เกษียร เตชะพีระ | รู้จักมาร์ติน ลี : นักประชาธิปไตยอาวุโสของฮ่องกง (1)

เกษียร เตชะพีระ

ผมมั่นใจว่าไม่ช้าก็เร็วทั้งโลกจะมีประชาธิปไตย และต่อให้จีนเป็นประเทศสุดท้าย ประชาธิปไตยก็ยังจะมาถึงจีนอยู่ดี

มาร์ติน ลี หรือลีชูหมิง ผู้ก่อตั้งและประธานพรรคประชาธิปไตยของฮ่องกงปัจจุบัน เคยเป็นอดีตประธานเนติบัณฑิตยสภา และอดีตสมาชิกคณะกรรมการยกร่างกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงด้วย

สมัยต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 การเจรจาเพื่อถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงจากอังกฤษกลับคืนไปให้จีนเริ่มเปิดฉากขึ้น ขณะนั้นมาร์ติน ลี ประกอบวิชาชีพทนายความ เขาเข้าสู่วงการเมืองก็เพราะเข้าไปช่วยร่างกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงนั่นเอง

“กฎหมายพื้นฐานของเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” (www.basiclaw.gov.hk/en/basiclawtext/images/basiclaw_full_text_en.pdf ) นั้นมีฐานะเหมือนรัฐธรรมนูญย่อยและพิมพ์เขียวสำหรับอนาคตของฮ่องกง ช่วงของการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยคืนสู่จีนดังกล่าวนับว่าสำคัญยิ่งต่ออนาคตดังกล่าว นายกฯ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ของอังกฤษสมัยนั้นเดินทางไปพบเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนราวปลายเดือนสิงหาคมต่อต้นเดือนกันยายน ค.ศ.1982 เพื่อพูดคุยเจรจาเรื่องนี้

ทว่าก่อนหน้านั้นครึ่งเดือน มาร์ติน ลี ได้นำทนายและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ กลุ่มหนึ่งเข้าพบเจ้าหน้าที่บางนายจากสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของจีน ประธานสำนักงานตอนนั้นคือหลิ่วเส่งจี๋ แต่เนื่องจากหลิ่วเผอิญหกล้มขาหัก คณะของมาร์ติน ลี ซึ่งมีทนายรวม 7 คนจึงพบปะประชุมกับหลีเห่าและโหลวเผ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จีนชั้นรองลงมาแทน

ปรากฏว่าลีกับพวกพากันตื่นตะลึงเมื่อหลีเห่าพูดว่า :

“ในปี ค.ศ.1997 เขตนิวเทร์ริทอรี่ส์จะถูกคืนให้จีน ผู้นำของเราเชื่อว่าฮ่องกงจะอยู่ไม่รอดถ้าไม่มีเขตนิวเทร์ริทอรี่ส์ ดังนั้น ผู้นำของเราจึงคิดว่า วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 เป็นเวลาอันเหมาะสมที่ฮ่องกง เกาลูน และเขตนิวเทร์ริทอรี่ส์จะถูกคืนให้จีนพร้อมๆ กัน พวกคุณว่าไงบ้างล่ะ?”

ตอนนั้นลีกับพวกไม่นึกเลยว่าเรื่องสำคัญขนาดนั้นจะถูกหยิบยกขึ้นมาคุยด้วย พวกเขาเป็นแค่ทนาย ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง พวกเขาก็เลยไม่ได้หารือตกลงกันมาก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไรในเรื่องดังกล่าว มาร์ติน ลี จึงตัดสินใจตอบไปว่า :

“ถ้าท่านอยากให้ฮ่องกงเจริญรุ่งเรืองต่อไปในสภาพที่ฮ่องกงถูกหยิบยื่นคืนให้จีนนั้นน่ะ มันก็เหมือนท่านเห็นดอกไม้หรือกุหลาบสวยงามดอกหนึ่งซึ่งเติบใหญ่ขึ้นในสวนของเพื่อนบ้าน ถ้าท่านเด็ดมันออกมาแล้วเสียบมันไว้ในแจกันราคาแพงยิ่งในบ้านของท่านเอง จะเกิดอะไรขึ้นกับกุหลาบดอกนั้นไม่กี่วันให้หลังล่ะครับ?”

หลีเห่าได้ยินดังนั้นก็โกรธมาก เขาทุบโต๊ะเปรี้ยงแล้วพูดว่า :

“ทำไมพวกคุณถึงเชื่อมั่นตัวเองน้อยขนาดนั้น? และทำไมพวกคุณถึงเชื่อมั่นประชาชนจีนในฮ่องกงน้อยขนาดนั้นด้วยล่ะ? สิงคโปร์ก็เป็นชุมชนคนจีน แล้วมันก็เจริญก้าวหน้าเหลือเกินเช่นกันนี่”

มาร์ติน ลี ตอบว่า :

“ก็เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศเอกราชนี่ครับ ถ้าท่านยอมให้ฮ่องกงเป็นเอกราช ท่านก็ไม่ต้องมีรัฐบุรุษอย่างลีกวนยูมาบริหารจัดการให้ถูกต้องเหมาะสมที่นั่นหรอก ถ้าฮ่องกงมีเอกราชได้ แม้แต่ทนายอย่างผมก็บริหารจัดการให้ดีได้ครับ หากไม่มีเอกราชเสียแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่ฮ่องกงจะเจริญรุ่งเรืองและมีเสถียรภาพสืบต่อไปเมื่ออำนาจอธิปไตยของฮ่องกงถูกหยิบยื่นคืนให้จีน”

ประเด็นที่มาร์ติน ลี ตอบโพล่งไปโดยมิได้นัดหมายกับพรรคพวกนั้น เป็นที่ยอมรับและเห็นด้วยของทุกคนในคณะเป็นเสียงเดียว รวมทั้งรองหัวหน้าคณะ นางโดโรธี ลิวหยิ่วจู ซึ่งเอาเข้าจริงรู้กันว่าเป็นทนายที่นิยมปักกิ่งด้วยซ้ำ การอภิปรายดำเนินต่อไปอย่างไม่ราบรื่นกลมเกลียวนัก มาร์ติน ลี เสนอว่า ทำไมจีนไม่ลองเรียกอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงคืนในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 แล้วปล่อยให้อังกฤษเช่าฮ่องกงต่อจากนั้นไปอีก 50 ปีล่ะ? หลีเห่าปัดปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว เขาย้ำว่า “อำนาจอธิปไตยโดยไม่ได้บริหารเองเป็นสิ่งกลวงเปล่า” และการประชุมก็ยุติลงแค่นั้น

คืนวันเดียวกัน โดโรธี ลิว ก็พูดกับคณะทนายว่า : “นี่ เราต้องทำอะไรบางอย่างกันแล้วละค่ะ เพราะเราไม่อาจปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ มิฉะนั้น ฮ่องกงจะพังฉิบหายหมด ฉันอาสาจะร่างจดหมายให้ฉบับหนึ่งเพื่อบันทึกความคิดอ่านต่างๆ ของเราลงเป็นข้อเขียนแล้วยื่นให้พวกผู้นำจีน เพื่อประกันว่าสิ่งที่เราคิดจะไม่ถูกนำไปรายงานเสนออย่างผิดๆ”

ในปี ค.ศ.1984 ทางการจีนกับอังกฤษก็ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งระบุว่าฮ่องกงจะถูกหยิบยื่นคืนให้จีนในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1997 โดยภายใต้กฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงที่มาร์ติน ลี ได้ช่วยยกร่างด้วยนั้น ฮ่องกงจะมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองอย่างสูงต่อไปเป็นเวลา 50 ปีหลังถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยคืนสู่จีนแล้ว

มาร์ติน ลี หวนระลึกถึงเหตุการณ์ตอนนั้นแล้วชี้ว่า :

“จีนต้องการเอาฮ่องกงคืนเป็นอย่างมากและไม่ใช่เฉพาะฮ่องกงเท่านั้น แต่รวมทั้งไต้หวันและมาเก๊าด้วย และตอนนั้นฝ่ายจีนแสดงท่าทีรอมชอมปรองดองรองรับอย่างเต็มที่ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนฮ่องกงรู้สึกสบายใจ และผมจำได้ว่าจีนรับประกันกับเราว่าพวกคุณไม่ต้องกังวลหรอก ผู้นำจีนแค่อยากเปลี่ยนสองอย่างเท่านั้นได้แก่ธงและผู้ว่าการ และทุกอย่างที่เหลือจะเหมือนเดิม ภายในกรอบดังกล่าวนั้นแหละที่จีนจะกลับมาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงอีกครั้ง ทุกอย่างล้วนเจรจาต่อรองกันได้ทั้งนั้น

“มาตอนนี้เมื่อผมมองย้อนกลับไป มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อพวกเขาได้อำนาจอธิปไตยคืนไปแล้ว มาบัดนี้พวกเขากลับกำลังพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญของจีนเหนือกว่ากฎหมายพื้นฐานของฮ่องกง ถึงแม้พวกเขาจะไม่ใช้ถ้อยคำนั้นโต้งๆ ตรงๆ ก็ตาม

“ย้อนหลังไปตอนนั้นผมประเมินว่าเห็นได้ชัดว่าเติ้งเสี่ยวผิงได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เดินตามแนวทางการดำเนินระบบสังคมนิยมของโซเวียตรัสเซียในจีน และก็เห็นได้ชัดว่าเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเดินหนทางทุนนิยม แม้เขาจะไม่เคยพูดมันออกมาก็ตาม ผมคิดว่าเขาคงจับตาดูฮ่องกงมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นชุมชนคนจีนที่เจริญรุ่งเรืองและมีเสถียรภาพ โดยมีหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน และตอนต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เติ้งเสี่ยวผิงก็กำลังเปิดประเทศจีนออกรับการลงทุนจากโพ้นทะเลแล้ว ผมเชื่อว่าแผนการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของเติ้งเสี่ยวผิงนั้นหาใช่มีไว้เพียงเพื่อใช้สำหรับไต้หวัน ฮ่องกงและมาเก๊าเท่านั้นไม่ หากแต่มีไว้ใช้กับทั่วทั้งประเทศจีนโดยรวมเลยทีเดียว ดังนั้นฮ่องกงเราก็เลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินระบบทุนนิยมต่อไป แล้วจีนก็จะใช้เวลา 50 ปีเพื่อกวดไล่ให้ทันฮ่องกง

“มิฉะนั้นแล้วมันก็จะไม่สมเหตุสมผลที่ตอนที่เติ้งเสี่ยวผิงมาประชุมกับคณะกรรมการยกร่างกฎหมายพื้นฐานเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1987 ขณะผมกำลังยกร่างกฎหมายพื้นฐานอยู่กับสมาชิกคณะกรรมการคนอื่นที่เหลือนั้น เขาจะกล่าวว่า “ถ้าหากพิสูจน์แล้วว่า 50 ปีมันยังยาวนานไม่พอ พวกคุณก็เอาไปอีก 50 ปีได้เลย”

“ผมเชื่อว่าเขาต้องการให้ฮ่องกงนำจีนรุดหน้าไป แต่เคราะห์ร้ายที่พวกผู้สืบทอดอำนาจของเขาไม่มีความกล้าหาญหรือความปักใจมั่นพอที่จะเดินตามความฝันเรื่องเมืองจีนอันยิ่งใหญ่ของเติ้งเสี่ยวผิง”

และแล้วในปี ค.ศ.1989 การประท้วงขนานใหญ่ก็ปะทุขึ้นในปักกิ่ง ผู้คนหลายแสนพากันมาชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการบริหารที่โปร่งใส แต่ทว่าทางการจีนกลับระดมพลทัพบกเข้าปราบปรามการประท้วงด้วยกำลัง ตอนนั้น มาร์ติน ลี ป่าวร้องสนับสนุนการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างเปิดเผย เขาจึงถูกสั่งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เดินทางเข้าจีนแผ่นดินใหญ่

ปีถัดมานั้นเอง ลีกับนักประชาธิปไตยคนอื่นๆ ก็ก่อตัวเป็นกลุ่มพันธมิตรขึ้นในฮ่องกงและเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อต่อต้านอิทธิพลของทางการปักกิ่งที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในฮ่องกง ลีอธิบายสถานการณ์ตอนนั้นว่า :

“พวกคอมมิวนิสต์จีนในฮ่องกงไม่ต้องการให้เราหรือใครหน้าไหนก็ตามก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้น และนั่นก็เพราะมันมี “พรรคคอมมิวนิสต์” อยู่ในฮ่องกงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่ได้เปิดตัวเป็นทางการ แต่มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นแหละ และรัฐบาลอังกฤษในฮ่องกงก็รู้เรื่องนี้ด้วย แต่รัฐบาลอังกฤษจะไม่ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ และแน่ละครับว่าพวกก๊กมินตั๋งก็อยู่ในฮ่องกงด้วย นั่นก็เป็นอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งมันก็ไม่ได้ดำเนินงานอย่างเปิดเผยอีกเหมือนกันนั่นแหละ แต่เราก็รู้กันทั้งนั้นว่ามีสองพรรคนี้อยู่ในฮ่องกง และผมจำได้ว่าได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่อังกฤษที่นี่เรื่องประชาธิปไตย และคำตอบหนึ่งที่ผมได้ยินได้ฟังตลอดเวลาก็คือ “คุณลี คุณจะเอาประชาธิปไตยเข้ามาในฮ่องกงเพื่ออะไร? พวกคุณไม่ชนะหรอก เพราะมันมีพรรคคอมมิวนิสต์หรือไม่ก็พรรคก๊กมินตั๋งอยู่แล้ว พวกเขามีอิทธิพลมากเหลือเกินในฮ่องกง”

“ซึ่งผมก็ตอบพวกเจ้าหน้าที่อังกฤษไปว่า “คุณจะรู้ได้ไงว่าเราจะไม่ชนะ ถ้าคุณไม่ให้โอกาสเราเลย?”

“ดังนั้น เราก็เลยไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นพรรค นั่นคือเหตุผลที่ทำไมเมื่อแรกเรารวมตัวก่อตั้งเป็นพรรคขึ้น จึงตั้งชื่อแค่ว่า “สหภาพนักประชาธิปไตยแห่งฮ่องกง””

(ตอนต่อไปสัปดาห์หน้า)