สุจิตต์ วงษ์เทศ / จีน ‘ส่งขวัญ’ ในพิธีกรรมหลังความตาย

ทหารดินเผา

สุจิตต์ วงษ์เทศ

จีน ‘ส่งขวัญ’

ในพิธีกรรมหลังความตาย

จักรพรรดิจิ๋นซีฯ นิทรรศการพิเศษที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีหนังสือประกอบนิทรรศการเล่มหนาและโต ผมอ่านแล้วฉุกคิดเรื่องพิธีกรรมหลังความตายตามความเชื่อของจีน ไม่ขัดกับความเชื่อเรื่องขวัญของอุษาคเนย์ เพราะมีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้

สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี “ตามความเชื่อประเพณีในสมัยโบราณของจีนที่ว่า ‘ชีวิตหลังความตายเฉกเช่นโลกมนุษย์’—-”

ม้าและทหารดินเผา ในหลุมขุดค้นสุสานจักรพรรดิจิ๋นซี เมืองซีอาน มณฑลส่านซี [ภาพจากหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2562]
[บทนำโดย เถียน ย่าฉี ในหนังสือ จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีน กับกองทัพทหารดินเผา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ประกอบนิทรรศการพิเศษฯ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พ.ศ.2562 หน้า 12]

 

 

จีนเชื่อเรื่องขวัญ

 

ข้อความที่ยกมาว่า “ชีวิตหลังความตายเฉกเช่นโลกมนุษย์” หมายถึงอะไร? เทียบกับขวัญได้ไหมทั้งของอุษาคเนย์และไทย?

เรื่องนี้ อ.เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท] อธิบายไว้นานมากกว่าสิบปีมาแล้วว่า “ขวัญ” คำไทย พ้องเสียงกับคำจีนว่า “เฮวิ๋น” ส่วนพิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน จะคัดโดยจัดย่อหน้าใหม่มาเป็นพยานไว้ให้อ่านสะดวก ดังนี้

“ประเพณีสู่ขวัญ (เชิญขวัญ เรียกขวัญ) ที่อีสานเรียกว่า ‘บาศรี’ หรือ ‘บายศรี’ นั้น พ้องกับการ ‘ร้องขวัญ-เรียกขวัญ’ ของจีน ภาษาจีนเรียกว่า ‘เจี้ยวเฮวิ๋น’ หรือ ‘จาวเฮวิ่น’

ที่จริง ‘ขวัญ’ ของไทยพ้องกับ ‘เฮวิ๋น’ ของจีน

แม้คำว่า ‘มิ่ง’ ในมิ่งขวัญ ก็พ้องกับ ‘มิ่ง’ ที่หมายถึง ‘ชีวิต’ ของจีน (แต่ ‘มิ่ง’ ของไทย หมายถึงสิ่งที่เป็นสิริมงคล)

การเรียกขวัญของไทยและจีนมีความแตกต่างกัน คนไทเดิมนอกจากมีพิธีส่งขวัญและงานศพแล้ว มักจะทำพิธีสู่ขวัญหรือบายศรีต่างๆ เช่น สู่ขวัญข้าว ขวัญควาย ขวัญเจ้านาย ขวัญเด็ก ขวัญเรือน แต่คนจีนทำพิธีเรียกขวัญเวลาเจ็บป่วย และส่งขวัญเวลาตายเท่านั้น”

(จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)

 

ขวัญของไต-ไท

 

พิธีกรรมหลังความตายสมัยดั้งเดิมของคนในตระกูลไต-ไท และตระกูลอื่นๆ ในอุษาคเนย์ เกี่ยวข้องกับขวัญ จึงมีพิธีสู่ขวัญคืนร่าง เพราะเชื่อว่าคนตายขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหายจากร่างเท่านั้น ถ้าขวัญคืนร่างคนก็ฟื้น

ผมเขียนไว้ในหนังสือเล่มใหม่ กำลังพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? (สำนักพิมพ์นาตาแฮก จะพิมพ์ขายเสร็จราวกลางพฤศจิกายนนี้) ขอคัดบางตอนสั้นๆ เกี่ยวกับขวัญ ดังนี้

คนตาย เพราะขวัญหาย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับร่างกายอวัยวะของคน

แต่ขวัญไม่ตาย เพียงขวัญออกจากร่างของคน แล้วไปอยู่ที่อื่น ไม่รู้ที่ไหน ซึ่งอาจหลงทางกลับร่างไม่ได้หรือกลับไม่ถูก แต่จะกลับและกำลังหาหนทางกลับร่างในวันใดวันหนึ่ง โดยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต้องร่วมกันทำพิธีเรียกขวัญคืนร่างกายอวัยวะคนตาย จะได้ฟื้นคืนเป็นปกติ

ถ้าเรียกขวัญหลายวันหลายคืนแล้วไม่ฟื้น ต้องหามศพไปฝังบริเวณที่กำหนด แล้วทำพิธีส่งผีขวัญไปสิงสู่อยู่สถานที่หลังความตาย หรือโลกหลังความตาย บางทีเรียกเมืองฟ้าที่มีผีบรรพชน คือ คนตายคราวก่อนๆ รวมกันอยู่แล้ว

ผู้รู้ระบบความเชื่อนี้ อธิบายว่าเพราะผีขวัญจะขึ้นบนฟ้าไปรวมพลังกับผีขวัญบรรพชนที่สิงสถิตอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว (โดยไม่เกิดอีก) เพื่อเป็นพลังปกป้องคุ้มครองชุมชนกับบรรดาเครือญาติที่ยังมีชีวิตในโลกมนุษย์

ด้วยเหตุนี้เอง ผีกับคนเกี่ยวข้องกันเสมอ โดยมีกิจกรรมเซ่นผีเลี้ยงผี แล้วไปมาหาสู่ระหว่างผีกับคนไม่ขาด ดังมีข้อความตอนเริ่มต้นนิทานลุ่มน้ำโขง เรื่อง กำเนิดมนุษย์ จากน้ำเต้าปุง กล่าวถึงกำเนิดจักรวาลมีดินหญ้าฟ้าแถน โดยผีกับคนไปมาหาสู่กันสม่ำเสมอว่า “ก่อเป็นดินเป็นหญ้าเป็นฟ้าเป็นแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด”

ผีแถนและผีอื่นๆ มีลักษณะทุกอย่างเหมือนในเมืองมนุษย์ ผู้คนที่ตายไปแล้วกลายเป็นผีก็ทำมาหากิน มีชีวิตเหมือนอยู่บนโลกมนุษย์ แต่อยู่ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งใช้ชีวิตทำนาปลูกข้าวหุงหาอาหารเช่นกัน

 

ขวัญควบคุมคน

 

ขวัญ เป็นอำนาจกำหนดและกำกับการมีชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นคนหรือผี

หากขวัญสิงสู่อยู่ตามอวัยวะในร่างกายครบถ้วน ผู้นั้นเป็นคน

หากขวัญแยกตัวหนีออกไป ผู้นั้นเป็นผี

ร่างที่ไม่มีขวัญ เรียก ผีคน

ขวัญที่ไม่มีร่าง เรียก ผีขวัญ

[จากบทความเรื่อง “ผลงานชิ้นเอกของอาจารย์ คำจอง” โดย พิเชฐ สายพันธ์ ในหนังสือ ทฤษฎีบ้านเมืองฯ สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 31]

เมื่อคนมีชีวิตตามปกติ ขวัญจะอยู่ในร่างกายของคนตามอวัยวะต่างๆ อย่างครบถ้วน หากขวัญออกจากร่างไปบางส่วน (เมื่อคนตกใจหรือเจ็บไข้) ญาติพี่น้องต้องทำพิธีเรียกขวัญ, สู่ขวัญ ให้กลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม คนนั้นจึงจะหายเจ็บไข้

ถ้าขวัญไม่กลับเข้าร่าง ความเจ็บป่วยก็ไม่ทุเลา หรือถ้าขวัญออกหมดไปจากร่าง คนก็ตาย

“หากขวัญออกจากร่างกายจนหมดคนจะตาย แล้วเคลื่อนไหวไม่ได้ตลอดไป”

ขวัญที่ออกจากร่างจะกลายเป็นผีขวัญ คือไม่มีรูปร่าง จึงมองไม่เห็น แต่อาจทำอะไรบางอย่างได้ที่มีผลกระทบกระเทือนถึงผู้ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะลูกหลานในครอบครัว

[ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดย สุมิตร ปิติพัฒน์ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 106]

 

ความตายคืออะไร?

 

ความตาย หมายถึงอะไรเมื่อหลายพันปีมาแล้ว? ยังไม่พบหลักฐานและคำอธิบายตรงๆ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่ตรงกับปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้อธิบายทั่วไป (ตามคติทางศาสนาที่รับจากอินเดีย) ว่า ความตาย หมายถึงวิญญาณออกจากร่างไปหาที่จุติ แล้วเกิดใหม่

[อินเดียยุคพระเวท เชื่อว่าคนตายไปอยู่ในโลกของบรรพชน (ปิตฤโลก) แล้วกลับมาเกิดอีก (มีในบทความเรื่อง “ล้วงลึกเรื่อง ‘กาม’ และความรักในศาสนาพราหมณ์” โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 17-23 กุมภาพันธ์ 2560 หน้า 81)]

โครงกระดูกมนุษย์หลายพันปีที่นักโบราณคดีขุดพบในไทย แล้วอธิบายตามความเชื่อปัจจุบันที่ได้จากพุทธและพราหมณ์-ฮินดู จึงน่าจะต้องทบทวน