รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/ 5 G กำลังจะมา เน็ตชายขอบ ยังไม่เสร็จ

รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 5 G กำลังจะมา

เน็ตชายขอบ ยังไม่เสร็จ

 

เน็ตชายขอบทีโอทีล้มเหลว ถูก กสทช.ยกเลิกสัญญาหลังล่าช้ามานานนับปี ทำประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเสียประโยชน์จากการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทั้งที่ กสทช.ผ่อนปรนจนถึงที่สุด แต่สุดท้ายไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด

การยกเลิกสัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (โซนซี+) ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดูแล ทำให้ประชาชนทั้งชายขอบ หรือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารจำนวน 3,920 หมู่บ้านต้องเดือดร้อนขาดโอกาสการเข้าถึง เพียงเพราะต้องรอโครงการของทีโอที ที่ทำไม่สำเร็จเหมือนเจ้าอื่นๆ เพียงรายเดียว

ในขณะที่บริษัทที่ชนะการประมูลบริษัทอื่นทำเสร็จและรอวันเปิดใช้งานในเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ทีโอทีชนะการประกวดราคา 3 สัญญา วงเงินรวม 6.4 พันล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ได้แก่

1.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคเหนือ 2 มูลค่า 2.1 พันล้านบาท

2.โครงการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.4 พันล้านบาท

และ 3.โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) 1.8 พันล้านบาท

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา กสทช.ได้ส่งหนังสือยกเลิกสัญญากับทีโอที หลังจากที่ กสทช.ได้ให้โอกาสในการขยายระยะเวลาในการส่งมอบให้แล้ว จากเดิมทีโอทีต้องส่งมอบตั้งแต่ 27 กันยายน 2561 และขยายให้เป็น 15 กันยายน 2562

แต่ทีโอทีก็ไม่สามารถส่งมอบได้

กรรมการคุณธรรมให้ความเห็นว่า หากไม่ยกเลิกสัญญาเน็ตชายขอบกับทีโอที สำนักงานอาจเข้าปิ้งไปด้วย ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ผ่อนปรนถึงที่สุดแล้ว

 

ปัญหาหลักที่ทีโอทีไม่สามารถส่งมอบงานได้มี 2 เรื่องคือ ไฟเบอร์ออพติก ไม่ตรงกับเงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ ที่กำหนดให้ซื้อของภายในประเทศเท่านั้น แต่ทีโอทีจัดซื้อจากต่างประเทศ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้ กสทช.ไม่ยอมรับเพราะไม่ปฏิบัติตามทีโออาร์

แต่มีอีกปัญหาหนึ่งคือการสร้างอาคาร USO Net ที่เกิดจากการบริหารจัดการผิดพลาด สร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เนื่องจากมีการสร้างในจุดที่ไม่ได้รับการอนุมัติแบบให้สร้าง รวมถึงมีการสร้างอาคารผิดแบบจาก TOR กำหนด และมีการสร้างแต่ฐานรากและไม่สร้างต่อ

อีกทั้งมีการจ้างผู้รับเหมางานกันเป็นทอดๆ ทำให้สุดท้ายเกิดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเงิน และเกิดการทิ้งงานในที่สุด

เมื่อทดสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตแล้วก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้คือ 30/10 Mbps แต่ตรวจวัดได้ 5 Mbps แม้กระทั่งตัวเครื่องสำรองไฟ หรือยูพีเอส ก็ไม่สามารถสำรองไฟได้จริง

เมื่อกรรมการตรวจรับทดลองถอดปลั๊กไฟออกก็ต้องผงะ เพราะยูพีเอสไม่สามารถจ่ายไฟสำรองได้แม้แต่นาทีเดียว

นอกจากนี้ยังพบว่าทีโอทีไม่ติด Label ที่ตู้ตามข้อกำหนด แถมภายในตู้ยังมีฝุ่น เศษใบไม้ สกปรก

 

‘นโยบายของประเทศที่ต้องขับเคลื่อน เราต้องมี 5 G พร้อมกับให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ทั่วถึงทั้ง 70,000 กว่าหมู่บ้านให้ได้ภายในปีหน้า’

การพลิกโฉมประเทศไทย ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี ดิจิตอล มาปรับใช้ในทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนในระดับรากหญ้า และนำมาใช้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคิดค้น การผลิต การบริการ การตลาด การขาย และอื่นๆ อีกมากมาย

นั่นคืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลเร่งผลักดันโครงการเน็ตประชารัฐ 75,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ

อันจะนำไปสู่ “อี-คอมเมิร์ซ” ที่เกษตรกรสามารถขายสินค้าผ่านออนไลน์ “อี-เลิร์นนิ่ง” ที่นักเรียนชนบทได้รับการสอนจากครูเก่งๆ “อี-เมดิซีน” ผู้ป่วยในหมู่บ้านห่างไกลได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์มือดี และ “อี-กัฟเวิร์นเมนต์” ที่ภาครัฐจะให้บริการต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

“เน็ตชายขอบ” หรือโครงการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (โซนซี) โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยเติมเต็มและเร่งให้เน็ตประชารัฐเสร็จสมบูรณ์ตามเป้าหมาย

กสทช.จัดประมูลเฟสแรก 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 13,614.62 ล้านบาท แต่ประกวดราคาในวงเงิน 12,989.69 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท

เซ็นสัญญาไปแล้ว 10 สัญญา แบ่งเป็นการจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 5 สัญญา และการจัดให้มีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 5 สัญญา

โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการจะสามารถใช้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps ได้ในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้จะมี USO แพ็กเกจรุ่นเล็ก ความเร็ว 15 Mbps ราคาไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน

และ USO แพ็กเกจรุ่นจิ๋ว ความเร็ว 10 Mbps ราคาไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน เฉลี่ยไม่เกินเม็กละ 10 บาท ให้บริการสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยและมีความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วต่ำกว่า 30 Mbps

ส่วนการให้บริการที่ไม่เสียค่าบริการเพื่อสาธารณะ ได้แก่ ไวไฟสาธารณะ 3,149 จุด เฉลี่ยหมู่บ้านละ 1 จุด อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในหน่วยงานภาครัฐ ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1,317 แห่ง รวมทั้งมีศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตสาธารณะ 763 ศูนย์ พร้อมผู้ดูแลประจำศูนย์อย่างน้อย 1 คน

ซึ่งทั้งหมดจะให้บริการฟรีตลอดระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ กสทช.ยังได้วางเป้าหมายให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ต่ำกว่า 30 Mbps เปิดบริการไม่น้อยกว่า 588 หมู่บ้าน ภายในเดือนธันวาคม 2560 และอีก 2,352 หมู่บ้าน ภายในเดือนเมษายน 2561

ก่อนเปิดให้บริการครบ 100% ในเดือนสิงหาคม 2561

 

นับจากการเซ็นสัญญาถึงขณะนี้ งานทั้งหมดในส่วนของ “ทีโอที” ไม่คืบหน้า โครงการล่าช้ากว่าผู้ประมูลรายอื่นเป็นปี

เมื่อเห็นผลงานของ “ทีโอที” จากโครงการเน็ตชายขอบเฟสแรกแล้ว บอร์ด กสทช.จึงมีมติให้เดินหน้าเปิดประมูลเน็ตชายขอบโซนซี เฟส 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้านอีกครั้ง

การเป็นตัวถ่วงโครงการเน็ตประชารัฐล่าช้า ไม่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะให้แล้วเสร็จทั่วประเทศในปี 2561 เช่นนี้แล้วใครจะรับผิดชอบ!