เทศมองไทย : เรื่องเล่าจากออสเตรเลีย ว่าด้วย “ไกลโฟเซต”

แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติเป็นเอกฉันท์ แบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตไปแล้วเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่จบ โดยเฉพาะเรื่องสารเคมีตัวหลัง เมื่อเท็ด แม็กคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบด้านกิจการการค้าและเกษตรกรรมในต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวงของไทย ขอให้ทบทวนกรณีการแบนสารเคมีไกลโฟเซตเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม

เหตุผลของท่านปลัดเท็ดก็คือ คำสั่งห้ามของไทยเกิดจากการตัดสินใจที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของ “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ครับ

แล้วก็ปลุกให้เกิดการถกเถียงในเรื่องว่าด้วยไกลโฟเซตขึ้นมาอีกครั้ง บางคนไปไกลถึงขนาดที่ว่า จะทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งกับนานาชาติขึ้นเลยทีเดียว

สารเคมีตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์รุนแรงถึงขนาดนั้น?

 

เรื่องการถกเถียง โต้แย้งกันทำนองนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ เกิดขึ้นมาในหลายประเทศ เถียงกันเรื่องสารเคมีตัวนี้ตัวเดียวนี่แหละครับ นานเป็นปีๆ ยังไม่ได้ข้อยุติ

ในเวลาเดียวกันก็มีหลายๆ ประเทศที่เขาได้ข้อยุติไปแล้ว และห้ามใช้เหมือนกับกรณีการตัดสินใจของไทย อาทิ ศรีลังกา เป็นต้น บางประเทศก็ห้ามแบบเลี่ยงๆ อย่างเช่นโคลอมเบีย ห้ามใช้พ่นทางอากาศ หรือโปรตุเกส อิตาลี และนครแวนคูเวอร์ในแคนาดา ที่ห้ามใช้สารนี้ใน “สวนสาธารณะ” ต่างๆ เท่านั้น

ตอนที่ไทยประกาศห้ามใช้เด็ดขาดนั้น ที่ออสเตรเลีย การถกเรื่องนี้กำลังเข้มข้นสุดๆ ครับ

อลันนาห์ แมคเทียร์แนน รัฐมนตรีเกษตรประจำรัฐบาลรัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่อง “ความปลอดภัย” ของสารเคมีนี้เอาไว้ให้เอบีซี ออสเตรเลีย หยิบมารายงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมว่า ยิ่งนับวันยิ่งมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไกลโฟเซตอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้

แคสซี โรว์ นักการเมืองฝ่ายค้านในรัฐเดียวกัน ถึงกับออกมาเรียกร้องให้แบน คือห้ามใช้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการตายผ่อนส่ง ทำนองเดียวกันกับแอสเบสทอส หรือแร่ใยหินก่อนหน้านี้

แต่ในเวลาเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การให้สัมภาษณ์นี้ตามมามากมายเช่นกัน อ้างทำนองเดียวกันกับในเมืองไทยครับว่า นี่คือสารเคมีสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ ห้ามใช้ก็ปลูกอะไรลำบากยากเย็นแน่นอน

 

อยู่ดีๆ รัฐมนตรีอลันนาห์คงไม่ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงขนาดนั้น ที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อต้นเดือนตุลาคมนี้นี่เอง ชายชาวออสเตรเลียในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ที่ใช้ไกลโฟเซตเป็นประจำยื่นฟ้องร้องต่อผู้ผลิต กล่าวหาว่า ไม่เตือนให้ชัดเจนว่าการใช้สารเคมีนี้จะก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างที่เขาเป็นอยู่ และเชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสกับสารเคมีชนิดนี้

นั่นนับเป็นคดีแรกในออสเตรเลียครับ

แต่คดีดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องมาจากผลของคดีสำคัญอีกคดีหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เมื่อคณะลูกขุนแห่งศาลนครซานฟรานซิสโก มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้ขาดว่า ไบเออร์ ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์จากเยอรมนี ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีไกลโฟเซตเป็นสารเคมีหลัก ก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้ซึ่งคือโจทก์ในคดีนี้ มีความผิด เนื่องจากไม่แสดงคำเตือนอย่างเพียงพอ ว่าสารไกลโฟเซตซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในยาปราบศัตรูพืช “ราวด์อัพ” และ “แรงเจอร์โปร” อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้

ลูกขุนชี้ขาดให้ชดใช้แก่จำเลย 2,000 ล้านดอลลาร์ ต่อมาศาลสั่งให้ลดค่าปรับและค่าชดใช้ลง เหลือรวมแล้วราวๆ เกือบ 90 ล้านดอลลาร์

ไบเออร์ ซื้อกิจการของมอนซานโต้มาเมื่อปี 2018 แล้วก็ต้องรับผิดชอบคดีนี้ต่อไปด้วย เลยต้องยื่นอุทธรณ์คดีนี้ครับ

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การแพ้คดีครั้งนี้อาจส่งผลเสียหายระยะยาวมากสำหรับไบเออร์ เพราะนับจนถึงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ยื่นฟ้องร้องเรื่องสารไกลโฟเซตทำนองเดียวกันนี้ต่อไบเออร์อีกถึงกว่า 13,400 คน กล่าวหาว่าพวกเขาป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพราะสัมผัสกับไกลโฟเซต เนื่องจากไม่มีคำเตือนในสลากผลิตภัณฑ์

ในเวลาเดียวกัน คดีที่สหรัฐอเมริกาก็ทำให้สภาโรคมะเร็งแห่งออสเตรเลียออกมาเรียกร้องให้มีการ “ทบทวน” การใช้สารเคมีนี้ในออสเตรเลีย เมื่อปีที่ผ่านมาครับ

ซึ่งเป็นที่มาของวิวาทะว่าด้วยไกลโฟเซตครั้งใหญ่ที่นั่นเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ยังจบไม่ลง

แต่อลันนาห์ แมคเทียร์แนน ว่าไว้ประโยคหนึ่ง น่าคิดมากครับ เธอบอกว่า กำลังเตรียมแผนเรียกร้องให้เกษตรกรออสเตรเลียเลิกใช้สารเคมีตัวนี้ เลิกพึ่งพาไกลโฟเซตได้แล้ว

“แค่เพียงเอาแต่บอกว่าไม่มีปัญหาๆ ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการรับมือกับความเสี่ยง(จากสารนี้)แน่นอน”