หลงกลิ่นลาเวนเดอร์ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 / สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————–

หลงกลิ่นลาเวนเดอร์

————————–

อยู่คนละฟากโลก

แต่ก็คล้ายคลึง สามารถเป็นบทเรียน ให้กันและกันได้ดี

สำหรับ ไทย และ ชิลี

ไทย กำลัง เป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และประชุมกับผู้นำประเทศคู่เจรจา และผู้นำองค์การระหว่างประเทศ ระหว่าง 2-4 พฤศจิกายนนี้

ถือเป็นการ “แก้มือ”

หลังจาก เมื่อ10 ปีที่แล้ว การประชุมเดียวกันนี้ “ล่มกลางคัน”

ด้วยปัญหาการชุมนุมของ นปช.ที่พัทยา

ส่วน ชิลี กำลังจะเป็น เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายนนี้ และการประชุมว่าด้วยโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติ หรือคอป 25 ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม

แต่ชิลี กำลังมีปัญหาการชุมนุม ที่รุนแรงถึงขั้นจลาจล ส่อเค้ายืดเยื้อ

จะเป็นเหตุให้การประชุม”ล่ม”เหมือนไทยก็อาจเป็นไปได้

ชิลี จึงตัดสินใจเลื่อน การประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ยอมเสียหน้า

แต่ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างฉุกละหุกโกลาหล เหมือนอย่างที่เกิดในไทยคุ้มกว่า

เราคงจำภาพ การ”อุ้ม”ผู้นำประเทศมหาอำนาจ หนี ม็อบไปขึ้นเรือได้ดี

ชิลี ส่อเค้าว่าอาจจะเกิดเหตุเช่นนั้น

การตัดสินใจ เลิก หรือแเลื่อนการประชุมเอเปค และโลกร้อนออกไป จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

จะถือว่า ได้บทเรียนจากไทย ก็คงไม่ผิดนัก

แล้ว ไทยเรา (สมควร)ได้บทเรียน อะไรจาก ชิลี

ก็ วนกลับไปเรื่อง ม็อบและจลาจลในชิลี นั่นแหละ

การประท้วงก่อจลาจลรุนแรงในกรุงซันติอาโกและอีก 9 แคว้นในภาคเหนือและใต้ จากทั้งหมด 16 แคว้นของชิลี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 คน และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆนี้

มีนักศึกษาเป็นแกนนำ เริ่มต้นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

โดยมีชนวนเหตุจากการขึ้นค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน ที่สร้างผลกระทบต่อชาวชิลีโดยทั่วไป

ประกอบกับ ปัญหาเศรษฐกิจอันย่ำแย่เรื้อรัง และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

นำไปสู่การจลาจล และเหตุรุนแรง จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวส์ ในหลายพื้นที่

แต่รัฐบาลก็เอาไม่อยู่ แม้จะยกเลิกนโยบายขึ้นค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ แต่ทุกอย่างก็สายไปแล้ว

และกำลังบานปลายไปสู่การขับไล่ประธานาธิบดีและรัฐบาล

ทำให้ชิลี ซึ่ง เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรถึง 20,000 ดอลลาร์ สูงที่สุดในลาตินอเมริกา และจีดีพีขยายตัวดีมาตลอดต้องหัวคะมำ

ด้วยตัวบ่งชี้ปัญหาทางสังคมหลายอย่างถูก ซุกเอาไว้ใต้พรม เช่น สาธารณสุข, การศึกษาและบำนาญ

ส่งผลให้สังคมชิลีมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก

ปัญหาจึงแตกโพละออกมา

ไม่รู้ว่าชิลี จะหาทางออกอย่างไร

แต่ก็น่าจะเป็นบทเรียนให้กับหลายประเทศ รวมถึงไทย

ไทยซึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า และมีการเตือนเรื่องหนี้ และความเหลื่อมล้ำในสังคมที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน

หากไม่ยอมรับ หรือไม่แก้ไข อย่างจริงจัง

หรือแก้ไขผิว-ผิว แบบโมเดลลาเวนเดอร์

กล่าวคือ ทำให้รู้สึกเหมือนนืนอยู่กลางไร่ลาเวนเดอร์ นอกจากสวยงามชวนฝันแล้ว

ดอกลาเวนเดอร์ยังมีกลิ่นหอม และมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับสบาย ผ่อนคลาย มองโลกสวย และมองโลกในแง่ดี

เสพติด เฉพาะ”ชิมช็อปใช้”

หรือใช้ตรรกะฟุ้งๆแบบ (อย่า)ใช้คำว่าเศรษฐกิจถดถอย แต่เป็นเศรษฐกิจเติบโตช้าลงในปีหน้าและปีต่อไป

มองข้าม “ความจริง” โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่สุด อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ ความวุ่นวายอย่างชิลี ได้

นั่นเป็นบทเรียนที่เราควรเรียนรู้

ไม่ใช่แค่หลงกลิ่นลาเวนเดอร์ไปวัน-วันเท่านั้น