บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ‘ความพ่ายแพ้’ ที่เขต 5 นครปฐม

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ความพ่ายแพ้’ ที่เขต 5 นครปฐม

 

การเลือกตั้งซ่อมเขต 5 นครปฐม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา บรรดากูรูเกือบทั้งหมด และแม้แต่คนในพรรคอนาคตใหม่มั่นใจถึง 80% ว่าพรรคคนรุ่นใหม่จะชนะและรักษาแชมป์เอาไว้ได้

แต่เมื่อประกาศผลออกมากลับกลายเป็นว่า นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคยอยู่อันดับ 4 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคมปีนี้ พุ่งพรวดขึ้นมาเป็นที่ 1 ด้วยคะแนน 37,675 คะแนน

ส่วนพรรคอนาคตใหม่แชมป์เก่าหล่นมาอันดับ 2 ด้วยคะแนน 28,216 คะแนน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 18,425 คะแนน มาเป็นที่ 3

นับว่าพลิกล็อกพอสมควร เพราะคะแนนของอนาคตใหม่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม อยู่ที่ 34,164 คะแนน แต่ของชาติไทยพัฒนามีแค่ 12,279 คะแนน

จริงอยู่ที่ว่านายเผดิมชัยจากชาติไทยพัฒนา ได้อานิสงส์จากฐานคะแนนเก่าของ พปชร. 18,741 คะแนนมาโปะให้ เพราะครั้งนี้ พปชร.ไม่ส่งคนลงสมัคร

แต่ถ้าคิดตามสูตรนี้ 12,279+18,741 คะแนนของนายเผดิมชัยก็น่าจะแค่ 31,020 คะแนน ไม่ใช่ 37,675 คะแนน

ดังนั้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ 6,000 กว่าคะแนนของนายเผดิมชัยที่เพิ่มขึ้นมาจากไหน

ความน่าจะเป็นก็ต้องมองไปที่คะแนนของพรรคอนาคตใหม่ที่ลดลงเกือบ 6,000 คะแนน ซึ่งเป็นจำนวนตรงกับการเพิ่มขึ้นของคะแนนของนายเผดิมชัย

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อ้างว่าสาเหตุที่แพ้เพราะรัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งในวันหยุดที่เป็นวันพุธ ทั้งที่ควรเป็นวันอาทิตย์ ทำให้ฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และเป็นแรงงานที่ไปทำงานจังหวัดอื่นไม่มีเวลากลับมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้มีผู้มาใช้สิทธิน้อย

อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้มาใช้สิทธิน้อยลงกว่าเดิมเพียง 1% ของเขตนี้ หรือคิดเป็นเพียง 2,000 กว่าคะแนน ดังนั้น ไม่น่าจะมีผลถึงกับพลิกการเลือกตั้งได้

อีกอย่าง เอาอะไรมาพิสูจน์ว่าผู้ใช้แรงงานและคนรุ่นใหม่ทั้งหมดของเขตนี้เป็นฐานเสียงอนาคตใหม่

 

ช่วงหาเสียง พรรคอนาคตใหม่ใช้วาทกรรมปลุกเร้าในลักษณะวางเดิมพัน เช่น บอกว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นโดมิโนตัวแรกที่จะล้มรัฐบาล และส่งเสียงดังๆ ว่าพอแล้วกับการสืบทอดอำนาจ พอแล้วกับการปกครองที่ไม่เห็นหัวประชาชน ทำให้มีคนในพรรครัฐบาลดักคอว่า เลือกซ่อมแค่ 2-3 เขต ไม่สามารถพลิกขั้วรัฐบาลได้ ถ้าจะพลิกต้องเลือกตั้งซ่อม 100 กว่าเขต

เมื่อผลเลือกตั้งออกมาเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นคำตอบชัดระดับหนึ่งว่าประชาชนเขต 5 นครปฐม ไม่เอาด้วยกับวาทกรรมของพรรคอนาคตใหม่

แปลให้ชัดก็คือคนเขตนี้ยังไม่อยากล้มรัฐบาล

ในมุมมองของอนาคตใหม่ โยนบาปให้การเลือกตั้งวันพุธ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้พ่ายแพ้ แต่ในมุมของคนอื่นๆ นอกพรรค กลับเชื่อว่ามีหลายเหตุผลผสมกัน

โดยซีกที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าแพ้เพราะธนาธรไปพาดพิงทักษิณ ชินวัตร ในระหว่างให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีถือหุ้นสื่อเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ถูกมองว่าเป็นการเหยียบคนอื่นเพื่อเอาตัวรอด

จึงไม่แปลกที่คนซีกเพื่อไทยอาจแอบสะใจเล็กน้อยที่อนาคตใหม่แพ้เลือกตั้ง

 

แต่สำหรับคนทั่วไป สาเหตุที่เสื่อมความนิยมในพรรคอนาคตใหม่ อาจเกิดจากความผิดหวังหลายอย่างสะสมกันมาเรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของแกนนำในพรรคที่ชวนให้ตีความว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอาจมาถึงจุดพีกในคราวลงมติร่างพระราชกำหนดโอนงบประมาณและอัตรากำลังพลบางส่วนของกองทัพไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดรักษาพระองค์ ซึ่งอนาคตใหม่เป็นพรรคเดียวที่กล้าลงมติคัดค้าน

การโหวตร่างพระราชกำหนดดังกล่าว นำมาสู่การแตกแยกอย่างเห็นได้ชัดของพรรคนี้ เมื่อมีบางคนในพรรคงดออกเสียงและบางคนโหวตสวนมติพรรคด้วยการเห็นชอบร่างพระราชกำหนด

นำมาสู่การลาออกจากกรรมการบริหารพรรคของนายนิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะรับไม่ได้ที่การโหวตของพรรคในเรื่องนี้ในสภาไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ของกรรมการบริหารพรรค ที่เห็นว่าควรงดออกเสียง เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะไม่ส่งผลดีต่อพรรคในอนาคต

นอกจากนั้นที่น่าผิดหวังคือพรรคคาดโทษเอาผิดผู้ที่โหวตสวนมติพรรค อย่างนางสาวกวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความใจแคบของพรรค โดยเฉพาะนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่ชูธงประชาธิปไตย แต่กลับไม่ใจกว้างที่จะให้อิสระแก่ ส.ส.ในพรรค

จะสวยงามกว่านี้และไม่เป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล” หากพรรคอนาคตใหม่ใจกว้าง ไม่กดดันหรือขู่เล่นงาน ส.ส.ที่แสดงจุดยืนของตัวเอง

หากจำกันได้ ในคราวที่นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย โหวตสวนมติพรรคเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน โดยการงดออกเสียง ไม่รับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่าขัดกับความรู้สึก มีบางคนในพรรคอนาคตใหม่ออกมาสรรเสริญนายสิริพงศ์ว่ากล้าหาญ

แต่พอคนในพรรคตัวเองโหวตสวนมติพรรคบ้าง กลับไม่เห็นว่ากล้าหาญ ซ้ำยังจะตั้งกรรมการสอบ คาดโทษเอาผิด และสุดท้ายอาจกดดันให้ออกจากพรรค ทั้งที่พรรคนี้เรียกตัวเองว่าซีกประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมไม่ต่างจากซีกที่ตัวเองชอบเรียกว่าเผด็จการ

การที่พรรคอนาคตใหม่กล้าโหวตไม่รับพระราชกำหนดโอนกำลังพลฯก่อนการเลือกตั้งซ่อมนครปฐมไม่กี่วัน น่าเชื่อว่าต้องการสร้างคะแนนนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะหากไปตรวจดูคอมเมนต์ของสาวกอนาคตใหม่ที่มีต่อการอภิปรายของนายปิยบุตรในเรื่องนี้ พบว่ามีสาวกเข้ามาชื่นชมมากมาย ก็เลยอาจมั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว เป็นเหตุให้มั่นใจว่าคราวนี้จะชนะมากกว่าเดิม

แต่การโหวตคัดค้านร่างพระราชกำหนดดังกล่าว ก็อาจเป็นดาบสองคม กล่าวคือ ทำให้ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นจุดยืนพรรคชัดเจนขึ้นในประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับสังคมไทย อาจทำให้เกิดความไม่เห็นด้วย นำมาสู่คะแนนที่ลดลงก็เป็นได้

ขณะเดียวกันการให้ปากคำของนายธนาธรต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นถือครองหุ้นสื่อ ก็อาจมีส่วนทำให้ศรัทธาที่มีต่อหัวหน้าพรรคนี้ลดน้อยลง จากการตอบคำถามที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยส่วนใหญ่มักตอบว่า ไม่รู้ จำไม่ได้เพราะยุ่งมีภารกิจมาก ทำให้สาธารณชนคิดว่า แค่เรื่องตัวเองยังไม่ใส่ใจ ไม่รู้ จำไม่ได้ แล้วจะไปบริหารประเทศที่มีเรื่อง มีภารกิจมากกว่านี้หลายเท่าได้อย่างไร

 

ไม่เพียงเท่านั้น การแห่ลาออกของอดีตผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคนี้ 50 คนและสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง รวมแล้ว 120 คน คือ “แผ่นดินไหวเล็กๆ” สำหรับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อคนเหล่านี้แฉว่าลาออกเพราะผิดหวังการบริหารงานในพรรค ที่มีการแบ่งชนชั้น 3 ชั้น กล่าวคือ พวกใกล้ชิดหัวหน้าพรรค จบนอก เป็นพวกอีลิทชั้นบนสุดที่หลงตัวเอง และมีอภิสิทธิ์มากสุด

ส่วนพวกชนชั้นกลางคือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ชุบมือเปิบนั่งรอคะแนนจาก ส.ส.เขตหรือ ส.ส.สอบตก ขณะที่ ส.ส.สอบตกกลายเป็นขยะอยู่ชั้นล่างสุด ที่พรรคไม่เห็นค่า ทั้งที่ ส.ส.สอบตกเหล่านี้คือกลุ่มที่เก็บคะแนนรวมให้พรรค จนทำให้พวกชั้นกลางได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

แม้แกนนำหรือเจ้าของพรรคจะไม่แยแสคนที่ลาออก โดยยัดข้อหาว่าอุดมการณ์ไม่ตรงกัน แต่การที่สมาชิกพรรคจำนวนมากออกมาเปิดโปงว่าพรรคนี้ทำงานแบบเผด็จการและมีชนชั้น ไม่มีความเป็นธรรมและรวมศูนย์อำนาจ

คือการฉีกหน้าพรรคที่อ้างว่าเชิดชูบูชาประชาธิปไตย