อยู่ ไม่ เป็น 16 พ.ย.62 / ฉบับประจำวันที่ 8-14 พฤศจิกายน 2562

ได้รับความสนใจ และตีความอย่างกว้างขวาง
ที่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก “Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
ระบุว่า “อยู่ ไม่ เป็น 16 พ.ย.62”
จากนั้นทางเฟซบุ๊ก “พรรคอนาคตใหม่ – Future Forward Party” ก็ได้นำข้อความดังกล่าวไปแชร์ต่อ
พร้อมกับระบุว่า 16 พฤศจิกายน รอฟังรายละเอียดเพิ่มเติมในเร็ววันนี้
จากนั้น ลูกพรรคและแฟนคลับพรรคอนาคตใหม่ ร่วมมือกันติดแฮชแท็ก “#อยู่ไม่เป็น”
จนทำให้แฮชแท็กดังกล่าวได้ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์
พร้อมกับมีการผูกโยงเรื่องนี้ ว่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันที่ 20 พฤศจิกายน
ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในคดีคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.ของนายธนาธร จากกรณีการถือหุ้นในบริษัทวี-ลัคมีเดีย ซึ่งเป็นกิจการสื่อสารมวลชนที่ต้องห้ามไม่ให้ ส.ส.มีหุ้นในกิจการดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่
และหากเกี่ยวข้อง คำว่า อยู่ ไม่ เป็น
จะสื่อถึงอะไร

สอดคล้องกับคำพูดของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้หรือไม่
“สถานการณ์ในปัจจุบัน ผมอยากเรียนให้ทราบว่าคดีต่างๆ ที่พรรคอนาคตใหม่โดนฟ้องรวมๆ 20 กว่าเรื่องในขณะนี้ ทุกคนคงวิเคราะห์กันได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่เรายังไม่ได้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเลย แต่กลับมีความคิดความเชื่อเต็มไปหมดว่าจะถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ จำคุก ฯลฯ”
“ทำให้ผมต้องขอถามกลับไปตรงๆ ว่า ทุกคนรู้สึกว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริงๆ หรือ หรือว่าเพียงเพราะมีแนวทางที่ผู้มีอำนาจไม่สบายใจจึงต้องโดนกระทำเช่นนี้”
“อย่างในกรณีหุ้นสื่อที่นายธนาธรโดนอยู่ในตอนนี้ ท้ายที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อมิต้องการให้ ส.ส.หรือรัฐมนตรีมีอิทธิพลในการครอบงำสื่อ นี่คือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่ากิจการที่ถือหุ้นนั้นเป็นสื่อหรือไม่ และการถือหุ้นนั้นมีมากน้อยเพียงใด ถึงขั้นมีอิทธิพลครอบงำสื่อ”
“เมื่อเปรียบเทียบกับกรณี ส.ส.คนหนึ่ง ไม่ได้ถือหุ้นสื่อเลย แต่มีคู่สมรสถือหุ้นสื่อ เป็นเจ้าของสื่อโดยตรง มีอิทธิพลครอบงำสื่อ นำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ ส.ส.คนนี้กลับไม่โดนอะไรเลย ตกลงแล้วรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ต้องการจัดการนักการเมืองที่ครอบงำสื่อจริงๆ หรือกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งกันแน่”
พิจารณาตามคำพูดนี้ และนำไปสู่วลี “อยู่ ไม่ เป็น”
ก็น่าชัดเจนว่า เป็นกระบวนการตอบโต้ การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกกระทำ
และพรรคจะไม่ยอม และอยู่ไม่เป็นอีกแล้ว
จึงน่าสนใจ “อยู่ ไม่ เป็น” จะแปรไปสู่อะไร

คือการเคลื่อนไหวนอกสภา หรือก้าวสู่ท้องถนน หรือไม่
ซึ่งก็คงมีคำถาม แม้การเคลื่อนไหวจะมีพลัง
แต่ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกกล่าวหา ว่าสร้างความวุ่นวายให้ประเทศ เหมือนดังฮ่องกง และอาจถูกโยนบาปว่าเป็นพวกหัวรุนแรง
คงจะต้องเจอแรงเสียดทานสูงแน่
ที่สำคัญ แนวร่วมคือประชาชนทั่วไป จะเอาด้วยหรือไม่
หากลงสู่ท้องถนนโดยปราศจากมวลชน หรือเงื่อนไขที่สุกงอมเพียงพอ โอกาสที่จะพ่ายแพ้ทางการเมืองมีสูงมาก
พรรคจะเสี่ยงหรือไม่ นี่คือคำถาม
การต่อสู้อีกแนวทางหนึ่ง ก็คือ การทำสงครามมวลชนผ่านไซเบอร์ หรือไซเบอร์ วอร์แฟร์ อย่างที่ปูทางให้เห็น จากการเปิดตัวแคมเปญ “อยู่ ไม่ เป็น”
ก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
เพราะพรรคอนาคตใหม่ก็ถนัดแนวทางนี้
ซึ่งหากสามารถปลุกกระแสผ่านไซเบอร์อย่างมีน้ำหนัก จะถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่น่าสนใจ
จะทำอย่างไร ทำจริงหรือไม่ คงต้องติดตาม
แต่นาทีนี้ดูเหมือน
ก็ชี้ชัดว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่งอมืองอเท้า “ถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียวอีกแล้ว”