ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / จตุรมิตร: สุภาพบุรุษ กับการแจกกล้วย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

งานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “จตุรมิตร” ที่กำลังจะเริ่มระเบิดแข้งกันเป็นครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 16-23 พฤศจิกายนนี้ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2507 โดยความคิดริเริ่มของอาจารย์โปร่ง ส่งแสงเติม อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กับอาจารย์อารีย์ เสมประสาท อาจารย์ใหญ่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

ทั้งสองท่านได้มาขอความร่วมมือกับอาจารย์บุญอวบ บูรณะบุตร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และอาจารย์บรรณา ชโนดม อาจารย์ใหญ่ของอัสสัมชัญ ในการที่จะร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทั้ง 4 สถาบันขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์ และนักเรียนทุกฝ่าย

โดยในช่วงแรกก็แข่งกันเป็นประจำทุกปีที่สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย จะมีเว้นวรรคบ้างในบางปีด้วยสาเหตุต่างๆ กันไป เช่นว่า สนามกีฬาไม่ว่าง หรือสภาวะทางเศรษฐกิจการเมืองไม่เอื้ออำนวย เป็นต้น

จนกระทั่งเมื่อหลังการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรฯ ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ.2528 ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ได้ตกลงกันว่าถ้ามีการแข่งขันทุกปีอาจทำให้สิ้นเปลือง แต่ถ้าเว้นปีไปก็เกรงว่าการแข่งขันฟุตบอลจะขาดช่วง

จึงเปลี่ยนให้มีการจัดการแข่งขันฯ แบบปีเว้นปี โดยปีที่ไม่มีการแข่งขันให้จัดการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรเหย้า-เยือนขึ้น ซึ่งเป็นการแข่งขันโดยใช้สนามภายในโรงเรียนเท่านั้น

ดังนั้นประเพณีแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรฯ ครั้งที่ 14 จึงจัดขึ้นในปี พ.ศ.2530 และจัดขึ้นสองปีต่อหนึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ จะมีก็แต่ครั้งที่ 26 ซึ่งก็คือครั้งล่าสุดที่จัดอยู่ในช่วงขณะนี้นี่แหละครับที่กระเถิบถ่างออกเป็น 3 ปี ด้วยพิษของอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปีก่อนหน้า (กราบขอบพระคุณงามๆ สำหรับข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

แต่อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนดังระกับไฮเอนด์ของประเทศทั้ง 4 โรงเรียนนี้ อยากจะ “เชื่อมความสามัคคีของครูอาจารย์ และนักเรียนทุกฝ่าย” เพียงเท่านั้นจริงๆ หรือครับ? 

 

นักประวัติศาสตร์สกุลมาร์กซิสม์คนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลก ในยุคสมัยเราอย่าง อีริค ฮอบส์บวม (Eric Hobsbawm, พ.ศ. 2460-2555) เคยเสนอแนวคิดที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาคือ “ประเพณีประดิษฐ์” (invented tradition) ซึ่งสามารถจำกัดความอย่างง่ายๆ ว่า “ประเพณี” ต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกมนุษย์ “ประดิษฐ์” ขึ้นมา เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่แล้วการประดิษฐ์ประเพณีจำเป็นต้อง “สร้างประวัติศาสตร์” ให้เก่าแก่ และประเพณีนี้เองที่ใช้หลอมรวมคนในสังคม (ไม่ว่าจะมีหมู่เหล่าเดียว หรือหลายหมู่เหล่าก็ตาม) ให้กลายเป็นมีความรู้สึกร่วมเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ตั้งแต่ในสเกลเล็กๆ อย่างหมู่บ้าน ไปจนถึงสเกลใหญ่ๆ อย่างรัฐหรือประเทศ

และก็แน่นอนด้วยว่า ในตัวอย่างจำนวนมากมายของฮอบส์บวมนั้น ก็มีการแข่งขัน “ฟุตบอล” รวมอยู่ด้วย

ฮอบส์บวมชี้ให้เราเห็นว่า สนามฟุตบอลขนาดใหญ่ เป็นการสร้างเสริมและรองรับความเป็นรัฐชาติแบบใหม่ การที่ฟุตบอลสามารถแบ่งแยกสมาชิกในเขตพื้นที่เดียวกัน ให้กลายเป็นกลุ่มคนคนละพวก และสามารถหลอมรวมคนหลายหมู่เหล่าให้รู้สึกได้ถึงว่า ชัยชนะของผู้ยิงประตูก็คือชัยชนะของตนเอง แถมยังสามารถนำมาคุยข่มกับคนอีกพวก ที่อยู่ในชุมชนละแวกใกล้เคียงกันได้ด้วยเถอะ

มิหนำซ้ำฮอบส์บวมยังชี้ให้เห็นถึงความคลุมเครืออย่างพิเศษใส่ไข่ของฟุตบอล ที่ไม่แน่ว่าจะเป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานได้อย่างความสัมพันธ์ระหว่าง “กีฬา” ชนิดอื่นๆ กับ “ชนชั้น” ทางสังคม อย่าง กอล์ฟ เทนนิส หรือคริกเก็ต ที่แค่คิดจะเล่นก็ต้องมีเงินในกระเป๋าสตางค์อยู่ให้เพียบ

จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยที่สำหรับฮอบส์บวมแล้ว “ฟุตบอลในยุคนั้นอาจหมายถึง ชัยชนะของชนชั้นแรงงานที่มีต่อกลุ่มทุน”

(ในขณะที่ช่วงปลายชีวิตของฮอบส์บวม อาจจะมองเห็นความพ่ายแพ้ของวงการฟุตบอลอาชีพที่มีต่อกลุ่มทุน และคงแทบจะลมจับไปเลยถ้ายังมีชีวิตอยู่มาจนถึง ณ ปัจจุบันขณะ) 

 

ฮอบส์บวม ยังได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างฟุตบอลกับสถานศึกษาเอาไว้ด้วยนะครับว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว “กีฬา” ได้กลายจากความคิดเรื่องการสร้างเสริมร่างกาย (เพื่อคุณภาพของประชากรในรัฐ) ที่อริสโตเติลได้เสนอเอาไว้ตั้งแต่ยุคกรีกเฟื่องฟู มาเป็นเครื่องวัดศักดิ์ศรี ความสมน้ำสมเนื้อทางสังคมของคู่แข่ง โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาแบบที่มีคู่แข่งขันซึ่งเป็นประเพณี ที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาเสียเป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่างที่ฮอบส์บวมนำเสนอก็อย่างเช่น ประเพณีการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และประเพณีการแข่งขันกีฬาระหว่างมหาวิทยาลัยในไอวีลีค (Ivy League, คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในกลุ่มรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ คอร์แนล เยล ฮาร์วาร์ด พรินซ์ตัน บราวน์ เพนซิลเวเนีย และดาร์ทเมานท์)

ซึ่งก็สังเกตได้ว่า ประเพณีการแข่งขันกีฬาเหล่านี้ จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่เก่าแก่ และมีชื่อเสียงเป็นสำคัญ

“จตุรมิตรสามัคคี” ก็เป็นงานประเพณี และก็เป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันการศึกษา แถมยังเป็นโรงเรียนเก่าแก่ ที่ต่างก็มีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ดังนั้นหากเรามองผ่านกรอบแว่นตาอันเดียวกันกับของฮอบส์บวมแล้ว ประเพณีการแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรก็จะเต็มไปด้วยอะไรที่เรียกว่า “ชนชั้น”

และก็เป็นเพราะความเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นมาจาก “ชนชั้น” นี่แหละครับ ที่ทำให้ฟุตบอลจตุรมิตรฯ เต็มไปด้วยธรรมเนียม และจารีตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปรอักษร เพลงเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์ และอีกให้เพียบธรรมเนียมในการเชียร์

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ในธรรมเนียมการเชียร์ฟุตบอลจตุรมิตรนั้น ทางผู้จัด (ก็บรรดาโรงเรียนทั้ง 4 แห่งนั่นแหละ) มักจะเน้นย้ำความเป็น “สุภาพบุรุษ” ทั้งในการแข่งขัน และโดยเฉพาะในการเชียร์

เราจึงมักได้ยินเสียงประกาศ ห้ามไม่ให้แจกกล้วย หรืออะไรเทือกๆ นั้นในสนามแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรอยู่บ่อยๆ

(แน่นอนว่า เมื่อทั้งแพคโฟร์ก็ล้วนแต่เป็นโรงเรียนระดับไฮเอนด์ขนาดนี้ แล้วจะปล่อยให้เด็กนักเรียนในสังกัดของตนเองตะโกนแหกปากเชียร์ไปเรื่อยเปื่อยแบบไพร่ๆ จนเสียลุคของโรงเรียนได้อย่างไรกัน?) 

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว อะไรทำนองนี้ก็ดูขัดกันกับรากเหง้าของฟุตบอลสิ้นดี เพราะต้นกำเนิดของฟุตบอลสมัยใหม่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้น ก็คืออะไรที่เป็นคู่ตรงข้ามกับความเป็น “สุภาพบุรุษ” นี่แหละ

พยานปากเอกก็คือ เอกสารจากเกาะอังกฤษในช่วงระหว่าง พ.ศ.1850-1950 บางชิ้นเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า “กีฬาชนบท” ที่กลิ้งลูกบอลขนาดใหญ่ไปด้วยเท้า ซึ่งเป็นกีฬาที่เถื่อนถ่อย ไร้ความสง่างามยิ่งกว่าการละเล่นใดๆ แถมการแข่งขันจะดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะมีผู้เล่นบาดเจ็บ หรือเกิดความสูญเสียใดๆ ขึ้นเท่านั้น

จึงไม่น่าแปลกอะไรเลยนะครับ ที่ในหลายยุค หลายสมัย กษัตริย์ของอังกฤษจะมีพระราชโองการห้ามเล่นกีฬาชนิดนี้มันอยู่บ่อยครั้ง ก็ในเมื่อมันไม่ใช่กีฬาสำหรับ “ผู้ดี” หรือ “สุภาพบุรุษ”

(ยังมีบทบัญญัติห้ามเล่นกีฬาที่ว่าของแต่ละเมืองเป็นการเฉพาะด้วย น่าสนใจที่สองในบรรดาเมืองเหล่านั้นคือ เมกกะของลูกหนังในปัจจุบันอย่าง แมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูล)

 

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม กีฬาประเภทนี้กลับถูกนำมาเล่นกันในโรงเรียนเอกชนชั้นสูง ของอังกฤษ ในช่วงก่อน พ.ศ.2350 เพื่อใช้ในการสร้างเสริมความเป็นชาย และดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศ กับการประกอบอัตกามกิจ (ใช่ครับใช่ ไทยเราไม่ใช่ประเทศแรกที่บอกกับวัยรุ่นว่าถ้ามีความต้องการทางเพศ ก็ให้ไปเตะฟุตบอล!)

ดังนั้นการแข่งขัน “ฟุตบอล” ในโรงเรียนค่าเทอมแพงเหล่านี้ (ซึ่งจะเป็นที่มาของประเพณีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันการศึกษา และเลยเถิดไปถึงการก่อตั้ง FA หรือสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ที่ดูแลการแข่งขันฟุตบอลอาชีพมาจนกระทั่งทุกวันนี้ในที่สุด) จึงเป็นเรื่องของการปลดปล่อย และความรุนแรง ที่อัดอั้นมาจากธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่เคร่งครัดในสถานศึกษามากระเบียบ ควบด้วยสารพัดพิธีการเหล่านั้นนั่นเอง

คิดหรือครับว่า ตั้งแต่ในยุคเริ่มแรกมาจนกระทั่งบัดนี้ ของการแข่งฟุตบอลประเพณีเหล่านี้ พวกฝรั่งในโรงเรียนผู้ดีเขาจะไม่แจก “ฟัก” กันให้ว่อนสนาม? (ลองนึกภาพการนั่งเชียร์ฟุตบอลกันแบบติ๋มๆ บนอัฒจันทร์ดูก็แล้วกันว่า มันจะน่าสนุกชวนให้เข้าไปเชียร์กันที่ตรงไหน?) มีให้เก็บฟรีกันเป็นเข่ง พอๆ กับกล้วยในสนามศุภชลาศัยตอนงานบอลจตุรมิตรนั่นแหละ เพราะมันเป็นเรื่องการปลดปล่อย และความรุนแรง เพื่อสร้างเสริมความเป็นชาย และดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศ กับการประกอบอัตกามกิจ

เอาเข้าจริงแล้ว ความเป็น “สุภาพบุรุษ” ที่จะแสดงออกมาได้ในงานประเพณีฟุตบอลแบบนี้ ซึ่งก็หมายรวมถึงงานจตุรมิตรสามัคคี จึงเป็นเรื่องของการปลดปล่อย และควบคุมความรุนแรงที่ตั้งอยู่ในกฎกติกาของการแข่งขันฟุตบอล รวมถึงการจบเกมในสนาม (ไม่ใช่บอลแพ้ คนไม่แพ้) มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการแจกกล้วย