ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 กุมภาพันธ์ 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“พวกเขาเอาความถูกต้องทางการเมืองไว้เหนือสามัญสำนึก ไว้เหนือความปลอดภัยของพวกท่าน และไว้เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง… แต่ผมปฏิเสธที่จะเป็นพวกถูกต้องทางการเมือง… เราจะต้องหยุดความถูกต้องทางการเมืองในประเทศนี้ให้ได้”
-โดนัลด์ ทรัมป์-
คํากล่าวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ประกาศว่า เขาปฏิเสธต่อสิ่งที่บรรดานักเสรีนิยมได้ตั้งมาตรฐานของการพูดหรือการแสดงออกที่จะต้องเป็นไปตามสิ่งที่เรียกว่า “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness)
ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ท้าทายอย่างชัดเจนว่า เขาไม่จำเป็นต้องแสดงออกตามบรรทัดฐานที่นักเสรีนิยมชื่นชอบแต่อย่างใด
และบรรทัดฐานนี้ก็คือการที่จะต้องไม่พูดหรือไม่แสดงออกในลักษณะของการทำให้เสียความรู้สึกที่จะกลายเป็นความขุ่นเคืองใจ (offence)
แต่บุคลิกและการแสดงออกของทรัมป์ดูจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นทัศนะในเรื่องผู้หญิง ผู้อพยพ คนมุสลิม และคนเม็กซิกัน เป็นต้น
จนต้องกล่าวว่ามาตรฐานแบบเสรีนิยมนำมาใช้กับการหาเสียงของทรัมป์ไม่ได้เลย
เขา “แหวกกติกา” บรรทัดฐานของความถูกต้องทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดกล้าที่จะแสดงออกเช่นนี้
แต่ผลที่ตามมาก็คือแทนที่การแสดงออกเช่นนี้จะลดทอนคะแนนของทรัมป์
เขากลับได้รับคะแนนเสียงมากขึ้น
หรือว่าในความเป็นจริง ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังบอกกับเราว่าบรรทัดฐานในแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทายอย่างหนัก
และพลังดังกล่าวก็กำลังถดถอยลง จนในเวทีการหาเสียงที่เกิดขึ้นนั้น ทรัมป์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาทของการเป็นนักเสรีนิยมแต่อย่างใด
และขณะเดียวกันการแสดงออกเช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจด้วย และทุกครั้งที่ทรัมป์กล่าวคำพูดในลักษณะที่เป็นการ “ข่มเหงน้ำใจ” คน (outrageous) หรือเป็นคำพูดแบบรุนแรงที่มีลักษณะของการฝ่าฝืนมาตรฐานเสรีนิยม จนเกิดความกังวลว่าเขากำลังทำลายตัวเอง เพราะผู้คนส่วนหนึ่งรับไม่ได้อย่างมากกับท่าทีเช่นนั้น
แต่สำหรับผู้สนับสนุนกลับแสดงออกตรงกันข้าม พวกเขาชอบการแสดงออกในแบบที่ทรัมป์นำเสนอ
หรืออาจกล่าวได้ในเวทีการหาเสียงได้ว่า ทรัมป์วิจารณ์มากกว่าจะนำเสนอนโยบาย…
เขาไม่ได้ขายนโยบายกับประชาชนอเมริกัน แต่เขาขายความเห็นและคำวิจารณ์อย่างรุนแรงต่อประเด็นต่างๆ ในแบบที่ผู้สมัครคนอื่นไม่กล้าที่จะก้าวข้ามพรมแดนของลัทธิเสรีนิยมที่ถูกกำกับด้วย “ความถูกต้องทางการเมือง”
ลัทธิทรัมป์
ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจึงอาจสรุปได้ประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ เขาไม่จำเป็นต้องเคารพกติกาของมาตรฐานของลัทธิเสรีนิยม
และการกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องยึดถือบรรทัดฐานของความถูกต้องทางการเมืองเช่นนี้คือจุดเรียกคะแนนเสียง และทุกครั้งที่เขาเล่นบทเช่นนี้ เขาก็จะกล่าวป้องกันตนเองเสมอว่า “เขาไม่ใช่นักการเมือง”
สำหรับทรัมป์และผู้สนับสนุนแล้ว พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องนิยามว่า ความถูกต้องทางการเมืองคืออะไร?… ใครเป็นผู้กำหนดขึ้น? ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว บรรทัดฐานเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อปิดบัง “ความจริงที่ไม่น่าสบายใจ” (inconvenient truth) ที่ไม่อาจกล่าวได้ในที่สาธารณะ เพราะหากมีการกล่าวขึ้นมาทั้งๆ ที่เป็นความจริง ก็อาจนำมาซึ่งความขุ่นเคืองใจแก่ผู้ฟัง
และทัศนะเช่นนี้ยังผูกโยงกับความเชื่อที่ว่า ความถูกต้องทางการเมืองถูกกำหนดขึ้นจาก “บุคคลที่มองไม่เห็น” เพื่อใช้ในการควบคุมพฤติกรรมและการแสดงออกของบุคคลในเรื่องต่างๆ จนลงมาถึงแม้กระทั่งการใช้คำพูด และการควบคุมเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับสังคมจนถึงระดับโลก
กล่าวคือ ความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นในทุกระดับล้วนถูกควบคุมโดยบรรทัดฐานของ “ความถูกต้องทางการเมือง” ซึ่งสำหรับในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งที่ผ่านมาในปี 2016 นั้น นางฮิลลารี คลินตัน ถูกสร้างให้มีภาพลักษณ์ในความเป็นตัวแทนของ “ความถูกต้องทางการเมือง” ของโลกเสรีนิยมแบบเก่า และกลายเป็นเป้าโจมตีทางการเมืองเป็นอย่างดีให้แก่การหาเสียงของทรัมป์ที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องมาตรฐานของลัทธิเสรีนิยม
จากปรากฏการณ์เช่นนี้เราอาจจะต้องถือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็น “ลัทธิทรัมป์” (Trumpism) ที่กำลังเป็นกระแสการเมืองชุดใหม่ในเวทีโลกปัจจุบัน
การเมืองขวาในยุโรป
ลัทธิทรัมป์เช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นแต่ในอเมริกาเท่านั้น ว่าที่จริงทิศทางดังกล่าวซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า “ประชานิยมปีกขวา” (Right-wing populism) นั้นได้ก่อตัวเป็นกระแสในการเมืองยุโรปมาก่อนแล้ว หรือในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาก็คือกลุ่มการเมือง “ขวาจัด” (far right) ที่ก่อตัวขึ้นในยุโรปนั่นเอง และหากพิจารณาจากประเทศสำคัญๆ ของยุโรปแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดถึงทิศทางดังกล่าว
ได้แก่
ออสเตรีย
แทบไม่น่าเชื่อว่าทิศทางการเมืองในออสเตรียจะมีอาการ “เอียงขวา” เพราะโดยทั่วไปแล้ว การเมืองของประเทศมีความเป็นเสรีนิยมค่อนข้างมาก
แต่ผลจากสถานการณ์การก่อการร้ายและผู้อพยพส่งผลให้ประชาชนมีความหวาดกลัว และกลายเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้โฮเฟอร์ (Norbert Hofer) ได้รับคะแนนเสียงมากในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
แม้พรรคเสรีภาพ (The Freedom Party) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดจะแพ้ แต่นโยบายหาเสียงที่ต้องการจำกัดการอพยพเข้าเมืองของชาวมุสลิม การควบคุมพรมแดน การสร้างความเข้มแข็งของกองทัพ และการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ตลอดรวมถึงการต่อต้านสหภาพยุโรป สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของพรรคขวาจัดพรรคหนึ่งในการเมืองยุโรปได้อย่างชัดเจน
ฝรั่งเศส
ความเข้มข้นของกระแสขวาจัดในยุโรปส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการเมืองฝรั่งเศส
พรรคแนวร่วมแห่งชาติ (The National Front) ภายใต้การนำของ มารีน เลอแปง (Marine Le Pen) ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้งหลังจากกรณีการบุกสังหารที่สำนักงานนิตยสารชาร์ลี เอบโด ในเดือนมกราคม 2015 ที่มาพร้อมกับการขยายตัวของวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในยุโรปในปีเดียวกัน
แม้เธออาจจะไม่ได้รับชัยชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การได้รับคะแนนที่เพิ่มมากขึ้นของพรรคนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงแรงสนับสนุนจากประชาชนฝรั่งเศสที่มีต่อฝ่ายขวาจัดที่นำเสนอนโยบายต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม ต่อต้านการก่อการร้าย ต่อต้านโลกาภิวัตน์
และที่สำคัญก็คือการต่อต้านสหภาพยุโรป บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่าเลอแปงเป็นตัวแทนของกระแสขวาจัดยุโรปที่ชัดเจนอีกด้วย
เนเธอร์แลนด์
กระแสขวาจัดที่กำลังพัดแรงในยุโรปก็พัดเข้าสู่การเมืองในเนเธอร์แลนด์ด้วยพรรคเสรีภาพ (The Freedom Party) ภายใต้การนำของไวล์เดอส์ (Geert Wilders) ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนไม่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองปีกขวาในสถานการณ์ที่ยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหา ได้แก่ การต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม การยกเลิกโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในประเทศ และการต่อต้านสหภาพยุโรป
พรรคนี้ได้นำเสนอนโยบายไม่แตกต่างจากพรรคขวาจัดอื่นๆ ในการเมืองยุโรป
เยอรมนี
ท่ามกลางวิกฤตการณ์การก่อการร้ายที่เยอรมนีกำลังเผชิญ ประกอบกับการประกาศนโยบายเปิดรับผู้อพยพชาวมุสลิมของนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ทำให้เกิดแรงสนับสนุนอย่างสำคัญต่อนโยบายขวาจัดของ พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany Party) ที่นำโดยเพทรี (Frauke Petry)
พรรคนี้แต่เดิมมีฐานะเป็นเพียงขบวนการของฝ่ายขวาที่ต่อต้าน “ยูโรโซน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าเงินยูโร แต่ในสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงปัจจุบัน เสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้พรรคมีแนวโน้มที่อาจจะชนะการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2017
และหากพรรคชนะการเลือกตั้งได้จริง ก็จะเป็นครั้งแรกที่พรรคขวาจัดกลับเข้าสู่เวทีการเมืองของเยอรมนีนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ซึ่งแน่นอนว่าหากพรรคฝ่ายขวาจัดเกิดได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจริง ก็จะเกิดผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเมืองยุโรปและการเมืองโลกอย่างแน่นอน
เพราะผู้นำปัจจุบันเป็นผู้ที่มาจากฝ่ายที่เป็นกลาง และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสหภาพยุโรป ในขณะที่พรรคทางเลือกมีท่าทีต่อต้านยูโรโซน และต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม
อังกฤษ
การเมืองอังกฤษที่บ่งบอกถึงทิศทาง “เอียงขวา” อย่างชัดเจนจากผลของการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิท” (Brexit)
ผู้นำในการรณรงค์ต่อต้านสหภาพยุโรปอย่างฟาราจ (Nigel Farage) ซึ่งเป็นผู้นำของ พรรคอิสรภาพของสหราชอาณาจักร (The UK Independence Party) และมีทิศทางนโยบายไม่แตกต่างจากพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านผู้อพยพชาวมุสลิม ต่อต้านสหภาพยุโรป ต่อต้านโลกาภิวัตน์
อีกทั้งคงต้องยอมรับว่าผลจากชัยชนะของกลุ่มที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปเช่นนี้เท่ากับเป็นการประกาศถึงชัยชนะของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ในอังกฤษ อันเป็นปรากฏการณ์ที่ถือเป็นสัญญาณสำคัญของชัยชนะของปีกขวาจัดก่อนที่ทรัมป์จะประสบความสำเร็จบนถนนสู่ทำเนียบขาว…
ถ้าชัยชนะของเบร็กซิทช็อกโลกเช่นไร ชัยชนะของทรัมป์ก็ช็อกโลกเช่นนั้นไม่แตกต่างกัน และยังเป็นการตอกย้ำถึงการขยายตัวของกระแสขวาจัดจากยุโรปสู่อเมริกาอีกด้วย
อิตาลี
การเมืองอิตาลีก็เผชิญกับอาการ “เอียงขวา” เช่นกัน ขบวนการห้าดาว (The Five Star Movement) ที่นำโดยกิลล์โล (Beppe Grillo) เสนอนโยบายในการต่อต้านยูโรโซน และต่อต้านผู้อพยพ อันอาจกล่าวได้ว่านโยบายเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากพรรคปีกขวาอื่นๆ เช่นที่กล่าวมาแล้ว
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการเมืองอิตาลีก็อยู่ในกระแสขวาจัด ชุดเดียวกับ “กระแสลมขวา” ที่กำลังพัดอยู่ในยุโรปนั่นเอง
ขวาอื่นๆ ในยุโรป
นอกจาก 6 ประเทศหลักของยุโรปที่นำเสนอในข้างต้นแล้ว ก็ยังเห็นได้ถึงทิศทางขวาจัดในอีกหลายประเทศ เช่น การเมืองในฮังการีที่มีออร์บัน (Viktor Orban) ผู้นำพรรค “Fidesz” ซึ่งเป็นพรรคขวาก็มีแนวนโยบายไม่แตกต่างกัน
จนหลายๆ ฝ่ายเกรงกันว่า การเมืองฮังการีจะก้าวไปสู่การเป็น “ระบอบอำนาจนิยม” แต่ขณะเดียวกันก็มีความกังวลอีกด้านที่มีพรรคขวาจัดมากกว่าเกิดขึ้น คือพรรค “Jobbik” ที่เสนอนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านชาวมุสลิม และสนับสนุนนโยบายกีดกันทางการค้า ตลอดรวมถึงการต่อต้านเพศที่สาม
อีกทั้งการเมืองขวาจัดอย่างในสวีเดนที่มีพรรคเดโมแครตเป็นแกนนำ ก็มีฐานสนับสนุนมาจากขบวนการสนับสนุนคนผิวขาว ทำท่าจะมีเสียงมากขึ้นในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านผู้อพยพชาวตุรกี และความต้องการออกจากสหภาพยุโรปเช่นในกรณีของอังกฤษ การเมืองสวีเดนจึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ควรจับตามอง เพราะสวีเดนถือเป็นประเทศเสรีนิยมหลักประเทศหนึ่งของยุโรป และหากสวีเดนกลายเป็นขวาจัดไปแล้ว ย่อมจะส่งผลต่อยุโรปและต่อการเมืองในเวทีโลกอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ การเมืองในเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ก็ดูจะไปในทิศทางที่เห็นการเติบโตของประชานิยมปีกขวามากขึ้น จนราวกับว่ายุโรปกำลังถูกรุกคืบโดยพวกขวาจัด และเมื่อผนวกเข้ากับการเมืองในอเมริกาด้วยแล้ว ก็ดูจะชัดเจนว่ากระแสลมขวาจัดกำลังพัดแรงในโลกตะวันตก
การปรากฏตัวของกระแสขวาจัดชุดนี้จึงท้าทายทั้งต่อความเป็นไปของการเมืองตะวันตก และการเมืองโลกเป็นอย่างยิ่ง!