สุจิตต์ วงษ์เทศ /ขวัญเอ๋ยขวัญมาจากไหน?

ขวัญของคน มีหลากหลายในจิตนาการหลายพันปีมาแล้ว รูปจำลองบนหน้ากลองทองมโหระทึก, ขดทอง, สำริด,ลายหม้อบ้านเชียง (งานออกแบร่วมสมัย เป็นปกหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ จะเสร็จพรุ่งนี้

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขวัญเอ๋ยขวัญมาจากไหน?

ทำขวัญหรือสู่ขวัญเป็นประเพณีในไทย พ้องกับเรียกขวัญของจีน ภาษาจีนเรียก “เจี้ยวเฮวิ๋น” หรือ “จาวเฮวิ๋น” [คำว่า “ขวัญ” ในไทย พ้องเสียงกับ “เฮวิ๋น” ในจีน]

ในไทยดั้งเดิมมีพิธีส่งขวัญงานศพ และมีสู่ขวัญต่างๆ เช่น สู่ขวัญข้าว, ขวัญควาย, ขวัญเรือน, ขวัญเด็ก ฯลฯ แต่ในจีนมีพิธีเรียกขวัญเมื่อเจ็บป่วย และส่งขวัญเมื่อตายเท่านั้น

อ. เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท] อธิบายไว้ในบทความวิชาการ พิมพ์รวมในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา [สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2548 หน้า 86]

“ขวัญ” คำนี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในไทย โดยเฉพาะบายสี (ไม่ศรี) สู่ขวัญ, ของขวัญ เช่น ของขวัญปีใหม่ เป็นต้น แต่คำอธิบายกลายเป็นวิญญาณที่รับจากอินเดีย ซึ่งไม่ใช่ขวัญ     ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? หนังสือเล่มใหม่ ผมปรับปรุงเรียบเรียงเพิ่มเติมจากงานค้างเก่า [จะพิมพ์เสร็จเป็นเล่มเร็วๆ นี้ โดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก] มีความเป็นมาเรื่องขวัญ ความเชื่อในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว จะคัดบางส่วนมาบอกดังนี้

 

ขวัญ จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น?

ขวัญ หมายถึงส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น

ขวัญสัตว์ เช่น ขวัญวัว, ขวัญควาย ฯลฯ

ขวัญสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ขวัญเกวียน, ขวัญล้อเลื่อน ฯลฯ

ขวัญอาคารสถานที่ ได้แก่ ขวัญลาน (นวดข้าว), ขวัญยุ้ง, ขวัญเรือน, ขวัญบ้าน, ขวัญเมือง เป็นต้น

[ขวัญ เป็นคำร่วมสุวรรณภูมิ มีใช้ในหลายเผ่าพันธุ์แต่ออกเสียงต่างกัน นานเข้าก็เรียกต่างกันไปโดยหมายถึงอย่างเดียวกัน]

ขวัญของคน คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคน จึงจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น ลักษณะเป็นหน่วยๆ เคลื่อนไหวได้ มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีความสำคัญมากเท่ากับส่วนที่เป็นร่างกาย

[คนมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนที่เป็นตัวตนหรือร่างกาย 2. ส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือขวัญ]

ขวัญแต่ละคนมีจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของกลุ่มชนนั้นๆ เช่น ไทดำในเวียดนามเชื่อว่า “มีราว 80 ขวัญ อยู่ข้างหน้า 30 อยู่ข้างหลัง 50 ขวัญ” และ “ขวัญเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดไม่ได้ของชีวิต มีขวัญจึงมีชีวิต”

[ชาติพันธุ์นิพนธ์การตาย โดย ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ในหนังสือ ทฤษฎีบ้านเมืองฯ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2553 หน้า 150]

ขวัญบนหัวตรงกลางกระหม่อม เรียก จอมขวัญ (หรือขวัญกก) นอกนั้นเรียกตามชื่ออวัยวะ เช่น ขวัญหู, ขวัญตา, ขวัญใจ, ขวัญมือ, ขวัญแขน, ขวัญขา ฯลฯ

 

จอมขวัญ อยู่บนหัว

ขวัญสำคัญของทุกคนเรียกจอมขวัญ ล้วนสิงในกะโหลกบนหัวกบาลตรงกลางกระหม่อม บริเวณที่โคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย

เชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความมีชีวิตของคน ต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกกระทำรุนแรง เพราะถ้ากระทบกระเทือนจนขวัญเสียขวัญหาย ย่อมเป็นอันตรายถึงชีวิต เจ้าของขวัญล้มตายได้

ดังนั้น คนทั้งหลายจึง “ถือหัว” หมายถึง ยกย่องหวงแหนหัว เสมือนอวัยวะศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นตัวแทนของความมีชีวิต จึงไม่ให้คนอื่นล่วงล้ำหัว เช่น เล่นหัว, ลูบหัว, ตบหัว, เขกหัว, ข้ามหัว ฯลฯ เมื่อเพ็ดทูลพระเจ้าแผ่นดินเพื่อขอความเป็นมงคลของชีวิตต้องอ้างถึงขวัญเพื่อขอความมั่นคงด้วยถ้อยคำว่า “ปกเกล้าปกกระหม่อม”

ขวัญเดียว, สองขวัญ บนหัวของคนตรงกลางกระหม่อมมักมีขวัญเป็นวงเหมือนก้นหอย คนส่วนมากมีกลุ่มเดียวเรียกขวัญเดียว บางคนมีสองกลุ่มคู่กันเรียกสองขวัญ คนแต่ก่อนสร้างคำคล้องจองล้อเลียนคนมีขวัญอย่างนี้ว่า

“ขวัญเดียว เขียวหมาวัด”,”สองขวัญ ขยันหาผัว (หาเมีย)” [ถ้าคนมีสองขวัญเป็นหญิง ล้อว่าขยันหาผัว ถ้าเป็นชายว่าขยันหาเมีย]

 

ขวัญ คืออะไร? มาจากไหน?

ขวัญเป็นความเชื่อดั้งเดิมในศาสนาผีของคนพื้นเมืองทุกเผ่าพันธุ์อุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว [ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนอุษาคเนย์ยังไม่รู้จักและไม่ติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นขวัญจึงไม่ใช่วิญญาณ ซึ่งเป็นความเชื่อใหม่ที่รับจากอินเดียในสมัยหลังเมื่อรู้จักและติดต่อกันแล้วกับอินเดีย แต่ขวัญในนิยามและคำอธิบายของนักปราชญ์และนักวิชาการไทยมีหลายหลาก ส่วนมากหรือเกือบหมดปนกับวิญญาณจนเป็นเนื้อเดียวกันแยกไม่ออก]

ความเชื่อแบบพื้นเมืองเรื่องขวัญ มีอย่างปลอดโปร่งโล่งแจ้งอยู่ในคำอธิบายของ เกิ่ม จ่อง นักปราชญ์ชาวไทดำในเวียดนาม โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร (อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รวบรวมและเรียบเรียงไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนในหนังสือชื่อ จากรักโรแมนติก สู่การต่อสู้ทางชนชั้น [ศูนย์มานุษยวิทยา  สิรินธร (องค์การมหาชน) พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2561 หน้า 72-76] มีโดยสรุป ดังนี้

“ขวัญก็คือผีชนิดหนึ่ง จึงแสดงความเป็นเอกเทศของขวัญ ในสภาวะความเป็นจริงของเราเอง เช่น เป็นไปได้ที่ขวัญของใครคนหนึ่งจะตกใจง่าย แม้ว่าตัวเขาเองจะเป็นคนจิตใจเข้มแข็ง”

ความเป็นเอกเทศดังกล่าวทำให้ขวัญต้องได้รับการดูแลแตกต่างจากร่างกายคน คนไทเชื่อว่าคนแต่ละคนมี 80 ขวัญ แบ่งเป็น 30 อยู่ข้างหน้า 50 อยู่ด้านหลัง อวัยวะบางอวัยวะมีขวัญของตนเอง     ขวัญมีลักษณะพิเศษคือมันมีชีวิตของมันเอง แต่มันก็อยู่เป็นส่วนหนึ่งของคนแต่ละคน ด้วยความเป็นตัวของตัวเองในระดับหนึ่ง ขวัญจึงอาจหนีไปจากคนได้ทุกเมื่อ หรือบางครั้งขวัญอาจจะหลงทาง หลงเพลินกับอะไรกลางทาง หลงหลับนอนกลางทาง ไม่มาอยู่กับเนื้อกับตัวเรา นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งของความเจ็บป่วย

หากเป็นเช่นนั้นก็จะต้องจัดพิธีเรียกขวัญสู่ขวัญ ขวัญจึงต้องการการบำรุงเสมอ คนไทจึงมีพิธี “ป่าวขวัญ” เป็นการสวดบำรุงขวัญด้วยการพาขวัญไปเที่ยวแล้วพากลับอย่างเป็นระบบ แทนที่จะให้ไปเที่ยวกันเองแล้วหลงเพลินไม่กลับมา

นอกจากนั้น ในการเดินทางไปส่งผีที่เมืองฟ้า บางครั้งก็ต้องระวังว่าขวัญของคนเป็นที่ไปส่งผีขวัญคนตายจะหลงตามไปอยู่เมืองฟ้ากับผีขวัญคนตาย จึงต้องรีบนำทางขวัญคนเป็นกลับมา “เมืองลุ่ม” (หรือเมืองมนุษย์)

ขวัญที่อยู่รอบตัวเราไม่ได้มีเฉพาะขวัญของเราเอง แต่ยังอาจมีขวัญของคนที่ผูกพันใกล้ชิดกับเรามากอยู่ด้วย เช่น ขวัญหญิง รู้สึกว่าตนเองมีขวัญของชายอยู่เคียงข้างเสมอ

นอกจากขวัญ คนเรายังมีสภาพเหนือธรรมชาติข้างเคียงอื่นๆ อีก นั่นคือ “มิ่ง” “แนน” และ “หิง”      มิ่งและแนนมีความหมายที่สัมพันธ์กันใกล้ชิด

ในภาษาไทย ลำพังคำว่ามิ่งอาจจะฟังดูเป็นเพียงคำคล้องจองคู่กับคำว่าขวัญ เช่นมิ่งขวัญ แต่ในความเข้าใจของคนไต มิ่งและขวัญมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างชัดเจนเป็นระบบ

คำว่ามิ่งจะคู่กับแนน ทั้งขวัญ มิ่ง แนน ต่างก็มีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

เกิ่ม จ่อง อธิบายมโนทัศน์มิ่งและแนน ว่า “มิ่งและแนนเป็นแนวคิดนามธรรมที่มีลักษณะรูปธรรมดั่งจุดสมดุลของขวัญ หรือกล่าวได้ว่ามันเป็นรากฐานของชีวิต หากมิ่ง-แนนยังอยู่ ก็หมายความว่ายังมีชีวิตอยู่ ตรงกันข้าม หากมิ่ง-แนนพังทลายไป ชีวิตก็หาไม่ หรือหมายความว่าขวัญจะแยกตัวจากร่างกาย กลายเป็นผีชนิดอื่นไปตลอดกาล”

[เกิ่ม จ่อง (2477-2550) เป็นนักปราชญ์ชาวไทดำ (เวียดนาม) ที่นักวิชาการไทยรู้จักทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาสตราจารย์คำจอง” ได้รับยกย่องเป็นเสาหลักทางวิชาความรู้เกี่ยวกับไต-ไท ในเวียดนาม ต่อมานักวิชาการไทยกลุ่มหนึ่งร่วมกันพิมพ์หนังสือที่ระลึก (หลังเกิ่ม จ่อง ถึงแก่กรรม) เพื่อถ่ายทอดและแสดงคุณูปการ ชื่อ ทฤษฎีบ้านเมือง ศาสตราจารย์คำจอง กับการศึกษาชนชาติไท ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, พิเชฐ สายพันธ์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2553]