รายงานพิเศษ : ติดคุกซ้ำ หลุมดำกระบวนการยุติธรรมไทย

เมื่อมีข่าว-เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งใด เรามักพบเรื่องซ้ำซาก ปัญหาเดิมๆ ในสังคมไทย คือผู้ต้องหาที่ออกมาก่อเหตุ มักมีประวัติเป็นคนที่เคยต้องโทษมาแล้วทั้งสิ้น

ทำให้ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้มีชื่อเสียงในสังคมออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา

(คลิปรายงานพิเศษ)

บางส่วนเสนอให้มีการบังคับใช้ “โทษประหารชีวิต” แบบไม่มีสิทธิลดหย่อนโทษ เพราะกลัวว่าเมื่อกระบวนการต่างๆ ดำเนินไปถึงที่สุดแล้ว ผู้ต้องหารายเดิมจะออกมาก่อเหตุอีก

ดังกรณีล่าสุด ที่มีคนร้ายฆ่าปาดคอชิงทรัพย์ นายวศิน เหลืองแจ่ม อดีตพนักงานบริษัทเกี่ยวกับการบินและบัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อชิงโทรศัพท์ไอโฟน

โดยครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียชีวิต ต่างแสดงความกังวลกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย เพราะมองว่ากระบวนการลดโทษและกระบวนขัดเกลามีปัญหาอยู่ จึงเป็นห่วงว่ากรณีแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกกับครอบครัวอื่นๆ

ทางกลุ่มเพื่อนและญาติจึงได้ร่วมกันสร้างเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ชื่อ “Fight For Mapin” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของผู้ตาย เพื่อต้องการให้สังคมเกิดความตื่นตัวร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง

เพจดังกล่าวได้ล่ารายชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ผลักดันการแก้ไขกฎหมายไม่ให้มีการลดโทษแก่ผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุซ้ำซาก

เพื่อป้องกันเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องมาเสียชีวิตจากน้ำมือผู้ที่เคยติดคุกแล้วออกมาก่อเหตุร้ายซ้ำ

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ที่รวบรวมสถิตินักโทษเด็ดขาดไว้เมื่อปี 2559 โดยแยกตามจำนวนครั้งที่ต้องโทษ

พบว่ามีผู้ต้องขังที่ต้องโทษครั้งแรก รวม 199,570 คน แต่ผู้ที่ต้องโทษตั้งแต่ 2-5 ครั้งขึ้นไป มีสูงถึง 62,117 คน แบ่งเป็นชาย 55,574 คน หญิง 6,543 คน คิดเป็นร้อยละ 23.74

หรือถ้ากล่าวให้เห็นภาพง่ายๆ คือเกือบ 1 ใน 4 ของผู้ต้องขังทั้งหมดมักก่อเหตุซ้ำทั้งสิ้น

นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เผยว่า ผู้ต้องขังที่ต้องโทษซ้ำส่วนใหญ่จะเป็นคดีเล็กน้อยหรือคดียาเสพติด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าสิ่งที่สังคมยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่คือ “มาตรการแก้ไข” ซึ่งทางกรมพยายามปรับปรุงจุดนี้อยู่

โดยปีนี้จะนำวิธีการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังเป็นรายบุคคลมาใช้ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีการแบ่งจำแนกผู้ต้องขังเป็นรายกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหา เพราะถ้าไม่ดูเป็นรายบุคคล จะทำให้ไม่ทราบปัญหาเฉพาะของแต่ละคน

จากนี้ถ้าเราดูประวัติ ดูการศึกษา นำข้อมูลภูมิหลัง และสาเหตุการประกอบอาชญากรรมมาวิเคราะห์ ร่วมกับการนำจิตแพทย์และแบบทดสอบทางจิตวิทยามาใช้บำบัด และติดตามรักษาผู้ที่ต้องจับตาหลังพ้นโทษออกไปข้างนอกแล้วอย่างต่อเนื่อง ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุว่าบางคดีเมื่อดูประวัติแล้ว ผู้ต้องหาไม่น่าจะก่อเหตุใหญ่ได้ อย่างรายล่าสุด “นายตั้ม” ที่ก่อเหตุฆ่าปาดคอชิงทรัพย์นายวศิน ที่ปากซอยสุคนธสวัสดิ์ 27

ก็พบว่าคดีที่นายตั้มเคยต้องโทษล้วนเป็นคดีเล็กทั้งสิ้น อาทิ ค้าซีดีเถื่อน, ครอบครองสารระเหย, เงินกู้นอกระบบ และเสพใบกระท่อม

แต่ครั้งนี้เขากลับมาก่อเหตุรุนแรงสะเทือนขวัญ ถ้าในอนาคตกรมราชทัณฑ์จำแนกลักษณะรายบุคคลของผู้ต้องโทษ แล้ววางแผนแก้ไขรายบุคคล ประสานหน่วยเกี่ยวข้องติดตามทุก 6 เดือน ว่าเขามีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติอย่างไรหรือไม่ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

แต่ถ้ามองสภาพความจริง ก็ต้องบอกว่าเมื่อผู้ต้องโทษรับโทษตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด และพ้นโทษแล้ว เขาย่อมเป็นอิสระ จะตามติดเขามากไม่ได้ เหมือนไปทำร้ายซ้ำเติมเขา

นอกจากนี้ มาตรการจำแนกลักษณะรายบุคคลตรงนี้ จะรวมไปถึงการควบคุมการเลื่อนชั้นนักโทษด้วยว่าควรจะได้เลื่อนชั้นหรือไม่?

ถ้าประเมินแล้วไม่ผ่าน ถูกลดชั้นความประพฤติ และไม่มีการปรับปรุงตัวเอง

ก็จะไม่มีโอกาสได้ลดโทษหรือเลื่อนชั้นอย่างเด็ดขาด!

ส่วนการที่สังคมเรียกร้องโทษประหารชีวิตนั้น นายกอบเกียรติมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อเกิดคดีสุดขั้วขึ้น แต่สิ่งที่สังคมควรเป็นห่วงคือการให้โอกาสมากกว่า เพราะยังมีผู้ต้องขังอีกหลายคน หรือเกือบร้อยละ 80 ที่สังคมต้องให้โอกาสและส่งเสริมให้เขาได้กลับตัวกลับใจ อย่าไปรังเกียจเขา

หรือพยายามผลักเขาออกไป และทำให้เขาเหล่านั้นกลับสู่วังวนเดิม

ถ้าหากถามว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร อธิบดีกรมราชทัณฑ์บอกว่าต้องดูแลตั้งแต่เด็ก โดยพ่อแม่ ครอบครัว โรงเรียน สถาบันทางศาสนา สถาบันทางสังคม ต้องช่วยกันในการคุมความประพฤติของคนให้อยู่ในกรอบ ทุกคนทุกสถาบันต้องทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อเป็นกลไกช่วยควบคุมสังคมในวงกว้าง

ที่สำคัญอย่าปล่อยให้มีใครทำความผิด เพราะถ้าปล่อยให้คนหนึ่งทำได้ อีกคนก็คิดว่าตนเองทำได้เช่นกัน

ขณะที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและอดีตเจ้าของสถานบริการชื่อดัง ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมาจากเรือนจำ มองว่าระบบข้างในเรือนจำขัดเกลาคนได้ลำบาก และต้องเข้าใจว่าทางกรมราชทัณฑ์ไม่มีงบประมาณเต็มที่

เมื่อคนที่ทำผิดครั้งแรกดันไปอยู่ร่วมกับนักโทษที่กระทำผิดโดยกมลสันดาน พออยู่ร่วมกันนานๆ ย่อมเกิดปัญหาแน่นอน

ยกตัวอย่างนักโทษคดีค้ายาเล็กๆ ไม่ถึงร้อยเม็ด แต่จับเอาไปอยู่รวมกับนักโทษขาใหญ่ ทำให้เขาเห็นช่องทางสร้างเครือข่าย มีโอกาสมากขึ้นในการออกมาทำผิดอีกและผิดหนักกว่าเดิม

ถึงแม้กรมราชทัณฑ์จะมีนโยบายเตรียมความพร้อมให้นักโทษ มีธรรมะฝึกสมาธิขัดเกลา แต่ต้องบอกว่าเป็นเพียงเวลาน้อยนิด เพราะผู้ต้องขังส่วนมากใช้เวลาอยู่ด้วยกัน กินนอนร่วมกัน

ทำให้มีแนวโน้มได้ว่าบางรายจะออกไปในทาง “เลว” มากขึ้น

ส่วนที่สังคมเป็นห่วงว่าการลดโทษจะทำให้ผู้มีแนวโน้มก่อคดีซ้ำหลุดออกมาง่ายๆ นั้น ต้องบอกว่าเขามีมาตรการบล็อกชั้นผู้ที่ทำผิดซ้ำ ไม่ให้มีโอกาสได้ขยับชั้นโทษในช่วง 2-3 ปีแรก พ้น 3 ปีแล้ว ถึงกลับมาดูพฤติกรรมอีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลมากกว่า ต่อให้กล่อมเกลาอย่างไร ถ้าใจไม่ได้ ก็ทำอะไรไม่ได้

โดยนายชูวิทย์มองว่าหน่วยงานที่สำคัญมากๆ และต้องทำหน้าที่อย่างจริงจังหลังจากปล่อยตัวนักโทษพ้นเรือนจำ คือ “กรมคุมประพฤติ” ที่ต้องติดตาม-คุมประพฤติอดีตนักโทษผู้มีประวัติให้ดี

สุดท้าย นายชูวิทย์เชื่อว่ากรณีแบบ “นายตั้ม” จะยังมีเกิดขึ้นอีกแน่นอน หากเรายังไม่ปฏิรูประบบต่างๆ ในเรือนจำ กระทั่งการฝึกอาชีพที่สอนผู้ต้องขัง หรือการปกครองคุกซึ่งยังใช้วิธีแบบโบราณอยู่

จึงอยากเสนอว่าวิธีจัดการที่ดี คือควรนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคุม เพื่อให้คนได้สัมผัสกับคนน้อยที่สุด เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันว่าเรือนจำไทยยังมีปัญหามากมาย อาทิ มีโทรศัพท์มือถือหลุดเข้าไป หรือมีเครือข่ายต่างๆ

ถามว่ามือถือจะลอยลงมาเองได้อย่างไร? ถ้าไม่ได้มาจาก “คน”

ข้ามฟากมาที่ดาราสาวและอดีตนางสาวไทยอย่าง บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ผู้ออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์ในสังคมบ่อยครั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม

คุณบุ๋มกล่าวว่า ที่ผ่านมา หลายคนไม่มั่นใจกฎหมายที่ไม่รุนแรงมากพอให้คนเกรงกลัวการกระทำผิด ซึ่งจริงๆ ควรจะมีการชำระล้าง ควรจะมีการปรับเปลี่ยนความรุนแรงของโทษ และวางแผนแก้ไขปัญหาสังคมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ต้องทำอะไรกันบ้าง ไม่ใช่ปล่อยไว้ ไม่ทำอะไรเลย

ที่สำคัญหลายคนบอกว่าอย่ามีเลยโทษประหาร เพราะเราต้องทำตามเมืองนอก อดีตนางสาวไทยถามกลับว่าตามประเทศไหน? ในเมื่อสภาพสังคมต่างกันสิ้นเชิง

หลายประเทศที่เขายกเลิกโทษประหารเพราะว่าสถิติการเกิดอาชญากรรมเขามีน้อยมาก เป็นแหล่งปลอดภัยอันดับต้นๆ ของโลก

แล้วประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไร?

การที่คุณจะตามอะไรเมืองนอกมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องดูความพร้อมของคนในประเทศด้วย ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป ไม่ใช่เอะอะโยนเข้าคุก

เพราะกรมราชทัณฑ์ก็ทำหน้าที่หนักอยู่แล้ว ต้องดูแลนักโทษมากอยู่แล้ว เราต้องดูว่าจะเก็บคนคนนั้นไว้เพื่ออะไร เพื่อหน้าตาของคุณหรือ?

“บุ๋มอยากถามคนที่ไปประชุมที่ต่างประเทศ ไปนั่งประชุมแล้วบอกว่า “ไม่ประหารตามเขาก็ได้” แต่เงินที่คุณบินไป ป้ายที่แขวนคอ คือเงินภาษีจากเราไม่ใช่หรือ ในเมื่อมันเป็นเงินภาษีของเรา ทำไมคุณไม่ปกป้องพวกเรา? นี่คือคำถามที่บุ๋มอยากถามกลับ

“แต่พอบุ๋มถามกลับ คนก็บอกว่าอีนี่หัวรุนแรง แต่บุ๋มคิดว่าการเป็นดาราของบุ๋ม จบด๊อกเตอร์มา คงไม่มาเพื่อตบนางเอกมั้งคะ บุ๋มน่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้”

นี่อาจเป็นเพียงแนวคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนหนึ่ง ซึ่งเราได้แต่หวังว่าสังคมไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงในภายภาคหน้า และไม่มีเหยื่อ ไม่มีผู้เสียชีวิต จากอดีตผู้ต้องโทษที่ออกมาก่อเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เพราะคงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ร้ายๆ ต้องมาเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งตัวคุณเอง