เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / Official Secrets เรื่องจริงที่ท้าทาย

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

Official Secrets เรื่องจริงที่ท้าทาย

 

เป็นเรื่องของความท้าทายอย่างมากถึงมากที่สุด

เป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจระหว่าง “ความถูกต้อง” กับ “ความเสี่ยงภัยของตนเอง”

คำถามคือ ถ้าเป็นเรา เราจะตัดสินใจอย่างไร?

นี่คือแก่นของภาพยนตร์เรื่อง Official Secrets ที่จะขอเขียนถึงในฉบับนี้ ซึ่งสร้างจากหนังสือเรื่อง The Spy Who Tried to Stop the War

 

เป็นเรื่องจริงของ แคทธารีน กัน สาวชาวอังกฤษที่กล้าเล่นกับของร้อนแรงระดับประเทศ และไต่เป็นเรื่องระดับโลกได้เลยทีเดียว

เธอเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการหางานทำ มีชีวิตครอบครัวอบอุ่นแบบคนปกติธรรมดา สิ่งที่เป็นประสบการณ์ที่ติดตัวเธอมาคือเรื่องของ “ภาษา” เธอสามารถสื่อสารภาษาจีนได้ เพราะตอนเด็กเคยเติบโตในประเทศแถบเอเชียมาก่อน และงานที่เธอทำก็ได้ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

นั่นก็คือ การเป็นผู้ถอดข้อมูลการติดต่อต่างๆ ที่เป็นเรื่องราวระดับประเทศ แล้วสรุปเป็นข้อมูลที่ “รัฐบาลควรรู้ และอาจจะสนใจ”

ใช่แล้ว..เธอทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษ และเป็นงานที่เป็นระดับ “ความลับ” เสียด้วย

องค์กรนี้มีชื่อว่า Government Communication Center Head Quarter เรียกย่อๆ ว่า GCHQ

และผู้ที่ทำงานนี้ก็ต้องยอมรับในเงื่อนไขอันแข็งแรงในชั้นท็อปซีเคร็ต ที่ห้ามเผยแพร่ บอกต่อกับคนอื่น ถึงข้อมูลที่ตนทำงาน

หากใครฝ่าฝืนนั้นคือโทษที่อาจรุนแรงถึงขั้น “กบฏ” ทีเดียว

 

ลักษณะงานของเธอดูเรียบง่ายเหลือเกิน คือนั่งที่โต๊ะประจำของตนเอง เปิดคอม และสวมหูฟังเพื่อฟังไฟล์เสียงที่ส่วนกลางส่งให้มา ฟัง ฟัง ฟัง จับประเด็น และสรุปเป็นข้อมูลควรรู้ส่งให้หน่วยงานของรัฐบาลอีกที

ไฟล์เสียงเหล่านี้มาจากไหน แน่นอน ที่ย่อมมาจากการดักฟัง ลักลอบเก็บมา ซึ่งไม่ยากเลยสำหรับเทคโนโลยีในยุคนี้ และแน่นอน ที่ไม่ได้มีแต่ประเทศอังกฤษที่ทำ แต่ประเทศมหาอำนาจ และมีอำนาจมากน้อยทั้งหลายก็ต่างสร้างสิ่งที่ปลอบใจตนเองว่าเพื่อ “ความมั่นคงของประเทศ” กันทั้งนั้น

และแคทธารีนก็มาสะดุดใจกับอีเมลฉบับหนึ่งที่ส่งเข้ามาในกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างเธอและเพื่อนๆ

เป็นอีเมลที่บอกถึงความตั้งใจระหว่างอเมริกากับอังกฤษที่เป็นพันธมิตรกัน ในอันที่จะสร้างความชอบธรรมในการบุกประเทศอิรัก โดยการขอเสียงโหวตจากสมาชิกประเทศของสหประชาชาติว่า “เห็นชอบ” เพื่อเป็นตราแสตมป์ให้เคลื่อนทัพได้

หากการขอเสียงโหวตเป็นไปด้วยความสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักตามความเป็นจริงก็คงไม่เป็นไร แต่ที่แคทธารีนสะดุดใจก็คือ เป็นการดักฟังหาข้อมูลเพื่อแบล๊กเมล์ประเทศอื่นๆ เพื่อให้ออกเสียงสนับสนุนตน

ตอนนั้นเค้าลางของสงครามในการบุกประเทศอิรักก็เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว แต่อเมริกาและอังกฤษยังไม่กล้าขยับ เพราะหากบุกโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสหประชาชาติ ก็จะกลายเป็น “ผู้ร้าย” ขึ้นมาทันที

สิ่งที่แคทธารีนรับไม่ได้คือ “ผลของสงคราม” ที่ผู้เคราะห์ร้ายก็คือประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ของอิรักนั่นเอง พวกเขาถูกจับเป็นหมากในกระดาน และต้องเอาชีวิตเข้าสังเวย ผลพวงของการสู้รบคือ ความหายนะของประเทศที่ถูกยัดเยียดให้เป็น “ผู้ร้าย” เกินความเป็นจริง

แล้วผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอทำอะไรดีกับเรื่องนี้?

 

เธอลอบนำข้อความจากอีเมลนั้นติดตัวออกไป ซึ่งเท่ากับฝ่าฝืนกฎเหล็กขององค์กร

เธอนำไปหาคนรู้จักที่เป็นนักต่อต้านสงครามที่เธอไว้ใจ เพื่อให้ช่วยส่งต่อไปยังสื่อมวลชน เผื่อจะมีใคร “ฉุกคิดสงสัย” และค้นหาความจริงเรื่องนี้ต่อ

เธอหวังเพียงแค่ ให้มีคนช่วยระงับไม่ให้เกิดสงครามขึ้นมา ซึ่งผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอคงทำได้แค่นี้…ก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ และไม่ทำอะไรเลย

เรื่องราวต่อไปคงไม่ลงรายละเอียด เพราะสุดท้ายสงครามบุกอิรักโดยประเทศพันธมิตรระหว่างอเมริกากับอังกฤษก็เกิดขึ้นตามประวัติศาสตร์ที่เรารู้กันดีแล้ว และผลพวงของมันก็เป็นอย่างที่ทราบ และตามที่แคทธารีนกังวลเลยคือ อาวุธชีวภาพอันร้ายแรงตามที่อเมริกาอ้าง มันไม่มีอยู่จริง

แต่นั่นก็หลังจากที่ประชาชนหลายแสนคนของอิรักต้องจบชีวิตลง ประเทศเสียหาย และยากต่อการฟื้นฟูเยียวยา ไม่นับจำนวนของทหารนับพันที่ต้องตายลงด้วย

แล้วเกิดอะไรขึ้นกับแคทธารีน

 

หนังสือพิมพ์ The Observer ของอังกฤษเล่นเรื่องนี้ขึ้นพาดหัวข่าวจริงๆ แต่เป็นการพาดโดยเอาข้อความจากอีเมลนั้นขึ้นแสดงตรงๆ นั่นเท่ากับว่า องค์กรที่เธอทำงานอยู่ก็รู้เลยว่าข้างในมี “หนอนบ่อนไส้” ที่ต้องหาให้เจอ เพราะนั่นคือการกระทำที่เป็นกบฏต่อประเทศทีเดียว

ขบวนการล่าแม่มดจึงเกิดขึ้น

นับแต่นาทีที่ข่าวถูกตีพิมพ์ ชีวิตง่ายๆ ของเธอและสามีก็เปลี่ยนไปทันที ความกดดันต่างๆ ถาโถมเข้ามา จนในที่สุดผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอก็เดินเข้าไปบอกเจ้าหน้าที่สอบสวนว่า

“ฉันเป็นคนทำเอง”

นั่นคือการประกาศการเป็นศัตรูกับรัฐบาลอังกฤษโดยตรง เป็นผู้หญิงธรรมดาที่เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงขนาดใหญ่ โทษหนักสุดของเธอคือ “ติดคุก”

ในหนังแสดงให้เห็นถึงความอยุติธรรมต่างๆ ของคนที่มีอำนาจกระทำต่อพลเมืองของตน และเผอิญเป็นพลเมืองที่ไม่ยอมจำนนต่อความไม่ถูกต้อง และทนไม่ได้ที่จะเห็นคนบริสุทธิ์ต้องสังเวยชีวิตลงเพื่อ “อำนาจ” และ “ผลประโยชน์” ของรัฐบาล

สุดท้ายเป็นอย่างไรไม่ขอเล่า แต่หนังดีเช่นนี้เชียร์ให้ไปชมกัน ทราบว่ามีฉายที่โรง House Samyan ที่ Samyan Mitrtown ไม่แน่ใจว่าตอนที่มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ตีพิมพ์จะยังยืนโรงอยู่ไหม

สิ่งหนึ่งที่เมื่อหนังจบลงแล้วต้อง “อึ้ง” ในหัวสมองคือ

มีกี่เหตุการณ์ กี่เรื่องราวกัน ที่คนชั้นปกครองที่มีอำนาจในแต่ละประเทศหลอกลวงประชาชนของตน รวมทั้งโกหกโลกกันเป็นขบวนการเช่นนี้

และจะมีอีกกี่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอีก เพราะความโลภและความต้องการอำนาจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาล”

เรื่องราวทำนองนี้ในประเทศไทยของเราก็มี

คนที่กล้าหาญอย่างแคทธารีนจะมีสักกี่คนกัน พวกเขาและเธอจะทดท้อ สิ้นหวังลงไปก่อนรึเปล่า น่ากังวลเสียจริง

หากมีคนอย่าง สุดา วรรณี สุชาติ ประสงค์ หรือ ด.ช.มาโนช กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมเยี่ยงนี้ คนอย่างเราๆ ควรจะช่วยกันสนับสนุน ปกป้อง และหาหนทางตามวิถีของตนเอง เพื่อไม่ให้ “คนโกง” ได้ทำเรื่องร้ายๆ กับเรา กับประเทศของเราได้

 

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้หมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

พระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ในปี 2512

ปีนี้ พ.ศ.2562 แล้ว ห่างมาถึง 50 ปี แต่พระบรมราโชวาทนี้ก็ยังใช้ได้จริง

ประชาชนธรรมดาอย่างเรา มาช่วยกันคัดเลือกคนปกครองประเทศที่เหมาะสมกันเถิด

แว่วๆ ว่าจะมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

ส่วนระดับชาตินั้นยังไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน แม้แต่อับดุลที่ว่ารู้ทุกอย่างก็ยังส่ายหน้าไม่รู้ จบข่าว..