ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 เมษายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | Pop Teen |
เผยแพร่ |
เคยเล่น Snapchat ไหมครับ
ถ้าคุณอายุมากกว่า 34 ปี ผมไม่แปลกใจที่คุณจะไม่รู้จักแอพพลิเคชั่นที่มีโลโก้เป็นรูปผีน้อยสีขาวบนพื้นสีเหลือง
แต่ถ้าคุณยังมีอายุอยู่ช่วงในวัยมัน ฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน ระหว่าง 13-34 ปี แต่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยใช้ หรือกระทั่งไม่รู้จักแอพแชร์รูปและวิดีโอนี้แล้วละก็ อาจจะต้องพิจารณาตัวเองเสียหน่อย
เพราะ Snapchat คือช่องทางการสื่อสารของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์อันดับหนึ่งในปัจจุบัน
หากดูจากความยอดนิยมของจำนวนผู้ใช้ และกระแสที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาไม่กี่ปี พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่คือโซเชียลมีเดียแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง
หรือพูดให้เว่อร์และยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น…
นี่คือโซเชียลมีเดียที่อาจจะโค่นบัลลังก์เฟซบุ๊ก!
แต่ถ้าคุณยังไม่เชื่อ นี่คือตัวเลขเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณควรรู้ก่อนจะอ่านเรื่องราวของ Snapchat ต่อไป
1.มีผู้ใช้เป็นประจำ (active user) มากกว่า 100 ล้านคนต่อวัน
2. ชาวอเมริกันอายุ 13-34 ปีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ใช้ Snapchat เป็นประจำ
3. เป็นแอพอันดับ 1 และ 2 ของชาวอเมริกันที่อายุระหว่าง 14-24 ปี
4. ติดอันดับ 1 ใน 10 แอพที่มีคนดาวน์โหลดสูงสุดใน 100 ประเทศ
5. ทุกๆ 1 วินาที จะมีคนแชร์รูป 9,000 รูป
6. นั่นหมายความว่าเมื่อคุณอ่านประโยคนี้จบจะมีคนส่งรูปแล้วไม่ต่ำกว่า 18,000 รูป
7. รวมแล้วภายใน 1 วันจะมีการส่งรูปกันถึง 777,600,000 รูป
8. มียอดชมวิดีโอต่อวัน 8 พันล้านวิว
9. ตัวเลขยอดวิวนี้เท่ากับเฟซบุ๊ก แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ของ Snapchat ที่น้อยกว่าเฟซบุ๊ก 10 เท่า นั่นหมายความว่า Snapchat เป็นแอพที่มีสัดส่วนยอดวิวมากกว่าเฟซบุ๊กหลายเท่า
10. ด้วยเหตุดังนี้ ในปี 2013 มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก จึงทำการเสนอซื้อกิจการด้วยเงินจำนวน 3 พันล้านดอลลาร์
11. แต่ Snapchat ปฏิเสธ!
12. และดูเหมือนพวกเขาจะคิดถูก เพราะปัจจุบัน Snapchat มีมูลค่ามากกว่า 16 พันล้านดอลลาร์
13. ส่งผลให้ Evan Spiegel หนึ่งในผู้ก่อตั้งและซีอีโอวัย 25 ปีกลายเป็นหนึ่งในเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในโลก มีรายได้รวมกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์
14. Annie Vaynerchuk นักวิจัยการตลาด เชื่อว่าภายในอีก 36 เดือนข้างหน้า เกือบทุกคนบนโลกจะใช้ Snapchat
เล่าอย่างง่ายที่สุด Snapchat คือ แอพพลิเคชั่นที่ใช้ส่งรูปและวิดีโอ
คำว่า Snap คือรูปที่ถ่ายเล่นๆ ง่ายๆ ส่วนคำว่า Chat ก็คือการพูดคุยกันเล่นๆ
เมื่ออ้างอิงจากความหมายดังกล่าว Snapchat จึงเป็นโซเชียลมีเดียที่ใช้การส่ง “รูป” และ “วิดีโอ” แทนการส่งข้อความตัวอักษร เพื่อพูดคุยกัน
โดยมีลูกเล่นต่างๆ เพิ่มความสนุก เช่น Lenses ที่ผมเล่าไปแล้ว หรือการใส่ข้อความและอิโมจิลงไปในภาพได้
ทว่า จุดเด่นจริงๆ ของ Snapchat คือ “temporary” หรือความชั่วคราว
เมื่อคุณโพสต์หรือส่งรูปและวิดีโอดังกล่าวไปแล้ว รูปและวิดีโอนั้นจะมีอายุเพียง 24 ชั่วโมงแล้วก็จะหายลับไป หรือคุณอาจจะกำหนดระยะเวลาของรูปและวิดีโอนั้นก็ได้ เช่น กำหนดไว้ว่าวิดีโอนี้มีอายุ 10 วินาที เมื่อเพื่อนคุณเปิดมาแล้วครบตามกำหนดเวลา วิดีโอนั้นก็จะหายทันที
หายในที่หมายถึง หายทั้งจากเครื่องผู้ส่ง จากเครื่องผู้รับ รวมทั้งจากเซิร์ฟเวอร์ของ Snapchat เอง ไม่สามารถกลับมาดูซ้ำได้ (แม้ว่าจะมีข่าวครึกโครมเมื่อ 2 ปีก่อนว่ามีภาพหลุดจาก Snapchat กว่า 1 แสนภาพก็ตาม แต่คาดว่ามาจากแอพภายนอก ไม่ใช่ตัวแอพ Snapchat เอง)
นี่คือเหตุผลว่าทำไมโลโก้ของ Snapchat จึงเป็นรูปผีน้อยสีขาว เพราะผีคือการสื่อว่าเดี๋ยวมันก็หายไป (จริงๆ รูปผีนี้มีชื่อว่า Ghostface Chillah มาจากแคแร็กเตอร์ของ Wu-Tang Clan วงฮิปฮอปชื่อดังในอดีต)
Snapchat ถึงกับอวดอ้างจุดเด่นนี้ว่า
“นี่คือช่องทางที่เร็วที่สุดในการแชร์โมเมนต์กับเพื่อน คุณกำหนดระยะเวลาได้ว่าเพื่อนจะเห็นรูปหรือวิดีโอนานแค่ไหน เมื่อครบตามกำหนดแมสเสจเหล่านั้นก็จะหายไปตลอดกาล และถ้ามีการถ่ายรูปหน้าจอ (screenshot) เกิดขึ้น เราจะแจ้งคุณทันที!”
คุณอาจจะสงสัยว่า มันจะลบรูปและวิดีโอทำติ่งอะไรฟะ!
ใครๆ ก็อยากจะเก็บของพวกนี้ไว้เป็นความทรงจำไม่ใช่หรือ
อย่าลืมครับว่ากลุ่มเป้าหมายของ Snapchat คือคนรุ่นมิลเลนเนียลส์เป็นหลัก
คนรุ่นนี้ต้องการ “ความเป็นส่วนตัว” สูงมาก พวกเขาไม่อยากให้สิ่งที่สื่อสารออกไปค้างเติ่งอยู่ในโลกออนไลน์นาน
อีกทั้งยังไม่อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองมาเจอคลิปอุบาทว์ๆ ตลกๆ ของตัวเอง
โดยเฉพาะในช่วงหลังที่คนรุ่นอดีตหันมาเล่นเฟซบุ๊กหรือไลน์กันมากขึ้น ยิ่งทำให้ความเป็นส่วนตัวของวัยรุ่นน้อยลง
คนรุ่นใหม่จึงมองว่า เฟซบุ๊กคือโซเชียลมีเดียของคนแก่ ในขณะที่ Snapchat นั้นเท่ เก๋ คูลกว่ากันเยอะ
เพื่อนสาวคนเดิมของผมก็บอกเหตุผลที่เธอชอบ Snapchat คล้ายๆ กันว่า
“Snapchat ทำให้เราบ้าบอหรือไร้สาระได้เต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจผู้ใหญ่”
นิตยสาร Bloomberg ฉบับเดือนมีนาคม 2016 ทำสกู๊ปประจำปกเกี่ยวกับ Snapchat และตั้งชื่อบทความว่า
“How Snapchat a Business by Confusing Olds”
แปลเป็นไทยภาษาวัยรุ่นหน่อยก็ประมาณว่า
“Snapchat : สร้างธุรกิจพันล้านด้วยการปั่นหัวพวกหัวหงอก”
นอกจากนี้ บนปก Bloomberg ยังโปรยว่า
“The New Future of Media : How Snapchat went from disappearing message app to global media phenomenon”
“สื่อใหม่แห่งอนาคต : จากแอพข้อความชั่วคราวสู่ปรากฏการณ์สื่อระดับโลก Snapchat ทำได้อย่างไร?”
นั่นสิครับ พวกเขาทำได้อย่างไร?