ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ไทยไม่ได้ถูกสหรัฐตัดจีเอสพีเพราะเศรษฐกิจดีอย่างรัฐบาลโกหก

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ข่าวสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของสินค้าไทยทำให้คนบางส่วนเข้าใจผิดว่าสินค้าไทยถูกแบน ตัวอย่างเช่นคุณแอ๊ด คาราบาว ถึงแก่แต่งเพลงว่าอเมริกาเป็นมหาอำนาจอันตราย แต่ที่จริง “สิทธิพิเศษทางภาษี” คือ “อภิสิทธิ์” ที่สหรัฐจะให้ประเทศไหนก็ได้ และการเลิกให้อภิสิทธิ์ไม่ใช่การห้ามขายสินค้าแต่อย่างใด

ความสับสนแบบคุณแอ๊ดเป็นผลจากวาทกรรมเรื่อง “อเมริกันอันตราย” ซึ่งยุคหนึ่งเห็นว่าอเมริกาเป็นประเทศ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อประชาชนโลก แต่ที่จริงการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีไม่ใช่การคุกคามไทย มิหนำซ้ำยังเป็นผลของการเกิดมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศแบบที่เป็นธรรมกับทุกคน

แปลกดีที่ทุกวันนี้ไทยตามก้มจีนหลายเรื่อง ซ้ำความสัมพันธ์กับจีนก็เป็นแบบถูกเอาเปรียบจนเข้าค่ายจะถูกพูดถึงแบบแรงๆ ว่า “สมุนจีน” แต่คนไทยที่พูดเรื่อง “จีนอันตราย” กลับมีน้อยมากเมื่อเทียบกับ “อเมริกันอันตราย” ทั้งที่ความสัมพันธ์กับอเมริกาเป็นแบบที่เอาเปรียบน้อยและไทยได้ประโยชน์มากเหลือเกิน

จริงอยู่ การถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นมรสุมทางการค้าที่ถล่มนักธุรกิจไทย เพราะสิทธิพิเศษทำให้คนกลุ่มนี้ขายสินค้าด้วยต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งประเทศอื่น แต่ผลประโยชน์ของพ่อค้าไม่เท่ากับผลประโยชน์ประเทศ และสิ่งที่พ่อค้าที่ควรทำคือหาตลาดหรือสร้างจุดขายอื่น ไม่ใช่ดิ้นรนค้าขายแบบเอาเปรียบต่อไป

ในฐานะที่ได้ชื่อว่าเป็นนักร้องผู้พิทักษ์ความเป็นธรรมมานาน คุณแอ๊ดควรมีวุฒิภาวะและความรับรู้พอที่จะรู้ว่าผลประโยชน์ของธุรกิจไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชาติ และโลกทุกวันนี้ถือว่าสิทธิแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรง

ในโลกที่สิทธิแรงงานควบรวมกับมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศอย่างปัจจุบัน สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นสิ่งที่ไทยได้จากการ “เจรจา” ให้ประเทศที่เจริญแล้วเชื่อว่าเราปฏิบัติมาตรฐานดังกล่าว เช่นเดียวกับการถูกตัดสิทธิก็เป็นผลจากความล้มเหลวในการ “เจรจา” ให้โลกเชื่อว่าเราทำมาตรฐานนั้นด้วยเช่นกัน

ถ้าคำนึงว่าสมาพันธ์คนงานอเมริกา (AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้สำนักงานผู้แทนการค้า (USTR) ตัดจีเอสพีไทยตั้งแต่ตุลาคม 2558 ก็แปลว่ารัฐบาลไทยมีเวลาเจรจาเรื่องนี้มาสี่ปีแล้ว และหากเชื่อคำพูดโฆษกสำนักนายกว่ารัฐบาลรูุ้เรื่องนี้ล่วงหน้า ก็แปลว่ารัฐล้มเหลวที่จะหามาตรการช่วยนักธุรกิจก่อนปัญหานี้จะลุกลาม

ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ การที่สหรัฐยอมสูญเสียรายได้จากภาษีนำเข้าสินค้าย่อมแสดงถึงไมตรีกับไทย และถึงแม้ไทยซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ด้านนี้จะไม่มีสิทธิโวยวายอะไร คุณประยุทธ์กับคุณดอนคือคนที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงที่ปล่อยปละละเลยให้ความสัมพันธ์นี้ผุกร่อนจนเกิดปัญหาในปัจจุบัน

คุณประยุทธ์ประโคมข่าวตอนเยือนทำเนียบขาวว่ารู้สึกเหมือนสนิทกับประธานาธิบดีทรัมป์มานาน แต่หลักฐานของความซี้ซั้วนับญาติกับทรัมป์เกินความจริง ก็ให้ผลเป็นการเจรจาที่ล้มเหลวไปแล้ว ส่วนคุณดอนผู้จัดทีมทูตและอธิบดีไปเจรจาสหรัฐต้นมกราคม 2559 ก็มีส่วนต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน

คุณจุรินทร์โชคร้ายที่เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ในเวลาที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของไทย เพราะนักธุรกิจที่เคยส่งของไปขายโดยไม่เสียภาษี 571 ประเภท ต้องเผชิญการขายที่ยากขึ้นจนรายได้กับปริมาณการส่งออกลดลงแน่ๆ คุณจุรินทร์จึงต้องแก้ปัญหาที่คุณประยุทธ์และคุณดอนก่อไว้โดยไม่มีทางเลือกอะไรเหลือเลย

เป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องบอกว่าการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร เพราะถ้าสังคมเห็นว่าเรื่องนี้มีปัญหา คำวิจารณ์นายกและรัฐบาลก็จะกึกก้องมากขึ้น คุณจุรินทร์จึงทำถูกแบบที่รัฐมนตรีทุกคนคงทำ นั่นคือบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา ถึงแม้จะย้อนแย้งด้วยการบอกต่อว่าเดี๋ยวจะหาทางเจรจาก็ตาม

พลเอกประยุทธ์และคุณจุรินทร์อ้างว่าการถูกตัดจีเอสพีทำให้ธุรกิจไทยเสียภาษีเพิ่มขึ้นนิดเดียว แต่สาระสำคัญของภาษีคือทำให้ความได้เปรียบของไทยเสียไปจนโอกาสในการขายย่อมเสียไปด้วย มูลค่าสินค้าที่สูงถึงสี่หมื่นล้านนี้เกี่ยวพันกับห่วงโซ่การผลิต, วัตถุดิบ,การจ้างงาน ฯลฯ อีกมหาศาลที่จะกระทบระยะยาว

ภายใต้ภาษีที่รัฐบาลอ้างว่าธุรกิจไทยจ่ายเพิ่มนิดเดียว เม็ดเงินนี้อาจเป็นเหตุให้หลายโรงงานต้องลดการผลิต, เลิกจ้างคนงาน, ลดการซื้อสินค้าทุน รวมทั้งชะลอการขยายกิจการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปแบบทวีคูณจึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นกว่าเงินภาษีที่เสียไปอีกมาก ถึงรัฐบาลจะไม่เคยบอกตัวเลขนี้แก่ประชาชน

ตรงข้ามกับทางการไทยที่บอกว่าการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีไม่มีผลอะไร คำแถลงของผู้แทนการค้าสหรัฐระบุชัดว่าการตัดจีเอสพีเป็นการกระทำทางยุทธศาสตร์ (Strategic Move) ที่จงใจเลือกสินค้าที่อเมริกาเป็นตลาดหลักของไทยทั้งสิ้น การตัดจึงหวังผลให้ไทยเดือดร้อนแน่ๆ ไมว่ารัฐบาลไทยจะพูดอย่างไรก็ตาม

ขณะที่พลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีพาณิชย์พยายามบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไร ทั้งคู่ก็บอกอีกเช่นกันว่าจะหาทางเจรจาเรื่องนี้ก่อนที่การตัดสิทธิจริงๆ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.2020 แต่ความล้มเหลวในการเจรจาตั้งแต่ปี 2558 ก็แสดงให้เห็น “น้ำยา” ของคุณประยุทธ์กับคุณดอนจนคาดหวังอะไรได้ยากเหลือเกิน

กองเชียร์รัฐบาลพูดกันเป็นตุเป็นตะว่าทรัมป์ตัดจีเอสพีเพราะโกรธที่ไทยเอียงข้างจีน แต่ที่จริงการตัดจีเอสพีเป็นผลจากการบรรจบกันของการเมืองเชิงผลประโยชน์ในอเมริกา, การเมืองเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศหลายอย่างซึ่งอาจทำให้ไม่ง่ายที่รัฐบาลจะเจรจาได้อย่างที่ควรเป็น

ต้องตระหนักก่อนว่าจุดเริ่มต้นของกระบวนการตัดสิทธิพิเศษของไทยคือคำร้องของสมาพันธ์คนงานอเมริกา (AFL-CIO) ซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้แรงงานใหญ่ที่สุดในสหรัฐที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 12 ล้านคน องค์กรจึงมีผลอำนาจต่อรองสูง และยิ่งสูงมากขึ้นเมื่อสหรัฐจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.ในปีถัดไป

แม้ตอนนี้จะไม่มีใครเชื่อว่านายกไทยซี้กับประมุขอเมริกา แต่ท่าทีทางการไทยเหมือนจะไม่เข้าใจพลังของ “เจ้าทุกข์” ในการตัดจีเอสพีรอบนี้มากนัก คุณประยุทธ์ยังพูดเรื่อยเปื่อยว่าไทยถูกตัดเพราะเศรษฐกิจโตมาก ส่วนรัฐมนตรีและข้าราชการก็ไม่มีพูดถึงพลังขององค์กรแรงงานที่ผลักดันจนรัฐบาลอเมริกาทำเรื่องนี้เลย

ยิ่งใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีมากเท่าไร ผู้ใช้แรงงานก็ยิ่งเป็น “ผู้มีสิทธิลงคะแนน” ที่มีอิทธิพลต่อประธานาธิบดีขึ้นเท่านั้น โจทย์ที่ฝ่ายไทยต้องคิดคือทำอย่างไรให้ผู้นำอเมริกาเห็นว่าต้องฟังไทยกว่าคนงานอเมริกาสิบสองล้าน หรือกลับกันคือต้องทำให้แรงงานอเมริกาคลายความสนใจต่อการตัดจีเอสพีไทย

ถึงการเสนอตัดจีเอสพีไทยจะมาจากองค์กรผู้ใช้แรงงาน แต่ควรระบุด้วยว่าแนวคิดนี้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของอเมริกาซึ่งมีด้านที่เป็น “การกีดกันการค้า” (Protectionism) และการสร้างดุลการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลไทยจึงต้องคิดเรื่องนี้ยิ่งกว่าหวังหาจังหวะชุลมุนประกบทรัมป์เวลาเจอกันตามงานประชุม

อุปสรรคอีกข้อที่ทำให้เจรจายากคือรัฐและสังคมไทยไม่ตระหนักถึงสิทธิแรงงาน ขณะที่คำร้องของสมาพันธ์คนงานอเมริกากับสำนักงานผู้แทนการค้าพูดเรื่องไทยไม่เคารพ “เสรีภาพในการรวมตัว” (Freedom to Association) และ “เสรีภาพในการต่อรองกับนายจ้าง” (Freedom to Collective Bargaining) อย่างชัดเจน

ในยุคสมัยที่สิทธิแรงงานเกาะเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าและการสร้างดุลการค้าอย่างปัจจุบัน ประเทศไทยที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ยอมรับให้ลูกจ้างรวมตัวเป็นคณะกรรมการ, สหภาพ, สหพันธ์ ฯลฯ ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานไปหักล้างข้อกล่าวหาว่าเราละเมิดสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้เลย

หากสำรวจคำร้องของสมาพันธ์แรงงานอเมริกา ประเทศไทยในปี 2558 เต็มไปด้วยการเลิกจ้างสหภาพ, ดำเนินคดีผู้นำ ฯลฯ และนับตั้งแต่เผด็จการทหารปกครองประเทศในปี 2557 คนงานก็ไม่มีสิทธิรวมตัวเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน จนคำถามคือเราจะทำให้ต่างชาติเชื่อได้อย่างไรว่าปัญหานี้หมดไปจริงๆ

โดยปกตินั้นรัฐมนตรีแรงงานควรเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันนโยบายเพื่อให้ไทยหลุดพ้นข้อหาละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ในคำแถลงของม.ร.ว.จัตุมงคล ความเข้าใจของรัฐมนตรีคืออุปสรรคสำคัญของการเจรจาภาษีรอบนี้ เพราะรัฐมนตรีไม่พูดแม้แต่คำเดียวว่าไทยมีปัญหานี้ จึงไม่มีวันพูดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ในคำแถลงของรัฐมนตรีแรงงาน ไทยไม่มีปัญหาแรงงานเด็กและการค้ามนุษย์ แต่ที่จริงไทยจะมีปัญหานี้หรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะประเด็นที่องค์กรแรงงานอ้างและรัฐบาลสหรัฐเห็นด้วยคือการละเมิดเสรีภาพในการรวมกลุ่มและต่อรอง ท่าทีรัฐมนตรีจึงเป็นสัญญาณของการเจรจาที่จะล้มเหลวในระยะยาว

ด้วยความเป็นจริงของประเทศและความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นเบื้องหลังการตัดจีเอสพี รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ไม่ได้แสดงให้เห็นความสามารถในการเจรจาภาษีกับอเมริกามากนัก ท่าทีการเมืองระหว่างประเทศของไทยเป็นอีกเรื่องที่ทำให้ปัญหานี้แก้ยากขึ้น แต่นั่นเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวถึงในโอกาสถัดไป

การถูกสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีเป็นหลักฐานว่านายกและรัฐมนตรีหลายคนไร้น้ำยา แต่สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือวาทกรรมโก๊ะกังว่าสหรัฐตัดจีเอสพีเพราะเศรษฐกิจไทยดี เพราะรัฐบาลที่ปั้นน้ำเป็นตัวคือรัฐบาลที่พูดโกหก ไม่มีอะไรน่ารำคาญกว่ารัฐบาลด้อยความสามารถที่ขยันโกหกเพือปกปิดความอ่อนด้อยของตัวเอง