หนุ่มเมืองจันท์ | การเดินทางของความคิด

คอนเสิร์ต “เพลงประภาส 3” ผ่านไปหลายวันแล้ว

แต่ภาพบรรยากาศยังอยู่ในความทรงจำจนถึงตอนที่เขียน

มันเป็นคอนเสิร์ตที่เหนือความคาดหมาย

ระดม “ยอดมนุษย์” จากทุกสารทิศ

เป็นโชว์ที่คิดทุกรายละเอียด

ที่เคยได้ยินคำว่า “พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด”

เราสามารถเห็น “พระเจ้า” ได้จากคอนเสิร์ต “เพลงประภาส 3”

เขาสร้างอัฒจันทร์ขึ้นใหม่ใน “พารากอน ฮอลล์” ยกระดับขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ดูคอนเสิร์ตแบบไม่มีใครนั่งบัง

ปรับรูปแบบเวทีใหม่ ยาวเหยียด ให้ทุกที่นั่งได้ใกล้ชิดกับศิลปินมากที่สุด

เปลี่ยนเก้าอี้ใหม่หมด เพื่อให้นั่งสบายขึ้นเพราะคอนเสิร์ตนี้ยาวเหยียดถึง 4 ชั่วโมงครึ่งไม่มีพัก

วันซ้อมใหญ่ ส่งคนไปนั่งตามจุดต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิด “จุดบอด” ในแต่ละช่วงเพลง

ตรงไหนลำโพงบังตัวอักษร ตรงไหนแสงส่องเข้าตามากไป ตรงไหนเห็นช่องตรงพื้นเวที ฯลฯ

และ…อื่นๆ อีกมากมาย

คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยภาพของ “ดอกหญ้า” ที่วาดด้วยลายเส้นของ “พี่จิก”

ค่อยๆ สลัดเกสรเป็นรูปการ์ตูนและตัวโน้ตบนจอแอลอีดีขนาดใหญ่และยาวเหยียดเต็มเวที

แสงสีเสียงสุดยอดมาก

ภาพบนจอเหมือนงานศิลปะในคอนเสิร์ต

จนคนที่บัตรแพงนั่งใกล้อิจฉาคนที่อยู่ด้านหลัง

เพราะได้เห็นงานศิลปะเต็มตา

“พี่จิก” เปิดคอนเสิร์ตด้วย “ตูน บอดี้สแลม” กับเพลง “จากวันนั้นถึงวันนี้”

“จากวันวานนั้นที่เงาฟ้ายังหม่น ฝ่าแดดลมฝนที่ผ่านมา

จากวัยเด็กน้อยที่คอยคิดไปว่า

เมื่อไหร่เล่าฟ้าจะเปลี่ยนสี”

เป็นเพลงร็อกในหนัง “วัยระเริง”

“แหวน ฐิติมา” ร้อง

ไม่น่าเชื่อว่าพอเพลงนี้เข้าปาก “ตูน”

มันกลายเป็นเพลงของ “ตูน” ไปเลย

“จะเหวี่ยงโลกก็แสนเบา ก็เมื่อโลกเป็นของเรา

ใช่…โลกเป็นของเรา”

แวบหนึ่ง ผมนึกถึง “เด็กน้อย” ที่ชื่อ “ประภาส ชลศรานนท์”

เพลงนี้ “พี่จิก” แต่งเมื่อปี 2527

ตอนนั้นเขาน่าจะอายุประมาณ 24 ปี

วันนั้น โลกใบนี้เบามา

และใช่…โลกนี้เป็นของเรา

“พี่จิก” เลือกเพลงได้เข้ากับศิลปินมาก

ทุกเพลงที่เคยฟัง พอเข้าปากศิลปินที่เลือกมา

มันกลายเป็นอีกมิติหนึ่งไปทันที

ทั้ง “ตูน – ปาล์มมี่- คิว วงฟลัวร์ – รัดเกล้า อามระดิษ – แนน สาธิดา – ลูกหว้า พิจิกา – สามโทน – เฉลียง – จั๊ก ชวิน – วง scrubb – น้องตั๊ก”

ที่ผมชอบที่สุดคือ การกลับมาของ “สามโทน”

ส่วนหนึ่งเพราะผมชอบ “ธงชัย ประสงค์สันติ”

และครั้งนี้ก็ไม่ผิดหวัง

มุขเรื่อง “กัญชา” กับ “มะละกอ” ฮามาก

ยิ่งตอน “ปาล์มมี่” ออกมาร่วมร้องเพลง “เจ้าภาพจงเจริญ”

เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนกับ “ลูกท่านทูต”

ร้องเพลงกับ “คนสวน”

ขยี้มุขนี้ หัวเราะจนเหนื่อย

เช่นเดียวกับช่วง “เฉลียง” ที่ทุกคนรอคอย

“จุ้ย” ออกมาก่อนกับเพลงที่เขาเลือกร้องในคอนเสิร์ตนี้

เพลงที่มีความยาว 4 บรรทัด

“ลมหายใจของกันและกัน”

แต่เล่นมุขกับ “หนึ่ง จักรวาล” ได้น่ารักและขำกระจาย

พอเข้าสู่ช่วง “เฉลียง”

ผมชอบที่เขาเลือกดึง “พี่จิก” ลงจากท้องฟ้า

เพราะศิลปินแต่ละคนต่างชื่นชมคนชื่อ “ประภาส”

แต่ “พี่เจี๊ยบ” วัชระ ปานเอี่ยม และ “พี่แต๋ง” ภูษิต ไล้ทอง เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับ “พี่จิก”

เขาบอกว่า “พี่จิก” แต่งเพลงไม่รู้เรื่อง

ไล่ตั้งแต่เพลง “กล้วยไข่”

“เธอกับฉัน” ที่ชวนคนดูแต่งเพลงเลียนแบบเพลงนี้

เพื่อบอกให้รู้ว่าเพลงแบบ “พี่จิก” ใครๆ ก็แต่งได้

หรือการเล่นกับเพลงเชียร์ภาษามนุษย์ต่างดาวของคณะถาปัด จุฬาฯ ที่ “พี่จิก” แต่ง

“ฮัมพรนาแม”

สุดยอด

แต่ไฮไลต์ที่ทีมงานตั้งใจมาก คือเพลง “ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน”

“รัดเกล้า” ร้องได้ไพเราะจับใจ

และช่วงท่อนกลางเพลง เขาทำให้เพลงรักเข้าสู่การตีความที่กว้างขึ้น

ภาพบนจอเปลี่ยนเป็นเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง

“สืบ นาคะเสถียร”

“ไม้ขีดไฟ” ที่ยอมเผาผลาญตนเองเพื่อให้ “ดอกทานตะวัน” หันมามอง

ปกป้องพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรเอาไว้ได้

หลายคนน้ำตาซึมกับเพลงนี้

และตามมาด้วยเพลง “ฝากเอาไว้” ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติให้คนรุ่นหลัง

“ท้องทะเลและป่าเขาลำเนาไพร

ฟ้าและเมฆและหมอกดาวดวงน้อยใหญ่

แดดที่ยังส่องแสง น้ำบนใบหญ้า ลมที่ยังพัดโชย

ฝากเอาไว้ ฝากเอาไว้

ฝากเอาไว้ ไว้ที่เธอ”

“ผู้ชาย” คนที่เคยคิดว่า “ใช่…โลกนี้เป็นของเรา”

วันนี้เติบโตขึ้นแล้ว

ช่วงท้ายคอนเสิร์ต ผมนั่งสังเกตการเรียงลำดับเพลง

อยากรู้ว่า “พี่จิก” ตั้งใจจะทิ้งจบอย่างไร

อยากทิ้งอะไรให้อยู่ในความทรงจำของคนตอนเดินออกจากคอนเสิร์ต

ลองดูการเรียงเพลงนะครับ

“อื่นๆ อีกมากมายๆ-ต้นชบากับคนตาบอด-นาฬิกา-พระพุทธเจ้า-อิฐก้อนนั้น”

และจบลงด้วยเพลง “เรามาจากไหน”

ลองเปิดเพลงฟังหรืออ่านเนื้อเพลงดูสิครับ

ทุกเพลงเล่นกับ “มุมมอง” ชีวิต และ “ใจ”

ใจที่เปิดกว้าง การมองโลกในมุมที่แตกต่าง ใจที่รวมกันเป็นหนึ่ง ฯลฯ

เขาขึ้น “เนื้อเพลง” ทุกเพลงบนจอ

นอกจากทำหน้าที่เพื่อให้คนดูได้ร้องตามแล้ว

“เนื้อเพลง” บนจอยังแสดงถึง “พลัง” แห่ง “ตัวอักษร” จากปลายปากกาของ “พี่จิก” ว่าสุดยอดเพียงใด

ตอนที่เห็นเนื้อเพลง “พระพุทธเจ้า” ท่อนที่พูดถึงสายพิณที่ตั้งไว้หย่อนหรือตึงเกินไป

ก่อนจะจบด้วย “ธรรมะ”

“หนทางแห่งพุทธะ คือ ทางสายกลางอันเบิกบาน

ให้อยู่กับคืนวัน คือ ปัจจุบันอันตื่นรู้”

ผมรู้สึกเลยว่าคอนเสิร์ตนี้คือ เส้นทางการเดินทางของความคิด “พี่จิก”

จากเด็กหนุ่มที่ห้าวหาญ มาเป็นผู้ชายที่เข้าใจโลก

ก่อนจะตั้งคำถามกับทุกคนให้อย่าลืมว่า “เรามาจากไหน” ในเพลงสุดท้าย

เสียงเพลงจบลง

แต่คอนเสิร์ตนี้ยังไม่จบ

จำตอนเริ่มต้นคอนเสิร์ตได้ไหมครับ

“ดอกหญ้า” สลัดเกสรออกมาเป็นการ์ตูน ตัวโน้ต บนจอตลอดเวลา

ดังนั้น ตอนจบ “เกสร” ก็ต้องร่วงหล่นลงพื้น

เขายิงกระดาษที่เขียนเนื้อเพลงสั้นๆ ของแต่ละเพลง

ให้ “เกสร” ของเพลงโปรยปรายลงมา

เพื่อให้คนดูเก็บเป็นที่ระลึก

ผมคว้าได้มาแผ่นหนึ่ง

เป็นเนื้อเพลง “อิฐก้อนนั้น”

“อย่ายอมให้ลมพัดเราไป

อย่ายอมเพราะความง่าย”

“พี่จิก” เคยบอกว่า ถ้ามี 2 ทางให้เลือกทำ

ง่ายกับยาก

“ผมเลือกทำทางที่ยากเสมอ”

คอนเสิร์ต “เพลงประภาส 3” จึงไม่ธรรมดา