ลี้คิม “ชวน”

ถ้าถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าหากย้อนเวลากลับไปตอนที่เริ่มต่อรองการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี

มีตำแหน่งไหนที่อยากดึงกลับมาเป็นโควต้าพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด

เชื่อได้ว่าไม่ใช่ตำแหน่งใดในรัฐบาล

ไม่ใช่ “คมนาคม-เกษตร-พาณิชย์”

แต่เป็นตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่เสียโควต้าให้กับ “ชวน หลีกภัย” ของพรรคประชาธิปัตย์ไป

เพราะวันนี้ “ชวน” กลายเป็น “รัฐอิสระ”

นอกจาก “ลุงตู่” จะคุม “ชวน” ไม่ได้แล้ว

กลับต้องอยู่ในการคอนโทรลของ “ชวน” อีก

เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

คนที่ใหญ่ที่สุดคือ ประธานสภา

ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรี”

“ชวน” เคยประกาศว่า การรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาครั้งนี้ เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนฯ

เขาจึงเคร่ง “กฎ-กติกา-มารยาท” อย่างมาก

และด้วยบารมีของ “นักการเมืองอาวุโส” และ “อดีตนายกรัฐมนตรี”

ส.ส.ส่วนใหญ่ให้ความเกรงใจ

และยังแผ่บารมีมาคุม พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ผิดพลาดหรือผิดกฎเมื่อไร

โดนดุทันที

ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ในสภา ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จึงมีอาการ “หัวร้อน” ให้เห็นทุกครั้งที่ต้องฟัง ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายเสียดสี

หลบได้เป็นหลบ

เพราะกลัว “น็อตหลุด”

ที่สำคัญ “ประธานสภา” ซึ่งตามปกติจะช่วยประคับประคองรัฐบาลเพราะมาจากพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ครั้งนี้ “ชวน” แสดงความเป็นอิสระอย่างชัดเจน

“ลุงตู่” จึงปราศจากเสาพิง

อยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนใจอย่างเห็นได้ชัด

“ชวน” ถือว่า “สภาผู้แทนราษฎร” คือหนึ่งในเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย

มีความเป็นอิสระ

เขาจึงกล้าชนในหลายเรื่อง

ตั้งแต่ญัตติเรื่องการไม่กล่าวคำถวายสัตย์ตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติที่ทำให้รัฐบาลอ้างได้ว่าองค์กรอื่นๆ มายุ่งเกี่ยวไม่ได้

แต่ “ชวน” ไม่ยอม

การอภิปรายจึงเกิดขึ้นได้ และทำให้เห็นปมปัญหาบางอย่างที่เป็น “ระเบิดเวลา” ในอนาคต

หรือล่าสุดกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง

“ชวน” ก็หนุน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

เสนอให้ “ลุงตู่” ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการ

“อยู่ในระบบนี้ ต้องเคารพระบบ”

คำเดียวสั้นๆ แต่ชัดเจน

สะบัด “มีดโกน” ควับ

“ลุงตู่” เลือดสาดทันที