วิเคราะห์ : เมื่อคนหนุ่มสาวฟ้องรัฐบาลท้องถิ่น เพราะเพิกเฉยปัญหาโลกร้อน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

การรวมพลังของเด็กๆ และเยาวชนหนุ่มสาวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลประเทศนั้นๆ ให้ออกคำสั่งบีบบังคับรัฐบาลเร่งจัดการกับปัญหาโลกร้อนและควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นแนวโน้มใหม่ของโลก

ล่าสุดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกครั้งที่ประเทศแคนาดา

เด็กๆ จำนวน 15 คน มาจากเมืองต่างๆ ทั่วแคนาดายื่นฟ้องต่อศาลนครแวนคูเวอร์ กล่าวหาว่ารัฐบาลท้องถิ่นต่างเพิกเฉยต่อการปล่อยก๊าซพิษจนทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ในคำฟ้องเรียกร้องให้รัฐบาลกลางของแคนาดากำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศตามเป้าหมายที่วางไว้

ก่อนการยื่นฟ้อง เด็กๆ ได้ชักชวนชาวเมืองแวนคูเวอร์มาร่วมชุมนุมต่อต้านโลกร้อน ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 1 หมื่นคน รวมทั้ง “เกรียตา ทุนแบร์” นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ชาวสวีเดน วัย 16 ปี เดินทางมาร่วมเป็นกำลังใจด้วย

ตามข่าวบอกว่า เด็กๆ บรรยายความรู้สึกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศต่อหน้าผู้ชุมนุม

บางคนบอกว่า รัฐบาลรู้มาหลายสิบปีว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีผลเสียหายอย่างไรกับสภาพแวดล้อมและสุขภาพของเด็กๆ

ฝ่าย “ทุนแบร์” ประกาศกลางม็อบว่า พลังของเด็กๆ เยาวชนหนุ่มสาวคือคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง ทุกคนเดินเคียงข้าง ไม่มีอะไรมาฉุดรั้งได้

 

การรวมพลังของชาวแวนคูเวอร์ได้ผลไม่น้อยทีเดียว กระทรวงสิ่งแวดล้อมของแคนาดาก็ยังหันมาเทเสียงสนับสนุนอย่างเปิดเผย แถมด้วยการออกแถลงการณ์ว่า ข้อเรียกร้องของเด็กๆ เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรรับฟัง เพราะการผลักดันให้รัฐบาลสร้างสังคมที่ยั่งยืนมากกว่าที่เป็นอยู่

ในแถลงการณ์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมแคนาดาชี้อีกว่า ประเด็นการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนจัดเป็นประเด็นสำคัญลำดับแรกๆ ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องหยิบมากำหนดเป็นนโยบาย

เยาวชนรวมพลังยื่นฟ้องรัฐบาลในประเด็นโลกร้อนมีมาตั้งแต่ปี 2558 เมื่อกลุ่มเยาวชนในสหรัฐอเมริกาฟ้องรัฐบาลกลางสหรัฐให้แก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากนั้นก็มีเด็กฟิลิปปินส์ อินเดีย เดินตามแนวนี้

 

ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ ก็มีองค์กรสิ่งแวดล้อมชื่อเออร์เจนดา (Urgenda) จับมือกับชาวดัตช์ 900 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลแขวงกรุงเฮก เรียกร้องให้รัฐบาลดัตช์ลดปริมาณก๊าซพิษ 25 เปอร์เซ็นต์จากปริมาณที่ปล่อยเมื่อปี 2533 ภายในปี 2563

ศาลชั้นต้นตัดสินคดีในปี 2561 บังคับรัฐบาลทำตามคำร้องของเออร์เจนดา

แต่รัฐบาลดัตช์ดิ้นสู้คดีด้วยการยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าการกำหนดนโยบายลดก๊าซพิษเป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องของศาล

ศาลอุทธรณ์กรุงเฮกปฏิเสธคำร้องของรัฐบาลดัตช์ แถมยังบังคับให้รัฐบาลเร่งจัดการลดก๊าซเรือนกระจกเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้

ในคำพิพากษาระบุว่า รัฐบาลดัตช์ควบคุมการปล่อยก๊าซพิษเพียงแค่ 15% ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้มาก และยังไม่ได้วางมาตรการป้องกันอันตรายจากภาวะโลกร้อน ศาลจึงรับไม่ได้ เพราะถือว่ารัฐบาลปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

การพิพากษาของศาลเนเธอร์แลนด์ยังมีผลบังคับกับโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินของเนเธอร์แลนด์ที่จะต้องหยุดดำเนินการในปีหน้าอีกด้วย

คดีเออร์เจนดายังไม่จบ เพราะศาลสูงเนเธอร์แลนด์จะชี้ชะตาอีกครั้งในปลายปีนี้ แต่ก็เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของกลุ่มต้านโลกร้อน และกลายเป็นโมเดลใหม่ของการต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

 

ขอปิดท้ายกับข่าวทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคโลราโด สเตต สหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนว่าภาวะโลกร้อนจะมีผลทำให้สะพานเหล็กในสหรัฐและอีกหลายแห่งทั่วโลกอาจถึงกาลพังทลายในอนาคตราว 20 ปีข้างหน้า

สาเหตุมาจากสะพานเหล็กส่วนใหญ่ใช้หมุดเชื่อม เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน ตัวหมุดเหล็กจะเสื่อม หรือเหล็กบวมเป็นสนิม

กรณีตัวอย่างเกิดขึ้นกับสะพานเมืองเจนัว ประเทศอิตาลี สร้างมาตั้งแต่ปี 2510 และล้มครืนลงมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สาเหตุมาจากสายเคเบิลเหล็กที่ยึดกับตัวสะพานทำด้วยคอนกรีตนั้นมีสภาพเสื่อม สนิมจับเขรอะ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวอิตาเลียนเสียชีวิตกว่า 40 คน

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยโคโลราโด สเตต เก็บข้อมูลสะพานทั่วประเทศสหรัฐ 9 หมื่นแห่ง และวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่มีผลต่อโครงสร้างสะพาน พบว่าในอีก 2 ทศวรรษหน้า สะพาน 1 ใน 4 แห่ง มีโอกาสพังครืนลงมา

ส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ออกมาให้ความเห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาสะพานเหล็กทรุดเหมือนๆ กับสะพานเหล็กในสหรัฐ เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด กระแสลมแรง ฝนตกหนัก และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีส่วนสำคัญทำให้เหล็กถูกกัดกร่อน

สะพานเหล็กในบ้านเรามีอยู่หลายแห่ง ว่างๆ กระทรวงคมนาคมน่าจะออกไปตรวจดูว่ายังได้มาตรฐานอยู่หรือเปล่า..