โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ /เบญจภาคี-พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม พระเกจิดังวัดสะพานสูง

หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

เบญจภาคี-พระปิดตา

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม

พระเกจิดังวัดสะพานสูง

 

 

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม (อ่านว่า ปะถะมะนามะ หรือปถมนาม) วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองนนท์ให้ความเลื่อมใสศรัทธาและรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคล ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิแห่งตะกรุดของไทย

แต่ที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กันคือพระปิดตา ได้รับการยกย่องเข้าทำเนียบหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตา

เป็นที่สุดแห่งความนิยมที่นักสะสมพระเครื่องใฝ่หา

 

กล่าวสำหรับพระปิดตานั้น มวลสารที่ใช้ เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากระหว่างเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นพวกว่านและรากไม้ที่ทรงคุณ นำมาบดผสมกับเนื้อผงพุทธคุณที่มาจากการลบพระคาถาพระยันต์อิติปิโส พระยันต์ไตรสรณคมน์ และพระยันต์โสฬสมหามงคล สีสันวรรณะออกเป็นสีมะขามเปียก มีความหนึบนุ่ม มีคราบขาวกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อทำเป็นองค์พระ มักจะทาหรือชุบน้ำรักอีกชั้นหนึ่ง

รูปแบบพิมพ์ทรง ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยตัว องค์พระประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มีพบเป็นครึ่งซีกบ้างแต่น้อย ส่วนขนาดก็มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยส่วนมากจะออกใหญ่และล่ำสัน ซึ่งดูงดงามไปอีกแบบ

แบ่งได้เป็น 2 พิมพ์ คนรุ่นเก่านิยมเรียกว่าพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ และพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก แต่วงการพระเครื่องเรียกขานพิมพ์ชะลูดและพิมพ์ตะพาบ

พิมพ์นิยม คือพิมพ์ชะลูด

พิมพ์ชะลูด หรือพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ เป็นพระปิดตารุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อนำปัจจัยสร้างอุโบสถ องค์พระมีลักษณะสูงเล็กและเพรียวอย่างงดงาม พระหัตถ์ที่ยกปิดพระเนตร ยกข้อพระกรขึ้นสูงกว่า, ข้อศอกจะเป็นลำเว้าเข้าหาบั้นพระองค์, พระอุทร (ท้อง) พลุ้ย, ปรากฏพระนาภี (สะดือ), พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ด้านหลังเป็นหลังเรียบและโค้งมน

ส่วนพิมพ์ตะพาบ หรือพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก องค์พระจะล่ำสันเทอะทะ ดูใหญ่คล้ายตะพาบน้ำ ข้อศอกชิดกับพระเพลา ซึ่งจะกว้างกว่าพิมพ์ชะลูด

 

เกิดในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีฉลู พ.ศ.2359 เป็นบุตรนายนาค นางจันทร์ โดยมีพี่น้องท้องเดียวกันรวม 4 คน บ้านเกิดอยู่ที่ตำบลบ้านแหลมใหญ่ ฝั่งใต้ ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด ภายหลังอุปสมบท ประมาณ 1 เดือน ย้ายจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรี ซึ่งในขณะนั้นพระพิมลธรรม (พร) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งย้ายมาจากวัดราชบูรณะ พระนคร

ศึกษาพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบทอยู่ที่วัดนี้อยู่ได้ถึง 7 พรรษา จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดประยุรวงศาวาส

พ.ศ.2396 ญาติโยมพร้อมด้วยชาวบ้านภูมิลำเนาเดิมในคลองแหลมใหญ่ (ปัจจุบันคือคลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อาราธนานิมนต์กลับไปปกครองวัดสว่างอารมณ์ หรือวัดสะพานสูงในปัจจุบัน

สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์เดิมเป็นชื่อวัดสะพานสูง มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ เสด็จขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองวัด (คลองพระอุดม)

ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกวัดสว่างอารมณ์นี้ว่าวัดสะพานสูง จึงทำให้วัดนี้มีชื่อเรียกกัน 2 ชื่อ ดังนั้น จึงทรงเห็นว่า สะพานสูงนี้เป็นนิมิตดีประจำวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ชาวบ้านนิยมเรียกกันติดปากว่าวัดสะพานสูง

จึงได้ประทานเปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์เป็นวัดสะพานสูงŽจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระปิดตา หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง (หน้า-หลัง)

 

ครั้นหลวงปู่เอี่ยมมาวัดสะพานสูงใหม่ๆ ที่วัดนี้มีพระประจำวันพรรษาอยู่เพียง 2 รูปเท่านั้น

ขณะย้ายมาอยู่วัดสะพานสูง 8 เดือน ก่อนวันเข้าพรรษา หลวงพิบูลยสมบัติ บ้านอยู่ปากคลองบางลำพู พระนคร เดินทางมานมัสการ

ท่านปรารภถึงความลำบาก ด้วยเรื่องการทำอุโบสถและสังฆกรรม เนื่องจากสถานที่เดิมชำรุดทรุดโทรมมาก จึงอยากสร้างให้เป็นถาวรสถานแก่วัดให้เจริญรุ่งเรือง หลวงพิบูลยสมบัติจึงบอกบุญเรี่ยไรหาเงิน เพื่อก่อสร้างโบสถ์และเสนาสนะ

จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าหลวงปู่เอี่ยมเริ่มสร้างวัตถุมงคลพระปิดตาและตะกรุดเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างอุโบสถและถาวรสถาน

ต่อมาถึง พ.ศ.2431 สร้างศาลาการเปรียญ หลังจากนั้นสร้างพระเจดีย์ฐาน 3 ชั้นขึ้นในปี พ.ศ.2439 ขณะที่หลวงปู่เอี่ยมอยู่วัดสะพานสูง ท่านมักออกธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร โดยมีลูกวัดติดตามไปด้วยเสมอ

มีเรื่องเล่ากันสืบมาว่า ในชุมชนพื้นที่ใกล้วัดสะพานสูงมีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตก พอตกกลางคืน มีใครเดินผ่าน ผีนางตะเคียนจะออกมาหลอกหลอนจนจับไข้หัวโกร๋นไปตามๆ กัน ต้องหามกันมาให้หลวงปู่เอี่ยมรดน้ำมนต์

ตอนแรกท่านยังวางเฉย แต่ตอนหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

เมื่อทำพิธีรดน้ำมนต์เสร็จ จึงเอ่ยปากว่า อย่างนี้เห็นจะไม่ได้การ อย่างนี้คงอยู่ด้วยกันไม่ได้Ž ท่านจึงเดินไปที่ต้นตะเคียนนั้น นั่งภาวนาพระคาถาและเป่าไปที่ต้นตะเคียนนั้น

ท่านทำอยู่นาน 3 วัน ต้นตะเคียนนั้นเฉาเหี่ยวแห้งตาย หลังจากนั้นไม่เคยปรากฏว่ามีผีนางตะเคียนมาหลอกหลอนคนอีกเลย

เชื่อกันว่ามีวิทยาคมเข้มขลัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ เป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนคร มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วประเทศ

มรณภาพลงอย่างสงบในปี พ.ศ.2439 สิริรวมอายุ 80 ปี พรรษา 59

ปัจจุบันรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงยังคงประดิษฐานหน้าอุโบสถ ซึ่งผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศแวะเวียนมากราบสักการะ ขอพร และบนบานอยู่มิได้ขาด