ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 พฤศจิกายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
ผู้เขียน | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org |
เผยแพร่ |
สะเดาทางเลือกใหม่ของเกษตรกรรมและสุขภาพไทยที่ยั่งยืน
หลังจากผ่านวันเวลาอันแสนยาวนานที่เครือข่ายภาคประชาชนต่อสู้กันมาถึง 7 ปี ในที่สุดก็บรรลุถึงวันเผด็จศึก 22 ตุลาคม 2562 เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติปรับอัพเกรดสารพิษเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายประเภท 3 เป็นวัตถุอันตราย ประเภท 4
นั่นหมายความว่า สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิด ต้องห้ามผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และห้ามมีไว้ในครอบครอง
นับตั้งแต่วันดีเดย์ที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป
คำถามที่ได้ยินหนาหูในเวลานี้ก็คือ เราจะใช้อะไรมาแทนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ถูกแบนไปแล้ว
ความจริงเกษตรกรไทยและนักวิชาการไทยมีคำตอบในเรื่องนี้มานานแล้ว
มูลนิธิสุขภาพไทยเองเคยดำเนินโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองและทำหนังสือข่าวสารสมุนไพร รวบรวมความรู้การใช้สมุนไพรของชาวบ้านมาเป็นเวลากว่า 10 ปี
ในกรณีของการใช้สะเดากำจัดแมลง พบว่ามีคนรักหมาใช้สะเดากำจัดหมัดหมา
โดยเอาสะเดาทั้งใบและก้านหนัก 1 กิโลกรัม ต้มน้ำอาบกำจัดหมัดหมาแก้คันได้ผลดีไม่แพ้แชมพูสุนัขราคาแพง มีผู้ใช้ใบสะเดาตากแห้งใส่ผ้าโปร่งวางในหีบเสื้อผ้า และชั้นหนังสือป้องกันแมลงสาบ มด มอด รบกวนได้แรมปีไม่แพ้ดีดีที และเป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ทำฟาร์มไก่ขนาดเล็กสมัยก่อนว่า ใบสะเดาแห้งใช้สุมไฟรมควันกำจัดตัวไรไก่ในเล้าได้
โดยทำสม่ำเสมอ 2 สัปดาห์ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที
นอกจากกำจัดไรไก่สิ้นซากแล้ว การรมควันสะเดายังช่วยให้เล้าไก่สะอาดปราศจากเชื้อโรค รับรองว่า ไก่ห่างไกลจากโรคห่าขี้ขาว รวมทั้งโรคจับเหงาทุกชนิดเป็นปลิดทิ้ง
นี่เป็นแค่ฉายหนังตัวอย่างภูมิปัญญาชาวบ้านในการใช้สะเดาไล่แมลง ซึ่งมีมาก่อนการวิจัยของตะวันตกที่เพิ่งเริ่มมีรายงานทางวิทยาศาสตร์เมื่อปี 2502 ว่าช่วงที่ตั๊กแตนปาทังก้าระบาดกัดกินพืชผลทุกชนิดเสียหายหลายพันไร่ในซูดานทวีปแอฟริกา
แต่พบว่ามีใบไม้เพียงชนิดเดียวที่ปาทังก้าเว้นวรรคไว้ไม่กัดกินแม้แต่นิดเดียวคือ ใบสะเดา ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica ซึ่งเป็นสายพันธุ์อินเดีย
ส่วนสายพันธุ์สะเดาไทยที่ฝรั่งเรียกชื่อว่า Siamese Neem Tree มีอัตลักษณ์พิเศษ คือ ยอดอ่อนสะเดามีสีเขียว ไม่ออกสีแดงเหมือนใบสะเดาอินเดีย
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้นักแมลงวิทยาชาวเยอรมันชื่อ ดร.ชมุดเทอร์เรอร์ (Prof.Dr.Heinrich Schmutterer)
เริ่มทำการวิจัยนำสารสกัดสะเดาไปใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชครอบคลุมได้ถึง 413 ชนิด อาทิ ด้วงปีกแข็ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ มวนชนิดต่างๆ แมลงวันทอง หนอนผีเสื้อศัตรูพืชต่างๆ เช่น หนอนกระทู้ หนอนใยผัก เป็นต้น
ตั๊กแตนหนวดสั้น หนวดยาว ไรศัตรูพืชต่างๆ ฯลฯ รวมทั้งแมลงตายยากอย่างปลวก แมลงสาป ยิ่งไปกว่านั้น กลไกกำจัดแมลงของสะเดา นอกจากมีฤทธิ์ฆ่าโดยตรงแล้ว ยังช่วยยับยั้งพัฒนาการของหนอนศัตรูพืชหลายชนิดด้วย เช่น ยับยั้งการฟักตัวจากไข่และการลอกคราบของแมลง
เป็นต้น
นอกจากฤทธิ์กำจัดแมลงแล้ว สารสกัดสะเดายังมีฤทธิ์ป้องกันและยับยั้งโรคพืชอีกหลายชนิด ได้แก่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่า กล้าเน่า และใบกุด ในพืชผักหลายชนิด ทั้งยังยับยั้งการแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ที่เป็นสาเหตุโรคพืชต่างๆ เช่น โรคใบไหม้ของข้าว เป็นต้น จะเห็นได้ว่าสะเดาตัวเดียวสามารถกำจัดศัตรูพืชได้ครอบคลุมทั้งแมลง และโรคพืชเกือบทุกชนิด แถมยังกำจัดหนอนไส้เดือนฝอยที่ไชรากพืชได้อีกต่างหาก
แต่สำคัญที่สุดก็คือ สะเดาเป็นมิตรกับคน สัตว์เลี้ยงหรือปลาและสิ่งแวดล้อม
กล่าวคือ สะเดาเป็นทั้งยาและอาหารสำหรับคน ส่วนผลสุกของสะเดาก็เป็นของโปรดของคณานกและค้างคาว ซึ่งจะนำเมล็ดพันธุ์ของสะเดาเข้าไปสัมพันธ์กับระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน ในเมล็ดสะเดามีสารสำคัญออกฤทธิ์กำจัดศัตรูพืช คือ อะซาไดแรคติน (azadirachtin) แต่สำหรับเกษตรกรไทยทั่วไป มักใช้ใบสะเดาแก่หมักทำน้ำยาควบคุมศัตรูพืช ต่อไปนี้คือสูตรเด็ดน้ำยาสะเดาที่นิยมใช้ในหมู่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ดังนี้ วัตถุดิบ (1) ใบสะเดาแก่ (2) หัวข่าแก่อายุ 1 ปีขึ้นไป (3) ตะไคร้หอมทั้งต้น ทั้งหมดอย่างละ 2 กิโลกรัม วิธีทำ นำวัตถุดิบ มาหั่นเป็นชิ้น ตำหรือบดด้วยเครื่องให้ละเอียดรวมกัน เทน้ำลงไป 1 ปี๊บ แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืน อย่าแช่น้ำเกิน 1 คืน เพราะตัวยาจะบูดใช้ไม่ได้ รุ่งเช้านำมากรองเอากากออก บีบน้ำให้สะเด็ด
นำน้ำยาที่ได้มาผสมกับน้ำเปล่าในอัตราส่วน น้ำยา 1 ลิตร ต่อน้ำ 1-2 ปี๊บ นำไปฉีดพืชผัก พืชสวน พืชไร่ เว้นระยะฉีด 5 วัน
การฉีดครั้งที่สองจะเห็นผลในการควบคุมแมลงและศัตรูพืชอย่างชัดเจน
อันที่จริงมีการทำวิจัยใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดามาผลิตเป็นยากำจัดศัตรูพืชในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการส่งเสริมให้ใช้อย่างแพร่หลาย จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่ต้องมีการผลิตน้ำยาสะเดาในระดับอุตสาหกรรม เพื่อใช้แทนที่สามสารพิษที่ถูกแบนไปแล้ว
โดยทั่วไปคนไทยรู้จักกินยอดสะเดาแนมปลาดุกย่างน้ำปลาหวาน ช่วยให้เจริญอาหาร เพราะรสขมของใบสะเดาแปลกจากรสขมเย็นทั่วไป ตรงที่ช่วยบำรุงธาตุไฟ ช่วยขับน้ำดีให้ตกสู่ลำไส้เล็กมากขึ้น ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมันที่ย่อยยาก กล่อมอุจจาระให้ละเอียด
หมอไทยยังใช้น้ำต้มใบสะเดารักษาผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ
และใช้ลูกสะเดากินแก้ลมหทัยวาตะ ลมสัตถวาตะ ที่เสียดแทงหัวใจ จึงช่วยรักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติได้ ดังนั้น หมอไทยจึงใช้สะเดาเข้ากับกัญชาในตำรับยาศุขไสยาสน์ที่ช่วยให้นอนหลับ กินข้าวได้
ถ้าคนไทยนำสะเดามาใช้กำจัดศัตรูพืชแทนสารเคมีพิษ สะเดาจะมีคุณประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คือช่วยลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง พาร์กินสัน ไตพิการเรื้อรัง และผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคทางสมอง พัฒนาการช้า ไอคิวต่ำ อันเกิดจากการบริโภคสารเคมีพิษทางเกษตรที่ตกค้างในอาหารและน้ำ
พูดอย่างเต็มปากได้เลยว่า สะเดา เป็นกุญแจสมุนไพรไทยตัวหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์สุขภาพของมหาชนคนไทย หลังเลิกใช้สารเคมีพิษ