โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /ประสบการณ์สร้างความสงบสุข

โลกหมุนเร็ว/เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ประสบการณ์สร้างความสงบสุข

 

ได้ยินข่าวสภาคองเกรสอเมริกันลงมติเอกฉันท์ democracy bill สำหรับเกาะฮ่องกงแล้วก็ต้องยกมือทาบอก โลกกลับเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมอีกแล้วหรือนี่

อเมริกาอ้างการจัดระเบียบโลกเข้ามาแทรกแซงฮ่องกงราวกับกำลังอยู่ในยุคล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 16

ความวุ่นวายที่มีอยู่ในโลกทุกวันนี้เกิดจากการที่คนเราไม่เข้าใจผู้อื่น ความเหินห่างทำให้ไม่สามารถเห็นอกเห็นใจ เห็นผู้อื่นอย่างที่เขาเป็นและเคารพในตัวตนของเขา เกิดการเอาความคิดของตัวไปครอบงำ เกิดการเอารัดเอาเปรียบ

การท่องเที่ยวยุคใหม่เน้นการสร้างประสบการณ์ ลงลึกถึงวิถีความคิดและชีวิตของคนที่ต่างจากเรา การประกอบอาชีพของคน มากกว่าการแวะดูให้เห็นความสวยงามแปลกใหม่ตื่นตาตื่นใจอย่างผิวเผินแบบ ไปให้เห็นดอกวิสตีเรียสีม่วงดารดาษ ภูเขาไฟฟูจีสวยเด่นตรึงใจ แสงเหนือแปลกตาน่ามหัศจรรย์ อย่างที่พระท่านว่าเห็นแล้วก็สุขเดี๋ยวเดียว เสร็จแล้วก็ลืม ต่อมาก็ต้องไปใหม่เพื่อให้ได้ความสุขนั้นอีก

การท่องเที่ยวยุคใหม่มองไปที่การลงลึกถึงวิถีชีวิตผู้คน

 

ที่สุรินทร์ เขาถักทอเส้นไหมอย่างไรกว่าจะเป็นผืนผ้าที่สวยงาม ไปดูคนสุรินทร์ทอผ้าทำให้เห็นการทอผ้าคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ใช่ว่าคนกรุงทั้งหลายจะลุกขึ้นมาทอผ้าได้เสียเมื่อไหร่ คนสุรินทร์เขาสืบสานกันมาร้อยๆ ปี ดูแล้วก็ให้คุณค่ากับผ้าแต่ละผืนว่ามันเป็นงานศิลปะ ไม่ใช่สินค้าธรรมดา

ดูแล้วก็เข้าใจว่าวิถีชีวิตของคนดั้งเดิม แต่ละหมู่บ้านก็ต้องเพาะปลูก เสร็จแล้วก็ทำงานช่าง ปลูกที่อยู่อาศัยเอง ผู้หญิงก็ทอผ้า

ปัจจุบันนี้บางหมู่บ้านเลิกทอไปแล้ว บางหมู่บ้านที่เข้มแข็งยังสืบสานศิลปะการทอผ้ามาจนทุกวันนี้กลายเป็นสินค้าประจำถิ่นที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ คนกรุงเกิดการสะสมผ้าเพราะศิลปะการทอผ้าของแต่ละหมู่บ้านไม่เหมือนกัน

คนกรุงนิยมนำตุงภาคเหนือที่สวยงามมาแขวนประดับบ้าน หนังสือนำเที่ยวน่านแนะนำไว้ให้เสร็จสรรพ ว่าถ้าสนใจไปดูคนไทลื้อทอตุงดูได้ที่ไหน เขาทำกันอย่างไร ดูแล้วก็ได้นั่งคุยกันถึงวิถีชีวิตของคนไทลื้อ ได้เห็นบ้านของคนไทลื้อที่หลายครอบครัวอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียว แบ่งครอบครัวด้วยมุ้งแต่ละหลัง

คนไทลื้อที่เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่อยู่ผสมกลมกลืนกับคนน่านได้กลายเป็นกลุ่มคนที่สร้างศิลปะที่สำคัญในน่านได้แก่วัดมิ่งเมืองที่เราต้องไปชมกัน

เป็นเจ้าของงานทอผ้าลายน้ำไหลที่แตกยอดออกไปเป็นงานศิลปะที่ผู้ทอแต่ละคนจะสร้างสรรค์ขึ้นมา

รอบๆ วัดมิ่งเมืองความรักถิ่นของคนไทลื้อและความมีจิตใจสูงทำให้เขาดูแลบริเวณรอบวัดและหมู่บ้านให้สะอาดสะอ้านจนเราต้องทึ่งและจดจำ

เป็นประสบการณ์ที่ดีต่อใจและยินดีที่จะกลับไปอีก สร้างความรู้สึกที่ดีต่อคำว่า “ชาติพันธุ์” ที่มีวัฒนธรรมสูง เมื่อซึมซับก็ไม่เกิดความรู้สึกที่ไม่แบ่งแยกหรือดูหมิ่น เกิดความ “เกรงใจ” หากจะทำอะไรรุนแรง การกำจัดออกจากพื้นที่อยู่อาศัยแบบการกำจัดกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยที่มีปู่คออี้และบิลลี่จะไม่เกิดขึ้น

 

เดี๋ยวนี้สำนักงานพัฒนาชุมชนของแต่ละจังหวัดลุกขึ้นมาพัฒนาการท่องเที่ยววิถีใหม่ คือเที่ยวแบบสร้างประสบการณ์ ต้องขอบคุณองค์กรต่างประเทศจากญี่ปุ่นที่นำแนวทางพัฒนาศักยภาพชุมชน ที่เรียกว่า D-HOPE (Decentralized Hands-On Program Exhibition) มาทำงานร่วมกันกับองค์กรส่วนกลางและชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 เท่าที่เห็นแล้วมีจังหวัดน่านและจังหวัดสุรินทร์

กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 ปี ปัจจุบันได้รับงบประมาณตามแผนพัฒนาการพื้นที่ระดับภาคมาพัฒนาหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ขณะนี้ในภาคเหนือมี 13 จังหวัด 12 หมู่บ้าน เน้นการท่องเที่ยวเชิงประเพณี วัฒนธรรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 20 จังหวัด 84 หมู่บ้าน

ตัวอย่างเช่น จังหวัดสุรินทร์ มีหมู่บ้านเป้าหมาย 4 หมู่บ้าน

ผู้เขียนอ่านแล้วอยากไปเที่ยวสุรินทร์ขึ้นมาทีเดียว เพราะมีรายละเอียดที่แสนจะสะดวกกับการไปร่วมศึกษาวัฒนธรรมรวมทั้งวิถีชีวิต

 

แนวทาง D-HOPE จากญี่ปุ่น ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ได้ผลแล้วในเชิงปฏิบัติได้นำเข้ามาดำเนินงานในไทยตั้งแต่ปี 2555 ที่สุรินทร์เป็นแห่งแรก มีมหาวิทยาลัย Ritsumeikan Asia pacific (APU) ร่วมดำเนินงานและได้รับเงินอุดหนุนจาก Jica – องค์การความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณเป็นเวลา 3 ปี นำมาจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ “เทศกาลของดีเมืองสุรินทร์” ที่ผู้เขียนถืออยู่เวลานี้

เปิดไปหน้าท้ายๆ จะเห็นต้นแบบหรือ Best Practice ของการทำงานที่มีรายละเอียดเป็นขั้นตอนแบบญี่ปุ่น มีพาดหัวเขียนว่า Hands-on Experiences of Surin Local Wisdom ก้าวย่างแห่งการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์

มีขั้นตอนตั้งแต่การค้นหาผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้มีทักษะด้านต่างๆ ในชุมชน ใช้คำว่าแชมเปี้ยนเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน เช่นแชมเปี้ยนด้านทำปลาส้ม (ผู้เขียนชอบทานปลาส้ม และสนใจอยากจะไปดูค่ะ) ต่อมาเมื่อหาแชมเปี้ยนได้แล้วก็มีการฝึกอบรมผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าใจว่าโปรแกรมคืออะไร ฝึกงานเขียนโปรแกรมท่องเที่ยวของตนเอง สถานที่อบรมมีหลากหลายทั้งในห้องประชุม กลางสวน ในวัด กลางป่า เมื่อได้โปรแกรมแล้วก็จัดพิมแค็ตตาล็อก เสร็จแล้วก็จัดการแจกจ่ายแค็ตตาล็อก โดยช่องทางมีตั้งแต่ผู้เข้าร่วมโครงการ คนถีบสามล้อ เจ้าของโรงแรม ทั้งภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม เพื่อการปรับปรุง พัฒนา ใช้เทคนิครูปเล่าเรื่อง พัฒนาด้านการพูดเชิงบวก กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง

 

สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ไม่ใช่การพัฒนาผู้ประกอบการ แต่เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของภาคราชการที่เป็นรูปธรรมที่สุด ก้าวแรกเลยคือกรมพัฒนาชุมชนได้ส่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนด้วยทุนของ JICA ไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัย APU นักวิชาการผู้นี้เป็นคนสุรินทร์ ได้นำมาพัฒนางาน D-HOPE จนเป็นต้นแบบที่ดี

ตัวอย่างโปรแกรมที่สุรินทร์ก็เช่น การทำบายศรีเสริมบารมี ซึ่งคิดค่าเข้าชมและเรียนรู้ไว้ที่ 250 บาทต่อคน รับได้ครั้งละ 5-10 คน ไปชมได้ทุกวัน ในช่วงเช้า มีบริการอาหารกลางวัน 1 มื้อ และอาหารว่าง 1 มื้อให้ด้วย มีเบอร์โทร.ติดต่อให้เสร็จ แสนจะสะดวก

อีกรายการเป็นการสอนท่ารำอัปสราฉบับย่อมจากแชมป์โดยตรง รายการนี้ผู้เขียนนึกถึงหลานสาวของเพื่อนซึ่งชอบศิลปะการรำเป็นที่สุด ค่าบริการก็ 250 บาทต่อคนเช่นกัน มีบริการอาหารกลางวันและอาหารว่างเช่นเดียวกัน

ผู้เขียนมีความหวังกับโครงการ D-HOPE ที่เดียวละค่ะ เท่าที่เห็นจากตัวหนังสือ แต่ก็ทราบดีว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความกระตือรือร้นที่สม่ำเสมอ ไม่ว่าแผนงานจะดีแค่ไหน โครงสร้างดีปานใด ความสำเร็จก็ยังขึ้นอยู่กับคนนั่นเอง