วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ คำตอบ สอบ เป็น ‘บรรณาธิการ’

โชติ แพร่พันธุ์

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

คำตอบ

สอบ เป็น ‘บรรณาธิการ’

 

การต่อสู้ทางกฎหมายของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มีมายาวนาน คือกรณีที่บทบัญญัติกำหนดให้ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย ขณะที่กฎหมายอาญากำหนดให้ผู้กระทำความผิดคือผู้รับโทษ หรือให้นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

ก่อนเข้ารับหน้าที่บรรณาธิการ ต้องทราบว่า เมื่อมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทซึ่งบทบัญญัติกำหนดว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ฯลฯ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ…”

หมายถึง “ผู้กระทำ…” เมื่อพิสูจน์มิได้ว่า “บรรณาธิการ” เป็นผู้กระทำ หรือมีผู้กระทำชัดเจน คือผู้ประพันธ์ “บรรณาธิการ” จึงไม่ควรรับโทษด้วย

แต่เมื่อกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมาย

ขณะที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติม มีบทบัญญัติผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต แต่แม้เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ย่อมลงโทษตามกฎหมายคือจำคุกไม่เกินกำหนด หรือปรับไม่เกินกำหนดได้

ขณะที่คำแถลงของทนายความต่อสู้คดี สุดท้ายขอความกรุณาต่อศาลว่า บรรณาธิการมิได้เป็นตัวการผู้กระทำความผิด หากศาลลงโทษจำคุก ขอความกรุณาให้ลงโทษเป็นรอลงอาญา หรือลดโทษลง เนื่องจากจำเลยเป็นผู้ทำประโยชน์ให้สังคม คือเป็นผู้บรรยายให้กับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ประการหนึ่ง ทั้งจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เป็นต้น คือความห่วงใยจากเพื่อนที่มีต่อเพื่อนของอาจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช กับผม

คือเหตุให้ศาลลดโทษจำคุกเป็น “รอลงอาญา” และลงโทษปรับแทน

นับเป็นความกรุณาของศาลท่านที่ส่วนใหญ่แล้ว หากกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อถึงสุดท้ายคือศาลฎีกา บรรณาธิการสารภาพยอมรับผิดตามข้อกล่าวหา แม้ในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์จะลงโทษจำคุกจำเลยคือบรรณาธิการก็ตาม ศาลฎีกาอาจปรับแก้คำพิพากษาเป็น “รอลงอาญา” และลงโทษปรับแทนได้เช่นกัน

 

ขณะที่โทษหมิ่นประมาทของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หรือผู้เขียนผู้ประพันธ์ ที่โจทก์ระบุตัวบุคคลได้ และข้อความนั้นศาลเห็นว่าเป็นหมิ่นประมาทจริง ศาลก็ลงโทษจำคุกได้

ดังนั้น เมื่อก่อน การเขียนบทความ หรือคอลัมน์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นใคร ส่วนใหญ่จึงใช้ “นามปากกา” ไว้ก่อน ขณะที่เมื่อก่อนผู้เป็นบรรณาธิการ เจ้าของหนังสือพิมพ์มัก “ว่าจ้าง” ใครบางคนมาเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และมักล้อเลียนว่า เป็น “บรรณาธิการรับจ้างติดคุก”

แล้วผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลข่าว บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ สมัยก่อนมีลักษณะ “กองบรรณาธิการ” คือตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการที่มีนักข่าวและคอลัมนิสต์ในสังกัดจำนวนหนึ่ง

เจ้าของสมัยนั้นคือ “นายทุน” ผู้ดูแลด้านจัดการ จัดหาโฆษณา และจัดจำหน่าย เป็นรายได้ของบริษัท แล้วว่าจ้างหัวหน้ากองบรรณาธิการทำหน้าที่หาผู้สื่อข่าวและคณะบรรณาธิการมาปฏิบัติงาน

ตัวหัวหน้ากองบรรณาธิการมักเป็นคอลัมนิสต์ทำหน้าที่เสมือนเป็น “แม่เหล็ก” มีผู้อ่านแฟนประจำ

ต่อมา “นายทุน” หนังสือพิมพ์ปรับเปลี่ยนเป็นเจ้าของตัวจริงเสียงจริง บรรณาธิการทำหน้าที่ควบคุม ดูแลข่าว บทความ คอลัมนิสต์ หรือบางคนเป็นคอลัมนิสต์ด้วยตัวเองมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้อ่าน

อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามความหมายที่แท้จริง และตามกฎหมาย คือ “บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งพิมพ์อื่นในหนังสือพิมพ์”

กระนั้นตามความเป็นจริง การทำหนังสือพิมพ์ คือ “สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อจ่าหน้าเช่นเดียวกัน และออกหรือเจตนาออกตามลำดับเรื่อยไป ไม่ว่าจะเป็นโดยการขาย เสนอขายจ่ายแจก หรือเสนอจ่ายแจก และไม่ว่าการนั้นจะเป็นการให้เปล่าหรือไม่” นั้น “บรรณาธิการไม่มีเวลา 24 ชั่วโมง” มาปฏิบัติหน้าที่เช่นนั้น

 

ฝ่ายรัฐเองกลับเห็นว่า หนังสือพิมพ์ มี “อิทธิพล” ต่อประชาชนในเรื่องที่เขียนเผยแพร่ การนำเสนอข่าวสาร ข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้อ่านหรือประชาชนได้รู้เห็น บรรณาธิการจึงต้องรับผิดชอบ

ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์เมื่อก่อนมักมาจากนักเขียน นักประพันธ์ในแนวทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นผู้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน เขียนหรือประพันธ์เรื่องเกี่ยวกับข้าราชการที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เขียนเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครองหรือรัฐบาลทุจริต นักการเมืองโกงกินภาษีประชาชน

ดังนักเขียนในยุคสมัยนั้นหลายคน เข้ามาประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และเขียนบทประพันธ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตีพิมพ์เป็นเล่มให้ผู้อ่านติดตามอ่านเป็นประจำ

บทประพันธ์ และการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักเขียนเหล่านั้นผู้อ่านรุ่นหลังเมื่ออ่านแล้วย่อมเห็นดีเห็นงามไปตามนั้น ทั้งยังเห็นด้วยกับการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม สิทธิเสรีภาพในสังคม  หลายคนจึงยินดีเข้ามาสู่แนวทางอาชีพนักเขียน ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี นักข่าว ที่มีแนวทางต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพี่น้องผู้ยากไร้ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐรังแก

ขณะในหน้าหนังสือพิมพ์ยังทำหน้าที่เสนอข่าวสารปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาให้ประชาชนไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใดมีโอกาสได้รับรู้เท่าเทียมกันทั่วประเทศ

ดัง สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโสกล่าวไว้ว่า “หนังสือพิมพ์คือมหาวิทยาลัยของประชาชน”

 

การทำหน้าที่ของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สมัยก่อน รัฐยังจัดให้มีการสอบเป็นบรรณาธิการ และสมัยหนึ่งยังจะกำหนดวุฒิการศึกษาอย่างน้อย “ปริญญาตรี” ทั้งที่ผู้เข้ามาปฏิบัติในอาชีพนี้ย่อมเป็นผู้อ่านออกเขียนได้ มีความรู้ด้านภาษาและความรู้ทั่วไปอย่างดี ทั้งในจำนวนหนึ่งยังเป็นผู้มีความรู้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้รู้เรื่อง มีวิจารณญาณพอที่จะรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์

นักเขียนนักหนังสือพิมพ์จึงมักเรียกร้องประชาธิปไตยอันเป็นอำนาจของประชาชนมาโดยตลอด

สมัยเมื่อรัฐบาลให้ผู้จะเป็นบรรณาธิการสอบข้อเขียน ไม่ทราบด้วยเจตนาอะไร หรืออย่างน้อยสอบเพื่อรู้เรื่องการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ว่ามีหน้าที่อย่างไร และมีสิทธิเสรีภาพมากน้อยขนาดไหน

โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา “ยาขอบ” คือผู้หนึ่งที่เข้าสอบเป็นบรรณาธิการยุคนั้นตอบข้อสอบเพียงบรรทัดเดียวว่า “หน้าที่บรรณาธิการคือ ประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น”

ปรากฏว่า “สอบผ่าน” เรื่องนี้ ขรรค์ชัย บุนปาน นำมาเล่าให้พี่เพื่อนน้องฟังเป็นประจำ