ร.112 พัน 3

เพื่อเตรียมรับมือกับการฝึกศึกษากับสหรัฐในอนาคต เพื่อให้เป็นกองพลยุทธศาสตร์ที่ทันสมัย และคล่องตัว ตามไอเดียนายกฯ ที่ต้องการให้เป็น Stryker Brigade Combat Team

จนตอนนี้ ทำให้ พล.ร.11 มีทั้งฉายาว่า กองพลแปดริ้ว กองพลสไตรเกอร์ และกองพลบิ๊กแดง ไปแล้ว

และทำให้ทหารกองพลแปดริ้วนี้ถูกจับตามองว่าจะเป็นกำลังสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤตในอนาคต

   เรียกได้ว่าเป็นการมองการณ์ไกลของบิ๊กแดง เพื่อรองรับอนาคตเลยทีเดียว