สังคมไทยกับค่านิยมบริโภค “ของปลอม” จาก “สินค้าแฟชั่น” ถึงดีวีดี “โน้ส อุดม”

“สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์” เป็นปัญหาเรื้อรังในไทย จนถูกมองว่ากลายเป็นหนึ่งใน “ภาพจำ” ของชาวต่างชาติที่มีต่อเมืองไทย หรือแม้แต่ “ภาพจำ” สำหรับชาวไทยด้วยกันเอง

แม้กฎหมายไทยมีบทลงโทษต่อผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างชัดเจน แต่จนถึงปัจจุบัน สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ยังสามารถพบเห็นได้ตามท้องตลาดทั่วไป เสมือนไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยไปแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 “บรูโน มาร์ส” ศิลปินชื่อดังชาวอเมริกันโพสต์รูปภาพตัวเองถือแผ่นซีดีเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ ณ แหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวที่มีผู้ติดตามทั่วโลก พร้อมข้อความและแฮชแท็กว่า “WhatayaGonnaDo” ซึ่งแปลว่า “คุณจะทำอย่างไร?”

จนกลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุมในโลกโซเชียล

ยิ่งไปกว่านั้น กลางปี 2558 สำนักข่าว “ซีเอ็นเอ็น” จากสหรัฐอเมริกา ยังนำเสนอเรื่องราวการขายสินค้าปลอมอย่างเปิดเผยในไทย จนทำให้ถูกพูดถึงกันทั่วโลกอีกครั้ง

โดยในปี 2558 มียอดสถิติจับกุมผู้กระทำผิดในกรณีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 847 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10 เปอร์เซ็นต์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 170 ล้านบาท

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ ระเบียบวิธีการจับกุมที่มักสร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่ หรือกลายเป็นช่องโหว่ให้ผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสในการสร้างสถานการณ์

เช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พยายามบุกจับผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งถือเป็นแหล่งการค้าขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย แต่เจอกลุ่มผู้ค้ารวมตัวต่อต้านจนเจ้าหน้าที่ต้องล่าถอยในปฏิบัติการครั้งแรก

 

“นายทศพล ทังสุบุตร” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ปัญหาการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยมี 2 ส่วน คือ ขายตามท้องถนน และขายบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที เนื่องจากกฎหมายไทยกำหนดว่าสามารถเอาผิดได้ ก็ต่อเมื่อผู้เสียหายต้องการจะเอาผิดเท่านั้น

“การบังคับใช้กฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีบทบาทในการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดีเอสไอ กับศุลกากร เรื่องเบาะแส ก็ตามหาเจ้าของสิทธิ์เพื่อที่จะเริ่มต้นดำเนินคดี ก็เป็นความร่วมมือ ก็ได้รับความร่วมมือกันมาโดยตลอด

“จะทำมากทำน้อยในช่วงไหน ก็มีปัญหาเหมือนกันว่าตำรวจมีภาระเยอะหลายด้าน ก็ต้องจัดลำดับความเร่งด่วนหรือความจริงจังของปัญหา” นายทศพลอธิบาย

สำหรับการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ให้หมดไปจากประเทศไทยนั้น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน จนทำให้ผู้คนเคยชินกับการอยู่คู่กับสินค้าเหล่านี้

และทางการเคยพยายามดำเนินการขั้นเด็ดขาดมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผู้ผลิตมีทั้งชาวต่างชาติ และคนไทยปนกันไป โดยจัดทำกันเป็นเครือข่าย จึงทำให้ยากต่อการหาแหล่งที่มาของสินค้านั้นๆ

“ที่ที่ผลิตตราปลอม เครื่องหมายการค้าปลอม เขาจะเก็บแค่เครื่องหมายการค้าปลอม แต่สินค้ามันไม่ได้อยู่ตรงที่นั้น มันไปอยู่อีกที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ตอนมันแยกกันอยู่มันไม่มีความผิด แต่พอมันมารวมกันแล้วมันผิด

“ดังนั้น เขาก็จะมีกระบวนการ เวลาสมัยก่อนจะพยายามไปปราบไปจับตามโรงงานอะไรอย่างนี้ ก็ยังทำอยู่ แต่ว่ามันก็ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะว่าเขาจะแยกหน้าที่กัน ทำงานกันในลักษณะเครือข่าย ก็มีการดูแลกัน ถ้าถูกจับมีคนมาเสียค่าปรับให้” นายทศพลกล่าว

 

คําถามสำคัญคือเมื่อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ทำไมกลุ่มผู้ค้าถึงกล้าผลิตและนำมาขาย? โดยเหล่าพ่อค้าส่วนใหญ่ให้เหตุผลเดียวกันว่า เพราะความต้องการของผู้บริโภค

“ลูกค้ามีหลายกลุ่ม ต่างชาติด้วย คนไทยด้วย ก็ขายแบ่งๆ กัน ส่วนใหญ่ที่ขายก็จะเป็น Adidas, Kitty เติมของอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ยอดขายตกแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท” ผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์รายหนึ่งให้ข้อมูล

แม้ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่จะให้เหตุผลมาตลอดว่าทำไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ หรืออีกหลากหลายเหตุผล แต่สิ่งที่ทำให้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อยู่คู่กับสังคมไทย และยากต่อการกำจัดให้หมดไป คือ การขายสินค้าเหล่านี้ถือเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

“กฎหมายกำหนดว่าเป็นกฎหมายอันยอมความได้ มันก็มีประเด็นอยู่นิดนึงเหมือนกันว่า พอดำเนินคดีไปแล้วมันก็มีค่าใช้จ่าย เจ้าของลิขสิทธิ์ก็คิดว่าถ้าเผื่อผู้เสียหายมายอมความด้วยการชดใช้ค่าเสียหายกัน ก็ยุติเลิกคดีกันไป มันก็จะมีอันนี้อยู่เหมือนกัน

“ซึ่งเราก็พยายามเชิญชวนเจ้าของสิทธิ์ว่าถ้าคุณเริ่มดำเนินคดีไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของสิทธิ์ที่ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการสืบสวน เราก็บอกต้องตกลงกันก่อนว่าร่วมดำเนินการกันแล้วอย่าไปยอมความกันกลางคัน ให้คดีเดินไปจนถึงที่สุด มิฉะนั้น ศาลก็ไม่ได้ตัดสินคดีให้ผู้ทำผิดหลาบจำ” อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว

ขณะเดียวกัน ประโยคที่ว่า “หากไม่มีคนซื้อก็ไม่มีคนขาย” ก็ถูกนำมาตั้งเป็นคำถามมากขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อลองสอบถามความเห็นจากกลุ่มประชาชน แต่ละคนต่างให้ความเห็นที่แตกต่างกันไป บางคนมองว่าสินค้าเหล่านี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้มีงบฯ จำกัด แต่ชื่นชอบในสินค้านั้นๆ ขณะที่บางคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

“มันมีปัจจัยสูงในเรื่องทางด้านราคาอย่างนี้ บางทีสมมติว่าเราซื้อมาใช้มาใส่แค่ในชีวิตประจำวันใกล้ๆ บ้าน หรืออะไรอย่างนี้ ใช้แล้วทิ้งเลย แบบว่าเรารู้สึกแค่ว่า เฮ้ย! มันก็เหมือนกับว่าเราชอบแค่รูปทรง แค่ลักษณะมันเฉยๆ แต่เราไม่ต้องทะนุถนอมมันมาก หรือไม่ต้องแบบมานั่งคิดว่ามันจะพังเมื่อไหร่ (แต่) ซื้อมาใช้บ้าง ซื้อเพื่อให้รู้ว่าของถูกมันก็อาจจะดีรึเปล่า

“แต่บางตัวที่เราคิดว่ามันไม่ดีเราก็ไม่ซื้อดีกว่า แต่ถ้าซื้อของจริงเนี่ยมันจะได้คุณค่าทางใจเยอะกว่าของก๊อบ ในฐานะที่เรากำลังจะทำแบรนด์ ถ้าสมมติว่าเราเสพสิ่งที่มันไม่ใช่ของจริง ก็คิดว่ามันไม่โอเคกับคนที่เขาอยากจะขายสินค้าที่มันเป็นของแท้” ผู้เคยใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์รายหนึ่ง อธิบาย

 

เมื่อไม่นานมานี้ “อีวีเอส ไทยแลนด์” บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นซีดี-ดีวีดี ได้เปิดเผยเรื่องราวการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง

หลังจากบริษัทซื้อลิขสิทธิ์บันทึกการแสดงสด “หมู่ วาไรตี้โชว์ อุดมและผองเพื่อน” ของ “โน้ส-อุดม แต้พานิช” มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท

แต่เมื่อผลสรุปยอดรวมจากการจัดจำหน่ายแผ่นดีวีดีออกมาในวันแรก ซึ่งเป็นวันที่ควรมียอดขายมากที่สุด ปรากฏว่ากลับมียอดขายไม่ถึง 1 พันแผ่น เนื่องจากมีเพจเฟซบุ๊กจำนวนมากนำภาพที่บันทึกในแผ่นดีวีดีไป “ไลฟ์สด” เผยแพร่ ตั้งแต่วันแรกของการออกจำหน่าย

“นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ” นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในมุมกฎหมายผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดได้ทันที

จากกรณีนี้ สิ่งที่ถูกละเมิดคือ การบันทึกการแสดง ซึ่งเนื้อหาในกฎหมายจะมีสิทธินักแสดง, สิ่งบันทึกเสียง และภาพ รวมถึงงานนาฏกรรมต่างๆ ที่อยู่ในการแสดง แต่ต้องดูก่อนว่าลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายซื้อมารวมถึงสิทธิ์ในการดำเนินคดีด้วยหรือไม่ หากไม่มีต้องไปขอจากคนจัดงานเพื่อทำการฟ้อง

นายไพบูลย์ชี้ว่าคนส่วนใหญ่อาจคิดว่าไม่สามารถติดตามคนผิดจากเฟซบุ๊กได้ แต่ความจริงแล้วสามารถติดตามได้ เนื่องจากการไลฟ์จะมีการแจ้ง “ไอพี” อยู่ และอีกประการหนึ่งคือหากเพจนั้นมีการซื้อโฆษณากับทางเฟซบุ๊กก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าเงินโอนมาจากไหน

อีกประการหนึ่ง เมื่อผู้เสียหายแจ้งรีพอร์ตไปยังเฟซบุ๊กแล้ว แต่ทางเฟซบุ๊กไม่ลบวิดีโอนั้นออกไป ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องเฟซบุ๊กเพื่อเรียกค่าเสียหายในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิดได้

 

“จริงๆ ถ้าเขามี Notice (การแจ้ง) ไปยังเฟซบุ๊ก ตัวแทนคือเฟซบุ๊กในประเทศไทย แล้วเฟซบุ๊กประเทศไทยหรือเฟซบุ๊กเมืองนอกไม่ลบ เขาสามารถฟ้องเฟซบุ๊กในฐานะผู้สนับสนุนได้ ซึ่งจะได้เงินมากกว่ากรณีฟ้องคนไทยด้วยซ้ำ แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเฟซบุ๊กได้รับหนังสือ Notice แล้ว แต่ไม่ลบออก

“ตรงนี้ก็สามารถฟ้องเฟซบุ๊กได้เหมือนกับเคสที่ผมเคยทำให้สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ ที่มีการฟ้องกูเกิลกับฟ้องตัวแอปเปิล ก็เป็นลักษณะเดียวกันคือมีการส่ง Notice แล้ว ปรากฏว่าไม่ลบข้อมูลดังกล่าวออก ตรงนั้นก็เป็นเรื่องที่เขาต้องสามารถที่จะขอดำเนินคดีได้

“แล้วจริงๆ เขาทำเป็นรูปคดีแล้ว เขาสามารถขอข้อมูลจากเฟซบุ๊กได้ว่าคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์โดยใช้เฟซบุ๊กไลฟ์เป็นใคร เฟซบุ๊กก็จะให้ความร่วมมือ ในบางกรณีก็สามารถตามตัวได้” นายไพบูลย์ อธิบายขั้นตอน

สำหรับผู้เสียหาย สามารถฟ้องร้องได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ทั้งทางแพ่งและอาญา โดยใช้มาตรา 27 ซึ่งว่าด้วยการห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลง และห้ามเผยแพร่ต่อสาธารณชน

และถ้าในอนาคตก็จะมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เข้ามาอีก 1 ตัว โดยในมาตรา 20 สามารถขอปิดเฟซบุ๊กไลฟ์ที่มีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา แต่ถ้าจะฟ้องคดีอาญา ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใน 3 เดือน ไม่เช่นนั้นจะขาดอายุความ

การละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ทั้งเปิดเพลง, สินค้า และการเผยแพร่การแสดงต่างๆ มีส่วนคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น เนื่องจากการจะผลิตอะไรออกมาแต่ละครั้งล้วนมีต้นทุนด้วยกันทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่เสียหายมากที่สุดก็คือคนผลิต

อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของผลงานโดยเฉพาะในแง่ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่ามหาศาล แต่อีกแง่มุมหนึ่ง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคบางคน

ดังที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อว่า หากต้องการให้สิ่งเหล่านี้หมดไปจากประเทศไทย ก็ต้องช่วยกันเริ่มต้นที่การเปลี่ยนพฤติกรรมของฝ่ายผู้เลือกซื้อก่อน เพราะหากไม่มีผู้ซื้อ ผู้ขายก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้