สูตรปลดล็อก ปรับโฉมตำรวจไทย เทียบนานาชาติ มุมมอง “สีกากีนักวิชาการรุ่นใหม่”

สัญญาณเคาะระฆัง เกม “ปฏิรูปตำรวจ” เดินหน้าอีกยก

ยกนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กำกับด้วยตัวเอง ทั้งในบทบาท “ผู้นำรัฐบาล” และ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)”

ประเด็นการปฏิรูปตำรวจโดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย ถูกหยิบยกเป็นวาระ คสช.

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นการปฏิรูปตำรวจ ถูกตีปี๊บครั้งแล้วครั้งเล่า การรัฐประหารครั้งนี้ชูธง “ปฏิรูปประเทศ” ที่หนึ่งในนั้นคือ “ปฏิรูปตำรวจ”

ทว่า การปรับโฉมองค์กรสีกากีสู่ความคาดหวังของประชาชนยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมนัก

โล่เงิน” สัมภาษณ์พิเศษ “ผศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล” นายตำรวจหนุ่ม ที่ผันตัวเองจากภาคสนาม สู่ภาควิชาการ

ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

และเป็นหนึ่งในคณะทำงานปฏิรูปตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวคิดการปรับโฉมตำรวจ จากมุมมองของตำรวจผู้ศึกษาระบบงานตำรวจจากนานาอารยประเทศ

พ.ต.ท.กฤษณพงค์ เปิดฉากว่า ปัญหาขององค์กรตำรวจ เริ่มจากด้านโครงสร้าง แม้มีการปรับแก้กฎหมายโดย คสช. แต่ตำรวจยังอยู่ภายใต้การเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายการเมือง มีอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

“เปลาะแรก ก็อยู่กับการเมือง ดูที่มาตรฐานสากล อังกฤษ อเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย ไม่เป็นรูปแบบนี้ ตำรวจเยอรมันได้รับการจัดอันดับเป็นที่ยอมรับของประชาชนลำดับ 2 ของประเทศ ในอังกฤษผลโพลล่าสุด พบว่ามากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ประชาชนนิยมชมชอบตำรวจ เพราะมีการกระจายอำนาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ของเราผู้บริหารประเทศอาจมองว่าความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ อำนาจตรงนี้จึงยังผูกกับรัฐบาล กระจายออกไปไม่ได้ ตรงนี้ชี้ไว้ ต้องศึกษากันต่อไป”

“อีกปัญหา เรื่องการบริหารงานบุคคล เส้นทางการก้าวหน้า ผมว่าองค์กรตำรวจมีคนเก่งเยอะ การแข่งขันสูง แต่คนเก่งที่อยู่ไกลผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจแต่งตั้ง แต่อยู่ใกล้ประชาชน อาจก้าวหน้าสู้คนที่เก่ง แต่อยู่ใกล้ผู้ที่มีอำนาจไม่ได้”

“ตำรวจส่วนหนึ่งอาจรู้สึกว่ามือข้างหนึ่งต้องทำงานกับประชาชน อีกมือต้องทำงานสนองผู้บังคับบัญชา แต่ใช่ว่าตำรวจส่วนใหญ่จะมีความสามารถ มีโอกาสเข้าถึง กลายเป็นปัญหาบริหารงานบุคคล ดูมาตรฐานสากลเขาทำอย่างไร เขามีระบบกระจายอำนาจ ตำรวจกลับไปทำงานใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ผู้บังคับบัญชาระดับภาค จังหวัด ใกล้ชิดเห็นผู้ใต้บังคับบัญชามากขึ้น ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน”

“หลายที่มีคณะกรรมการภาคประชาชนระดับภาค จังหวัด ที่มีสิทธิโหวต สะท้อนความคิดเห็นว่าตำรวจคนนั้นทำงานอย่างไร ควรได้รับตำแหน่งโปรโมตขึ้นหรือไม่”

อาจารย์กฤษณพงค์ เล่าว่า ประเทศอังกฤษ มีคำว่า “กิจการงานตำรวจคือความเห็นชอบของประชาชน”

หมายความว่า นโยบายใดๆ หากตำรวจทำ แต่ชาวบ้านบอกว่าเดือดร้อน ตำรวจต้องทบทวน

เช่น ตำรวจจะตั้งด่านกลางเมืองสกัดรถที่อาจมีระเบิดแอบแฝง แต่สุจริตชนร้องเรียนว่าทำไมต้องเดือดร้อน รถติดหลายกิโลเมตร

จากจุดนี้ตำรวจอังกฤษเปลี่ยนวิธีการทำงาน เอาเทคโนโลยีการข่าวมาใช้

นี่คือ ตำรวจคิด ตำรวจทำ แต่ตำรวจต้องฟังประชาชนด้วย

มองกลับมาที่บ้านเรา ถามว่าเราทำแบบไหน ถามว่าประเทศเราได้รับการสนับสนุนตรงนี้หรือไม่

ที่สำคัญตำรวจต้องได้รับการฝึกอบรม ยุทธวิธี ต้องเข้าใจปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงาน ฟังนโยบายจากข้างบน และฟังเสียงประชาชนด้วย

นี่ตอบคำถามว่าทำอย่างไรให้ประชาชนรัก ศรัทธา คือฟังว่าเขาชอบ เขาเดือดร้อนไหมกับวิธีปฏิบัติงาน ยุทธวิธีของตำรวจ

“ตำรวจรุ่นใหม่ต้องให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เหมือนทหาร มีทหารม้า ทราบราบ ตำรวจก็ควรต้องแยก สืบสวน สอบสวน จราจร”

“หมายความว่าต้องโตได้ในสายที่เชี่ยวชาญ เป็นโปรเฟสชั่นแนล ตามระบบที่ใช้ในตำรวจทั่วโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าย้ายสายงานไม่ได้ ย้ายได้แต่ไม่ใช่จากซ้ายไปขวาสุด”

“วิธีการคือสมัครใจย้ายสายงานต้องผ่านการประเมินความเหมาะสม ต้องทำข้อสอบ เก็บผลประเมิน ขณะเดียวกันประชาชนสามารถประเมินได้ด้วย”

“เช่น เป็นสายสืบสวนปราบปราม ประชาชนจะบอกว่าตำรวจคนนี้ติดตามจับกุมคดีได้ไหม ทั่วถึงเท่าเทียมหรือไม่ ไม่ใช่จับเฉพาะคดีความเสียหายของคนดัง ทุกคดีต้องได้รับความสนใจอย่างเท่าเทียมกัน แล้วความเชื่อมั่นจะกลับมาสู่ตำรวจ”

“ทุกวันนี้ระดับสถานีตำรวจขาดแคลนงบประมาณ ผมศึกษาและทำวิจัยเรื่องนี้ ถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาสามารถจ่ายโบนัส แต่ตำรวจกลับไม่มีเงินทำงาน ไม่มีเงินเติมน้ำมันรถสายตรวจ”

“ผมมองว่าเงินที่จ่ายเป็นงบประมาณรัฐบาลคือเงินของประชาชน ดังนั้น ถามว่า ระบบการจัดสรรถูกต้องหรือไม่ หลักคิดของอังกฤษ ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ ประโยคนี้เกิดขึ้นเมื่อ 200 ปีก่อน ทุกวันนี้ทั่วโลกใช้ หมายความว่า ตำรวจกับประชาชนแยกกันไม่ออก ต้องช่วยกัน”

“มองที่บ้านเรา รัฐมีงบประมาณเหลือพอที่จะจ่ายโบนัส แต่อีกหน่วยที่มีหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ไม่มีงบประมาณทำงาน จึงต้องมาดูการจัดสรรงบประมาณใหม่”

“ท้องถิ่นอาจต้องจัดสรรงบฯ ตรงนี้มาใช้ในงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม อย่างถูกระเบียบกฎหมาย เพราะนี่คืองบฯ ใช้ดูแลคนในท้องถิ่น คนที่ดูแลงบฯ ประเทศ ต้องเข้าใจมุมมองนี้ อย่ามองในแง่ทุจริตอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นทุกปัญหาแก้ไม่ได้”

พ.ต.ท.กฤษณพงค์ ชี้จุดและตั้งคำถาม

เมื่อถามว่าทำอย่างไรให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จ พ.ต.ท.กฤษณพงค์ บอกว่า ต้องอาศัยหลัก 3 p คือ

1. Political will เจตจำนงทางการเมืองต้องแน่วแน่ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจเพื่อประชาชนจริงๆ

2. Public อยากเห็นตำรวจเปลี่ยนแปลง

3. Police ตำรวจต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง

“ต้องไปเรียงลำดับว่าทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมที่สุด และต้องทำในรัฐบาลชุดนี้ แม้มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าตำรวจต้องปฏิรูป กำหนดว่าต่อไปตำรวจต้องแต่งตั้งตามอาวุโส ผมมองว่ามันยังเกาไม่ถูกที่คัน ตำรวจแต่งตั้งด้วยระบบอาวุโส เหมือนศาล อัยการ ไม่ได้ เพราะงานตำรวจเป็นอะไรที่ท้าทาย ต้องยอมรับแม้แต่คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ บอกว่าระบบราชการบ้านเราไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเราจะเอาระบบแบบนี้มาใช้อีกหรือ ผมว่าคนจะกำหนดหลักคิด กำหนดนโยบายต้องเข้าใจงานและหน้าที่ของตำรวจนะ และมีพื้นฐานวิชาการ ข้อเท็จจริงรองรับ จะคิดว่า เชื่อว่า ไม่ได้หรอก เพราะบางเรื่องลองผิดลองถูกไม่ได้ เกี่ยวพันนโยบายประเทศหลายล้านบาท ผมว่าบ้านเมืองเรามาไกลเกินกว่าจะติดหล่มความขัดแย้ง เราต้องก้าวไปด้วยกัน”

“ทำอย่างไรให้ 3 p สำเร็จ 3 อันดับแรก

1. ตำรวจต้องมีอิสระในการทำงาน การปฏิวัติสมัยปี 2549 มีการพูดว่าต้องปฏิรูปตำรวจเพราะตำรวจไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ถูกครอบงำ มาถึงยุคการปฏิรูปโดย สปท. ก็ยังนำคำนี้มาใช้ เพราะฉะนั้น ปลดล็อกตรงนี้ก่อน ถ้าตำรวจมีอิสระในการทำงาน คือต้องให้อิสระมากที่สุด ให้ใช้ดุลพินิจด้วยความเป็นธรรม เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ด้วย

2. ความพร้อมในการทำงาน ทั้งทางด้านอุปกรณ์ประจำตัว และอุปกรณ์ประจำหน่วย รวมทั้งเทคโนโลยีในการจับคนร้าย แล้วฝึกอบรมให้ตำรวจมีความรู้ มีความพร้อม ไม่ใช่ขาดแคลนทุกอย่าง งบประมาณทำงานไม่มีให้ พอขาดแคลนมันก็จะไปพันปัญหาหลายอย่าง มันกลายเป็นคำถาม ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน เพราะว่าปัญหาอุปสรรคไม่แก้ให้ แต่เราไปคาดหวังกับตำรวจ หลายครั้งตำรวจจะมีมาตรการอะไร หน่วยงานต่างๆ ก็ดักว่าทำแล้วละเมิดสิทธิ ซึ่งตำรวจสื่อสารไม่เก่ง ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำเพื่อปกป้องสุจริตชน แต่ขณะเดียวกันประชาชนต้องตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ด้วยนะ ป้องกันตำรวจที่ลุแก่อำนาจ

3. ประชาชนกับตำรวจต้องทำงานไปด้วยกัน ประชาชนสังคมไทยต้องปรับเปลี่ยนความคิด ปรับเปลี่ยนมุมมอง และประชาชนต้องปฏิรูปตัวเองด้วย ต้องรู้กฎหมายด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดกฎหมายหรือเปล่า ต้องสนับสนุน อย่าตั้งแง่”

“เราต้องการความจริงใจ จากคนในบ้านในเมือง จากผู้มีอำนาจ ต้องทำให้ตำรวจสามารถคุมปัญหาอาชญากรรมได้ ประชาชนรู้สึกปลอดภัย นั่นถือว่าปฏิรูปตำรวจสำเร็จ”

ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในทีมปฏิรูปตำรวจทิ้งท้าย