การเกิดขึ้น ของ ‘พระไตรปิฎก’ เกิดขึ้นที่ไหน-อย่างไร ?

สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (29)

พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก

ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรก ครั้งที่สองด้วย อะไรประมาณนั้น ความจริงก็เกิดขึ้นครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

เดิมทีเดียวพระไตรปิฎกปรากฏอยู่ในรูปเป็น “พระธรรม-วินัย” (ธมมฺวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสั่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า “ทรงประกาศพระธรรมวินัย” บ้าง “ทรงประกาศพรหมจรรย์” บ้าง

(ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ “ศาสนา” เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า “พุทธ” นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่า ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือ แบ่งเป็น 9 หมวด เรียก “นวังคสัตุสาสน์” คือ (1) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน (2) ประเภทร้อยกรองล้วน (3) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง (4) ประเภทอรรธาธิบาย (5) ประเภทคำอุทาน (6) ประเภทคำอ้างอิง (7) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก (8) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ (9) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆขึ้น

มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น “วรรค” เช่น ตอนเล่าเรื่องพระโสภณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน “อัฏฐกวรรค” และ “ปรายนวรรค” ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครสวาสวก ได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร” และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส Present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟังโดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ของเหล่ามัลลกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระไตรปิฎก” ในสมัยพุทธกาลแม้หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียก เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ 500 รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่ ก็ไม่เอยคำว่า “พระไตรปิฎก”

ยังคงใช้คำว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” อยู่

แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย “วัตถุ 10 ประการ” ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า “ธมฺมวินย วิสชฺชนา” (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2-3 คือหลังสังคายนาครั้งที่ 2 ถึงสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเอง ได้เกิดคำว่า “ปิฎก” ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย “ธรรม” ได้แตกออกเป็นพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วน “วินัย” เป็นพระวินัยปิฎก

หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ใน “จารึกสาญจิสถูป” มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น

เปฎกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร

ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรี ผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5

นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศก ทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้งเพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึงอริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาตคภยานิ (ปรากฏอยู่ในอังคุตตนิกายและขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์ กลาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่า พระธรรมวิสัยได้แตกออกเป็นพระไตรปิฎกแล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก หลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 3 และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกแน่นอน