แมลงวันในไร่ส้ม/ ดัน ‘มาร์ค’ นั่ง ปธ.กมธ. โหมโรงข่าวแก้ รธน. เส้นทางยัง ‘คดเคี้ยว’

แมลงวันในไร่ส้ม

ดัน ‘มาร์ค’ นั่ง ปธ.กมธ.

โหมโรงข่าวแก้ รธน.

เส้นทางยัง ‘คดเคี้ยว’

 

กระแสข่าวผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็น “ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นข่าวที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากอีกข่าวหนึ่งในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ญัตติดังกล่าว พรรคฝ่ายค้าน คือพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย เสนอไว้ตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว และก่อนปิดสมัยประชุม มีการลงมติให้ญัตตินี้ขึ้นมาอยู่ต้นๆ ของระเบียบวาระ เพื่อที่เมื่อเปิดสมัยประชุมนี้ จะได้เป็นเรื่องที่ได้รับการพิจารณาในลำดับต้นๆ

สมัยประชุมสามัญที่สอง เริ่มขึ้นตั้งแต่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยจะมีการประชุมนัดแรก 6 พฤศจิกายน และ 7 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดหมายว่าอาจจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าวในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์ถัดไป

สำหรับตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญ จะมาจากโควต้าของแต่ละพรรค และเมื่อเป็นกรรมาธิการวิสามัญ แต่ละพรรคสามารถนำบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. หรือคนนอกเข้ามาเป็นกรรมาธิการได้

ตัวอย่างเช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ที่พรรคอนาคตใหม่นำนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ซึ่งถูกพักการปฏิบัติหน้าที่ มีสถานะเป็นบุคคลภายนอก มาเป็นกรรมาธิการวิสามัญในโควต้าของพรรค ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ กฎหมายไม่ห้าม และมีการดึงคนนอกมาตลอด แต่กรณีนายธนาธร มี ส.ส.พรรครัฐบาลออกมาขัดขวาง

สำหรับกรณีนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเคยแสดงจุดยืนไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงก่อนเลือกตั้ง และลาออกจากหัวหน้าพรรค ภายหลังการเลือกตั้ง เมื่อเกิดกระแสสนับสนุนให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญ หรือประธานกรรมาธิการวิสามัญ

ปรากฏว่า มีทั้งฝ่ายที่คัดค้านและเห็นด้วย

เสียงคัดค้านหนึ่งมาจากพรรคพลังประชารัฐ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ ออกมากล่าวว่า ตำแหน่งประธานกรรมาธิการชุดนี้ จะต้องเป็นโควต้าของพรรคแกนนำรัฐบาล

โดยนายวีระกรระบุว่า เป็นเรื่องปกติของกรรมาธิการคณะใหญ่ๆ ที่จะต้องเป็นแกนนำพรรครัฐบาล แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแกนนำพรรครัฐบาล การเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์นั้นมีสิทธิที่จะเสนอได้

แต่ตามหลักและมารยาทจะต้องเป็นพรรคใหญ่ที่สุดของรัฐบาลนั่งเป็นประธานกรรมาธิการ

 

พรรคประชาธิปัตย์อันเป็นต้นสังกัดของนายอภิสิทธิ์เอง นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีสนับสนุน และเห็นว่า ตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ไม่ตายตัว

นายเทพไทกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นการเสนอของพรรคการเมืองอื่น และมีเสียงตอบรับจากพรรคการเมืองต่างๆ ตามมาอีกหลายพรรค รวมถึงการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย

เมื่อทุกฝ่ายเห็นว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จึงเกิดกระแสขานรับกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาตามขั้นตอนของพรรค

ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐออกมาท้วงติงถึงสิทธิการเป็นพรรคการเมืองใหญ่จะต้องได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ก็เป็นสิทธิของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นสูตรที่ตายตัวเสมอไป

ในคณะกรรมาธิการหลายชุด ประธานคณะกรรมาธิการก็มาจากพรรคการเมืองอื่นก็เคยมี จึงอยากให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของบุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญมากกว่า

ถ้าหากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งและการไม่ยอมรับจากพรรคฝ่ายค้านหรือกลุ่มต่างๆ และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นหรืออยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“อยากให้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองสร้างความสมานฉันท์มากกว่าการเกิดความขัดแย้งตั้งแต่จุดเริ่มต้น” นายเทพไทกล่าว

ส่วน ส.ว.ที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ก็คือ นายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว. กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์มีความเหมาะสม มีประสบการณ์ เคยผ่านการใช้รัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ น่าจะรู้หรือเห็นข้อบกพร่อง รวมถึงช่องว่างของรัฐธรรมนูญที่ต้องแก้ไข หากนายอภิสิทธิ์มานั่งเป็นประธานจริง น่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย

นายพีระศักดิ์ระบุด้วยว่า นายอภิสิทธิ์จะยอมรับคำเชิญหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ คิดว่านายอภิสิทธิ์คงกำลังคิดหนัก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจ

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ขอไม่พูดถึงตัวบุคคล แต่ขอพูดในหลักการคือ ขณะนี้ญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้บรรจุอยู่ในวาระของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เมื่อมีการหยิบยกขึ้นมา ก็จะมีการพิจารณาว่าจะให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มคงตั้ง เพราะทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีความเห็นร่วมกันให้มีการตั้งอยู่แล้ว ตอนเสนอญัตติเข้าไป ฉะนั้น เมื่อมีการตั้ง ก็จะมีการพิจารณาตัวกรรมาธิการที่จะเข้าไปสู่การพิจารณา

ส่วนใครจะไปเป็นกรรมาธิการ เป็นประธาน รองประธาน ตำแหน่งไหนในกรรมาธิการวิสามัญ ให้เป็นไปตามขั้นตอน

 

กระแสของปฏิกิริยา คงมีผลต่อการตัดสินใจของนายอภิสิทธิ์เองและกลุ่มแนวคิดที่ผลักดันเรื่องนี้

กลุ่มที่ผลักดันเห็นว่า น่าจะต้องพยายามสามัคคีฝ่ายต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นให้ได้ แม้จะเป็นขั้นต้นที่จะนำไปสู่การแก้ไขอีกที

และขั้นตอนจากนี้ คือการแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ผ่อนคลายและทำได้ง่ายขึ้น

ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ความพยายามดึงนายอภิสิทธิ์เข้ามา เพื่อให้เกิดพลังผลักดันจากทุกฝ่าย

เพราะหากดำเนินการกันเฉพาะฝ่ายค้าน อาจจะกลายเป็นการเมืองเรื่องขั้วไปอีก

ประกอบกับเห็นว่านายอภิสิทธิ์ได้แสดงจุดยืนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนเลือกตั้ง น่าจะเป็นจุดที่ร่วมกันได้ระหว่างฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล

ยกแรกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินทางมาถึงแล้ว กลุ่มผลักดันจะเปิดเกมอย่างไร เป็นข่าวที่เดินทางไปสู่พื้นที่ข่าวในสื่อทั้งกระดาษและออนไลน์ รวมถึงช่องทางอื่นๆ ต่อไป