ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์/MALEFICENT : MISTRESS OF EVIL ‘นางร้าย’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

MALEFICENT : MISTRESS OF EVIL

‘นางร้าย’

 

กำกับการแสดง Joachim Ronning

นำแสดง Angelina Jolie Elle Fanning Harris Dickinson Michelle Pfeiffer Sam Riley Chiwitel Ejiofor

 

เมื่อห้าปีที่แล้ว ดิสนีย์จับเอาเทพนิยายที่เคยสร้างเป็นหนังการ์ตูน Sleeping Beauty เรื่องเก่ามาเล่าใหม่ด้วยการวางบทบาทของนางตัวร้ายให้เป็นตัวเอกของเรื่อง

Sleeping Beauty ฉบับการ์ตูนวาดมือของดิสนีย์ยังติดตราอยู่ในความทรงจำตั้งแต่วัยเด็กในหลายๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากที่นางฟ้าสามองค์แต่งองค์ทรงเครื่องให้เจ้าหญิงออโรราที่เข้าสู่วัยสาวและกำลังจะพ้นคำสาปของนางตัวร้ายที่ชื่อ มาเลฟิเซนต์ ผู้จงเกลียดจงชังและสาปแช่งทารกน้อยในวัยแบเบาะให้ต้องหลับใหลไปตลอดกาล เพียงเพราะนางไม่ได้รับเชิญให้มาร่วมฉลองการประสูติของเจ้าหญิงน้อย

นางฟ้าตัวน้อยอ้วนกลมจอมจุ้นเสกเสื้อผ้าให้เจ้าหญิงออโรราสวมแล้วก็ใช้ไม้กายสิทธิ์เนรมิตสีสันของเสื้อผ้าให้ คนหนึ่งชอบสีชมพูจึงเสกให้ชุดเป็นสีชมพู อีกคนชอบสีฟ้า จึงเสกสีฟ้า และเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างสีชมพูกับสีฟ้า จนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันเล็กๆ ในเรื่องสีเสื้อผ้า

ฉากนี้จำได้ไม่ลืมเลยค่ะ ทั้งๆ ที่เวลาผ่านมาหลายสิบปีแล้ว

 

แล้วยังฉากหลังจากที่เจ้าหญิงนิทราไม่ยอมตื่น ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพ่อแม่และคนรอบข้าง จนกาลเวลาผ่านไปถึงร้อยปี ปราสาทราชวังเปลี่ยนสภาพทรุดโทรมมีเถาวัลย์เลื้อยขึ้นปกคลุม ปราสาทถูกบดบังอยู่เบื้องหลังป่ารกชัฏ จวบจนมีเจ้าชายขี่ม้าผ่านมา…

สมัยยังเป็นเด็กนั้น ให้รู้ความสึกเกลียดกลัวแม่มดใจร้ายที่ชื่อมาเลฟิเซนต์ ในชุดเสื้อคลุมดำ มีเขาโค้งงอสองเขาอยู่บนศีรษะยิ่งนัก

แต่ครั้นเมื่อไม่นานมานี้ ดิสนีย์ปรับทัศนะและแปรเปลี่ยนมุมมองของเทพนิยายดั้งเดิมเสียใหม่ โดยให้มุมมองอีกด้าน และจับเอาตัวร้ายมาเลฟิเซนต์มาเป็นตัวเอก

มาเลฟิเซนต์ไม่ได้เป็นนางแม่มดชั่วร้ายอย่างที่เล่าขานในเทพนิยาย แต่เป็นเพียงสัตว์โลกอีกชนิดหนึ่งที่บินได้ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าเขาลำเนาไพร และโดนมนุษย์ใจร้ายหักหลัง ทรยศต่อความไว้วางใจ แถมยังขโมยปีกคู่ใหญ่ของนาง สร้างความเจ็บปวดให้แก่นางอย่างเหลือแสน จนเคียดแค้นหาทางเรียกคืนเอาบ้าง

และเจ้าหญิงออโรราก็คือลูกสาวของบุรุษใจร้ายที่กลายเป็นกษัตริย์ครองเมืองและทรัพย์ศฤงคารจากการได้ครอบครองปีกและสยบฤทธานุภาพของนางแม่มดที่มนุษย์เกลียดกลัวลงได้

นั่นเป็นการพลิกผันเรื่องราวดั้งเดิมให้มีมิติใหม่ขึ้น

และแอนเจลินา โจลี ก็มารับบทมาเลฟิเซนต์ผู้ชั่วร้ายแบบลมเพลมพัดนั้น โดยพยายามถอดรูปลักษณ์จากในการ์ตูนดั้งเดิมมา นางจึงมีเขาโง้งอยู่เหนือหัวสองเขา แถมมาด้วยวลีติดปากแบบกวนอารมณ์ที่ว่า “Well, well!”

 

Maleficent (2014) เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ที่สร้างความน่าเห็นอกเห็นใจให้ตัวผู้ร้าย ทำให้นางร้ายกลายเป็นนางดี โดยที่หลังจากสาปแช่งแบบที่ใช้ถ้อยคำกำกับไว้ด้วยว่าคำสาปนี้จะไม่มีทางถอนกลับได้ โดยบอกว่าในวันเกิดปีที่สิบหกของออโรรา เธอจะต้องถูกเข็มจากเครื่องปั่นด้ายทิ่มจนทำให้หลับใหลไม่รู้ฟื้นขึ้นอีกเลย แต่ก็ยังแถมการแก้คำสาปไว้อีกนิดว่า…จนกว่าจะได้พบรักแท้

แต่หลังจากนั้น มาเลฟิเซนต์ก็เฝ้าดูเด็กน้อยเติบโตขึ้นโดยแทบไม่ละสายตา และสิ่งนี้ทำให้นางผูกพันกับเจ้าหญิงน้อยผู้บริสุทธิ์สดใส ยิ่งกว่าแม่ผู้ไม่ได้ฟูมฟักเลี้ยงดูลูกของตัวเอง เพราะความพยายามปัดเป่าป้องกันภัยโดยส่งตัวไปไกลลิบลับ

มาเลฟิเซนต์กลายเป็นแม่ผู้ฟูมฟักเด็กน้อยไปโดยไม่รู้ตัว และไม่ต้องการให้ภยันตรายเกิดแก่เด็กสาว ทว่า คำสาปก็ถอนกลับคืนไม่ได้

เรื่องจึงต้องเลยตามเลย ออโรรากลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ผู้นอนรอรักแท้ให้มาปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง และรักแท้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นความรักของหนุ่มสาว

ใน Maleficent ความรักอันบริสุทธิ์ฉันมารดาที่มีต่อลูกน้อย เป็นความรักแท้ที่ถอนคำสาปอันชั่วร้ายและคืนสภาพปกติสุขให้กลับมาอีกครั้ง

นั่นคือตอนจบของหนังภาคที่แล้ว ซึ่งออโรราเลือกที่จะสมานไมตรีกับเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่พวกพ้องโดยกำเนิดของตน และไปอยู่ในป่าเขาลำเนาไพรท่ามกลางธรรมชาติแสนสุขที่ดุจจะมีมนต์ขลัง

ความสำเร็จของหนังทำให้เกิดภาคสองตามมาจนได้

และภาคสองนี้หมดเรื่องจะเล่าแล้ว นอกจากต้องสร้างตัวผู้ร้ายขึ้นมาใหม่ให้มาราวีกับกลุ่มตัวละครเดิม

 

เสียงเล่าเรื่องเล่าว่าหลังจากเหตุการณ์ในภาคแรกแล้ว ชื่อเสียงของมาเลฟิเซนต์ก็ไม่ได้กลับกลายเป็นดีขึ้นแต่อย่างใด ผู้คนยังคงหวาดกลัวอิทธิฤทธิ์อันร้ายกาจของนางเหมือนเมื่อก่อน ทั้งๆ ที่นางไม่ได้กระทำเรื่องร้ายกาจอะไรอีกแล้ว

ซึ่งจุดนี้ก็มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่หนังจะเผยให้รู้ในเวลาต่อมา

และเรื่องราวใหม่เกิดขึ้นเมื่อออโรราตกลงใจจะแต่งงานกับเจ้าชายฟิลิป (แฮริส ดิกคินสัน ซึ่งเปลี่ยนตัวไปจากนักแสดงคนเดิมในภาคแรก)

การสมรสครั้งนี้ออโรราถือว่าจะเป็นการสงบศึกชั่วกาลนานระหว่างเผ่าพันธุ์ที่แตกต่าง

และถึงแม้ว่าแม่ทูนหัวของเธอจะคัดค้านเพราะเกรงจะเจอกับรักลวงเช่นเดียวกับที่ตัวเองเคยเจอมาก่อน แต่ก็ยอมโอนอ่อนตามใจลูก ขนาดที่ยอมใช้ผ้าคลุมปกปิดเขาโง้งบนหัวอันน่าสะพรึงกลัวในสายตามนุษย์ ไปงานเลี้ยงในวังของพระราชบิดาพระราชมารดาของเจ้าชายฟิลิป

และนั่นคือกับดักที่นางร้ายตัวจริงวางไว้สำหรับคนที่นางถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของมนุษยชาติ

การกระทบกระทั่งกันระหว่างมาเลฟิเซนต์กับพระราชินีอิงกริธ (มิเชลล์ ไฟเฟอร์) กรุ่นระอุมาตั้งแต่เจอหน้า โดยอิงกริธเดินหมากยั่วโทสะมาเลฟิเซนต์ไว้หลายจุด ตั้งแต่จัดช้อนส้อมเหล็กมาเสิร์ฟและใช้บนโต๊ะอาหาร ตามมาด้วยการเสิร์ฟอาหารเรียกน้ำย่อยจานแรก เป็นลูกนกพิราบทอดกรอบ

เรารู้มาตั้งแต่ภาคแรกแล้วว่า มาเลฟิเซนต์แพ้โลหะ เหมือนกับที่ซูเปอร์แมนแพ้คริปโตไนต์ ฤทธานุภาพเหนือมนุษย์จะหมดไปในทันทีที่เจอกับโลหะ ถูกขังอยู่ในกรงโลหะ หรือว่าโดนอาวุธที่ทำด้วยโลหะ

และนกพิราบจานนั้นก็เป็นการวางหมากยั่วโมโหอีกทาง ด้วยการเอาสัตว์ปีกมาเสิร์ฟให้สัตว์ปีกด้วยกัน

เมื่อมาเลฟิเซนต์เหลือจะทนต่อการถูกสบประมาทครั้งแล้วครั้งเล่า นางก็น็อตหลุดอย่างที่เคยเป็นมา และประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับมนุษย์พวกนี้ ส่งผลให้ออโรราตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และต้องเลือกข้างระหว่างครอบครัวเดิมที่เธอเติบโตมากับครอบครัวใหม่ที่เธอจะสร้างอนาคตด้วย

ราชินีอิงกริธยังใส่ร้ายมาเลฟิเซนต์ด้วยว่าเป็นคนสาปให้พระราชาหลับใหลไปเหมือนครั้งที่เคยทำกับออโรรา

และหมากเด็ดสุดท้ายที่หมายปลิดชีพศัตรูตัวร้าย คือยิงกระสุนโลหะเพื่อสังหารนางมารร้าย

อันส่งผลให้มาเลฟิเซนต์ได้พบกับพรรคพวกเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีปีกมีเขาเหมือนกันจำนวนมากที่หลบซ่อนอยู่

กลายเป็นสงครามมหาวินาศระหว่างเผ่าพันธุ์

 

มีองค์ประกอบดีๆ ปรากฏให้เห็นอยู่หลายจุดในหนัง ไม่ว่าจะเป็นการวางตัวละครที่มีทัศนะขัดแย้งกันอย่างเช่น โคนอล (ชิวิเทล เอจิโอฟอร์ เจ้าของรางวัลออสการ์จากบทบาทใน Twelve Years a Slave ซึ่งหนังแทบไม่ได้ให้บทบาทอะไรมาก) ที่เป็นคนฉลาดและไม่อยากให้เกิดสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ กับบอร์รา (เอ็ก สไกรน์) ผู้เลือดร้อนและกระหายสงคราม

ตัวละครอีกตัวที่มีบทบาทสำคัญพอดูและน่าสนใจ คือเกอร์ดา (เจนน์ เมอร์เรย์) ลูกสมุนของราชินีใจร้าย แต่หนังก็ไม่ได้บอกให้เรารู้อะไรเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ ซึ่งดูเหมือนจะมีเรื่องแค้นเคืองเป็นส่วนตัวอยู่กับเผ่าพันธุ์ของภูตพรายในป่า

เกอร์ดาเป็นคนลงมือยิงหน้าไม้ใส่มาเลฟิเซนต์ และเป็นคนจัดการเล่นดนตรีใน “ห้องรมแก๊ส” เหมือนจะทำสงครามอาวุธเคมีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของศัตรูแบบไม่มีทางให้ต่อสู้

แต่ฉากรมแก๊สก็เยิ่นเย้อยืดยาว จนขัดกับอิทธิฤทธิ์ที่อ้างว่าฉมังนักของสารเคมีที่ปรุงขึ้นเพื่อกำจัดเผ่าพันธุ์ภูตพรายนี้ หนึ่งในนางฟ้าสามตนได้โอกาสแสดงวีรกรรมชนะใจคนดูด้วยการพลีชีพจัดการกับคนใจร้าย

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนรู้สึกว่าหนังสร้างขึ้นแบบเอาใจตลาดเกินไป เรื่องราวเยี่ยงมนุษย์น่าจะพัฒนาได้ดีกว่านี้ แต่หนังให้สัดส่วนหนักไปที่เอฟเฟ็กต์ของฉากสู้รบแบบวินาศสันตะโรที่จะทำให้คนดูสะใจแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก

…มากเสียจนไปกลบเรื่องราวที่น่าจะเล่าได้ดีกว่านี้