ในประเทศ / เศรษฐกิจไทย ในทุ่งลาเวนเดอร์

ในประเทศ

 

เศรษฐกิจไทย

ในทุ่งลาเวนเดอร์

 

น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ค่อนข้างชิล-ชิล

กรณีสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี

โดยบอกว่า

“ก็ต้องหาวิธีการและเจรจาพูดคุย อย่าเพิ่งไปตื่นเต้น ปัญหาทุกปัญหาก็ต้องแก้กันไป ปัญหามีไว้พุ่งชน อย่าไปคาดการณ์กันเอง อย่าไปตีกันไปมา”

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ปัดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดตอนรัฐบาลนี้

หากแต่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มีการเจรจากันทุกปี

และเคยเจรจาขอคืนสิทธิในเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยปี 2561 ได้คืนมา 7 รายการ

พล.อ.ประยุทธ์ยังออกตัวอีกว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะกับประเทศไทย แต่ประเทศในอาเซียนโดนไปด้วย

ต้องมองวิกฤตเป็นโอกาส พยายามเจรจาขอคืนสิทธิให้ได้โดยเร็ว จะมีการยกขึ้นเจรจาภายใต้กรอบการตกลงทางการค้าการลงทุนไทย-สหรัฐต่อไป

“อย่าวิตกกังวลเรื่องนี้ให้มากนัก…อย่าเอาไปยึดโยงกับเรื่องนู้นเรื่องนี้เลยมันไม่เกิดประโยชน์ วันนี้ก็ขอให้ลดผลกระทบในเรื่องเหล่านี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์น่าจะอารมณ์ดียิ่งขึ้น

เมื่อนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม

โดยนายไมเคิล ฮีธ เปิดเผยว่าความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐช่วงนี้ถือว่าเป็นขาขึ้น จากการที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ส่วนกระบวนการจีเอสพี เป็นเรื่องที่มีการตัดสินใจมานานแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารพิษของไทย

“จีเอสพีเป็นสิทธิพิเศษที่ไทยได้รับมานานกว่า 30 ปี แม้จะถูกตัดสิทธิไปแล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังคงได้รับสิทธิพิเศษสูงที่สุดมากกว่าประเทศใดในโลกในปัจจุบัน ดังนั้นจะหารือกับทางรัฐบาลไทยต่อไป ทั้งนี้การตัดสิทธิจีเอสพี มีผลกระทบไม่มาก ตัวเลขไม่เยอะ และกระบวนการนี้ยังไม่ถือว่าสิ้นสุด “นายไมเคิล กล่าว

สะท้อนสหรัฐไม่ได้พุ่งเป้าทำสงครามการค้ากับไทยเหมือนดังที่เกิดขึ้นกับจีน

ทั้งนี้คณะของสหรัฐจะมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายน ที่ประเทศไทย

โดย พล.อ.ประยุทธ์อาจหยิบเรื่องดังกล่าวมาหารือด้วย

 

นั่นเป็นท่าทีของฝ่ายนโยบายที่พยายามมองในทาง “บวก” และเห็นแสงที่ปลายอุโมงค์อย่างไรก็ตาม

เมื่อมามองในส่วนของฝ่ายปฏิบัติก็ดูน่าห่วงไม่น้อย

อย่างที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายประจำปี 2563 ตั้งข้อสังเกตว่าในที่ประชุม กมธ.ฯ ผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลว่า หลังการรัฐประหาร ปี 2557 หลายประเทศเริ่มดำเนินการตัดจีเอสพี ไทย

โดยปี 2558 สหภาพยุโรปหรืออียูมีการตัดจีเอสพีไทย

ต่อมาต้นปี 2562 ประเทศญี่ปุ่นก็ตัดจีเอสพีไทย

และล่าสุดอเมริกาได้ตัดจีเอสพีไทย

นอกจากนี้ที่ผ่านมามาตรการเจรจาของรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน ยังไม่มีความชัดเจน มีแต่การออกมาขอให้ภาคเอกชนปรับตัวลดต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเอง

นายวรวัจน์บอกอีกว่าพาณิชย์ได้ยืนยันในที่ประชุมกรรมาธิการงบประมาณว่าปัญหาจีเอสพีของสหรัฐจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบเพียง 1,800 ล้านบาท ไม่ใช่ 40,000 ล้านบาท อย่างที่มีการวิเคราะห์ออกมาก่อนหน้านี้

พาณิชย์อ้างว่ามีมาตรการในการรับมือแต่ไม่แจ้งรายละเอียดต่อ กมธ.

ซึ่งนายวรวัจน์วิเคราะห์ว่า นั่นอาจหมายถึงไม่ได้มีแผนมาตรการแก้ไขเตรียมไว้ และบรรจุในงบประมาณปี 2563 ทั้งที่เรื่องนี้ เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ควรมีคำตอบให้กับประชาชน ที่ประชุม กมธ.ได้ท้วงติงไปยังกระทรวงพาณิชย์ว่า จำนวนเงิน 1,800 ล้านบาทที่ชี้แจง อาจเป็นเพียงแค่ส่วนต่างทางภาษี หากจะคำนวณแบบนี้ คงไม่ถูกต้อง การดำเนินการของสหรัฐครั้งนี้อาจจะส่งผลเสียมากกว่าที่หน่วยงานรัฐคาดการณ์ คาดว่าผลกระทบอาจสูงถึงหลักหมื่นล้านบาท

นี่ย่อมเป็นการมองปัญหาในคนละมุมมอง

กรรมาธิการฯ มองในแง่ร้าย

ส่วนนายกฯ และกระทรวงพาณิชย์ พยายาม ให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์สวยงามและมองหาโอกาส จากวิกฤตนี้ให้ได้

 

ความแตกต่างในการมองปัญหา ไม่ใช่เพียงเรื่องจีเอสพีเท่านั้นที่มีข้อแตกต่างปัญหาการมองการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยรวมก็มีความแตกต่างด้วย

โดยมีคนส่วนหนึ่ง มองว่ารัฐบาลสอบตกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

แต่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เห็นพ้อง

โดยเคยตอบเรื่องนี้ผ่านสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า

“ที่บอกว่ารัฐบาลสอบตกในการแก้ไขเศรษฐกิจจะสอบได้หรือสอบตกนั้น ผมก็ไม่เห็นว่าที่ผ่านมาจะสอบได้ซักกี่รัฐบาล เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมายาวนาน ต้องไปดูว่าปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขมากน้อยเพียงใดในรัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ในหลายหน่วยงานที่ไม่ได้มีการแก้ไขกันเลย ฉะนั้นคงไม่ใช่แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ในเมื่อเราเข้ามา 5 ปีและกำลังทำต่อในปีแรก เราก็แก้กันต่อไป แต่ทุกอย่างสถานการณ์เป็นตัวกำหนดปัจจัยภายใน-ภายนอกเป็นตัวกำหนด”

“อย่าพูดตกร่องกันอยู่เหมือนเดิมเลย เพื่อเป็นการโจมตีรัฐบาลกันเลย ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมสำหรับผมเท่าไหร่ ต้องย้อนกลับไปดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ทุกท่านก็ทราบดีอยู่แล้วอย่าไปลืมตรงนู้น” นายกฯ กล่าวย้ำ

 

แน่นอนสิ่งที่รัฐบาลหยิบขึ้นมาอวดตอนนี้ก็คือโครงการ ‘ชิมช้อปใช้’ ที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม

โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ชิมช้อปใช้ประโยชน์เกิดขึ้นกับคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่แค่ 13 ล้านคน

โดยจากคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เม็ดเงินที่อัดฉีดลงไปจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินประมาณ 5-6 เท่าในระบบเศรษฐกิจ ผ่านร้านค้า ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 1.7 แสนราย คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก 2-3 หมื่นล้านบาท

เม็ดเงินนี้จะพุ่งเป้าตรงไปสู่ชุมชน และหมุนกลับไปที่ชุมชนอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ประมาณ 5-6 รอบการหมุนเวียน หรือมากกว่านั้น

มาตรการ “ชิมช้อปใช้” จึงไม่ใช่การแจกเงินเพื่อให้ผู้มีสิทธิจำนวนเพียงแค่ 13 ล้านคน ได้รับประโยชน์เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจฐานรากทั้งประเทศ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง เป็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณคุ้มค่าที่สุด”

 

อย่างไรก็ตามความงดงามในทุ่งลาเวนเดอร์ ของโครงการชิมช้อปใช้นั้น

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เตือนว่า

นอกจากสถานการณ์ภาคส่งออกในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพีแล้ว

อาจถูกซ้ำเติมจากการแข็งค่าของเงินบาทแตะระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ได้ การแข็งค่าในระดับดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก การจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม” นายอนุสรณ์กล่าว

ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เริ่มลดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2562 อย่างสอดคล้องกัน

อาทินายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้จาก 3.0% เหลือ 2.8% และชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.1% ส่วนปีหน้าคาดการณ์ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.3%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.1% คาดมาตรการชิมช้อปใช้มีผลต่อจีดีพีปีนี้ที่ 0.02% ขณะที่คาดจีดีพีปีหน้า มีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0%

ขณะที่นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมประเมินว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้า ภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น

ด้านนายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ไอเอ็มเอฟได้ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.9% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.5%

รวมถึงปรับประมาณการปี 2563 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3.5% เช่นกัน

 

สภาพเศรษฐกิจข้างต้น สะท้อนถึงภาวะถดถอยและยังมีแนวโน้มดิ่งลงไปอีก

ซึ่งนั่นย่อมไม่ใช่ภาพที่นายกฯ และรัฐบาลพยายามให้เห็น

ดุจเป็นสภาพ “เสมือนจริง” ว่าเศรษฐกิจยังดี มีความหวังเหมือนเดินในทุ่งลาเวนเดอร์

  คำถามคือนั่นคือความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยหรือ!