รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/กลุ่ม จี 7 พร้อมพันธมิตรก่อตั้ง ทิ้ง ‘ลิบรา’ อุปสรรคครั้งใหม่ เฟซบุ๊กชะลอแผนเปิดตัว

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

กลุ่ม จี 7 พร้อมพันธมิตรก่อตั้ง

ทิ้ง ‘ลิบรา’

อุปสรรคครั้งใหม่

เฟซบุ๊กชะลอแผนเปิดตัว

 

เงิน “ลิบรา” ของเฟซบุ๊กที่พยายามทำสกุลเงินดิจิตอล โดยมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เริ่มออกอาการที่น่าเป็นห่วง

เมื่อกลุ่ม จี 7 และบรรดาพันธมิตรที่ร่วมก่อตั้งหลายแห่งทยอยประกาศถอนตัวอย่างต่อเนื่อง

อุปสรรคครั้งใหม่ เมื่อกลุ่ม จี 7 ประกาศจุดยืนยังไม่รับรองสกุลเงินดิจิตอล “ลิบรา” ของเฟซบุ๊ก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น ระหว่างการประชุมประจำปีในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยระบุว่าเงินดิจิตอลที่มีเสถียรภาพของมูลค่าแบบเดียวกันกับสกุลเงินลิบราของเฟซบุ๊กนั้นไม่ควรอนุญาตให้มีขึ้น จนกว่าจะมีแนวทางที่ดีในการแก้ไขความเสี่ยงที่สกุลเงินดังกล่าวก่อให้เกิดขึ้นกับนานาประเทศ เนื่องจากพบว่าเงินสกุลลิบราอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเงินของโลกและเสถียรภาพการเงินของโลก

รายงานของ จี 7 จัดทำโดยคณะทำงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลาง, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) รวมถึงคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (เอฟเอสบี) หน่วยงานที่กำกับดูแลความร่วมมือของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ จี 20 เตือนว่าลิบรานั้นส่งผลให้เกิดความเสี่ยงกับระบบการเงินโลก

อีกทั้งเงินดิจิตอลทำนองเดียวกับลิบราในเวลานี้นั้น ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในความควบคุม จนกลายเป็นอุปสรรคในการต่อสู้กับการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินต่อกลุ่มก่อการร้าย อาจจะทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงบนโลกไซเบอร์ การเสียภาษี และความเป็นส่วนตัว

จากความกังวลของกลุ่ม จี 7 เชื่อว่าสกุลเงินดิจิตอลที่มีมูลค่าคงที่ ไม่ควรจะเริ่มเปิดให้บริการ จนกว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องผ่านการเห็นชอบตามกระบวนการกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ ควบคุมได้ แก้ปัญหาเรื่องความผิดพลาดและความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ท่าทีเช่นนี้ของกลุ่ม จี 7 เกิดขึ้นได้เพียงสัปดาห์เดียวหลังจากมาสเตอร์การ์ด, บริษัทวีซ่า อิงค์, อีเบย์, ผู้ให้บริการชำระเงินอย่างสไตรป์ (Stripe) และบริษัทเมอร์คาโด ปาโก ของเม็กซิโก รวมถึงบริษัทบริการจองโรงแรม อย่างบุ๊กกิ้ง โฮลดิ้งเองก็ถอนตัวในนาทีสุดท้าย ต่างแถลงถอนตัวจากการร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งสกุลเงินลิบรา

สะท้อนความเชื่อมั่นลดลงต่อโครงการเงินดิจิตอลของเฟซบุ๊ก

ปรากฏการณ์นี้ทำให้สมาคมลิบราที่เฟซบุ๊กหวังให้เป็นกลไกขับเคลื่อนสกุลเงินของตน ไม่เหลือสมาชิกที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก

ส่วนสมาชิกที่เหลืออยู่ในสมาคมลิบราตอนนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วย บริษัทที่ทำธุรกิจร่วมทุน, สื่อสารโทรคมนาคม, บล็อกเชน และเทคโนโลยี รวมถึงองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO)

แต่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเฟซบุ๊ก ยืนกรานจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปตามแผนการ เพราะยังเหลือพันธมิตรอีกมากกว่า 20 บริษัท

นักวิเคราะห์ของ MoffettNathanson มองว่าการประกาศถอนตัวของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น จะทำให้สมาคมลิบราประสบความสำเร็จได้ยาก

เพราะขณะนี้สมาชิกที่เหลืออยู่ไม่มีบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการชำระเงิน

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อการให้บริการทางการเงินทั่วโลกอย่างที่เฟซบุ๊กวางแผน ในการชำระเงิน จำเป็นต้องพึ่งพาความน่าเชื่อถือของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินเหล่านี้

 

ก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสกุลเงินลิบรา โดยเฉพาะในยุโรปและอินเดีย โดยระบุว่ารายละเอียดของสกุลเงินนี้ยังไม่มีรายละเอียดและความน่าเชื่อถือที่เพียงพอ

ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครต ประธานคณะกรรมาธิการบริหารด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้ “เฟซบุ๊ก” ทบทวนการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)

ในด้าน “เดวิด มาร์คัส” หัวหน้าโครงการลิบราของเฟซบุ๊ก ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า

“การแห่ถอนตัวออกของสมาชิกหลายรายที่ผ่านมา ผมมองว่าจะไม่กระทบต่อการเปิดตัวสกุลเงินลิบรา แต่จะใช้ความระมัดระวังและความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆ เรารู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไรหากมีแรงกดดันที่สูงขึ้นเช่นนี้”

สกุลเงินลิบราเป็นโครงการของเฟซบุ๊ก ที่วางแผนจะเปิดตัวในเดือนมิถุนายน ปี 2563 โดยหวังจะได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มทุนทางการเงินทั่วโลกผ่านการรวมตัวเป็นสมาคมลิบรา ที่ผ่านมารัฐบาลชาติต่างๆ จับตามองสกุลเงินนี้ เพราะเกรงว่าจะขัดกับอธิปไตยของสกุลเงินภายในประเทศ

ทั้งในแง่ของกฎระเบียบด้านการบริหารจัดการ หลังเฟซบุ๊กประกาศแผนจะสร้างระบบชำระเงินซื้อสินค้าปลีกโดยใช้สกุลเงินดิจิตอลใหม่ชื่อว่าลิบราในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากเฟซบุ๊กมีฐานผู้ใช้มากถึง 2.7 พันล้านคนทั่วโลก หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก โดยกลุ่มผู้วิจารณ์รู้สึกเป็นกังวลว่า หากไม่มีกฎระเบียบควบคุมที่มีมาตรฐาน ปัญหานี้อาจจะกระทบต่อระบบการเงินทั่วโลกและกระทบต่อบทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่รัฐบาลดำเนินการมาตลอด

โครงการลิบรา เฟซบุ๊กมีพันธมิตรทั้งหมด 28 บริษัท และอธิบายถึงโลกในยุคปัจจุบันที่จะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดและผู้คนหันมาทำธุรกรรมการเงินและชำระค่าบริการทางออนไลน์กันมากขึ้น

แต่ก็ยังมีขั้นตอนการทำธุรกรรมที่ยุ่งยาก ในทางกลับกัน สกุลเงิน Libra ตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อลดขั้นตอนในการทำธุรกรรมการเงินเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ใช้งานรับ-ส่งเงินได้ทั่วโลกอย่างสะดวกง่ายดายแบบไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้นในการบริการ

“ลิบรา” ถูกมองเป็น “ความหวังใหม่” แห่งวงการสกุลเงินดิจิตอล มองไปถึงความทะเยอทะยานของเฟซบุ๊กในการสร้างภูมิศาสตร์ทางการเงินระดับโลกขึ้นใหม่ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลก

ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสถาบันการเงินอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถเข้าถึงบริการที่ต้องการได้

เงิน Libra เป็นสกุลเงินอย่างโอเพ่นซอร์ส ที่เหมาะสำหรับให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถสร้างอะตอมหรือบริการอื่นๆ มาเชื่อมต่อระบบได้

ทำให้สามารถเกิดการขยายขอบเขตการให้บริการได้เพิ่มขึ้นอีกมาก และผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Calibra

เสมือนกระเป๋าเงินติดตามตัวพกไปไหนต่อไหนก็ได้สำหรับการใช้จ่ายเงิน Libra

 

ทางด้านสภาคองเกรสสหรัฐก็ออกมาเบรกเฟซบุ๊กให้ชะลอแผนดังกล่าวลงเป็นการชั่วคราว โดยประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ออกมาแสดงความกังวลต่อปัญหาของเฟซบุ๊กที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ อย่างการจัดการข้อมูลผู้ใช้งานที่รั่วไหลออกไปอย่างไม่เหมาะสม

จึงสร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต่อส่วนรวมมากเกินกว่าที่ประกาศต่อสาธารณะของเฟซบุ๊ก ส่งผลให้เฟซบุ๊กถูกตรวจสอบอย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้บริษัทรายใหญ่หลายแห่งตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นพันธมิตรร่วมก่อตั้ง

ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ว่าเฟซบุ๊กหรือบริษัทแห่งใดก็ตามของสหรัฐ ประสงค์เปลี่ยนตัวเองเป็นธนาคาร หรือขยายกิจการด้วยการพัฒนาสกุลเงินดิจิตอล ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการเงินของสหรัฐว่าด้วยสถาบันการเงินที่ถูกต้องเหมือนกับ “ธนาคารปกติ” ทั่วโลก

ถึงแม้จะโดนความกดดันมหาศาล ส่งผลต่ออนาคตของ Libra ท่ามกลางอุปสรรคและข้อกังวลที่ผุดขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เฟซบุ๊กก็ไม่มีแผนยกเลิกโครงการลิบราแต่อย่างใด

โดยทางโครงการจะออกมาประกาศรายชื่อพันธมิตรที่เหลืออยู่อีกครั้งหนึ่ง