“นอนไม่หลับ ทำยังไง” | ธุรกิจพอดีคำ

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่งานรุมเร้าตลอดทั้งวัน

แม้คุณจะสามารถพาร่างกลับมาที่บ้านอย่างปลอดภัย

แต่จิตใจนั้น ไม่ได้อยู่กับครอบครัว

ลูกชายที่อ้อนอยากให้พ่อเล่นด้วย

ก็รับรู้ได้ถึงความ “ไม่อยู่” ของคุณ

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด

ความเครียดเริ่มรุมเร้า

ก่อนนอน คุณพยายามนั่งสมาธิ ทำใจให้สงบ เพื่อจะข่มตาหลับ

แต่ก็นั่นแหละ พอคิดเยอะ เรื่องงานก็โผล่ขึ้นมาบนเตียงนอน

ปิดไฟแล้ว ก็ยังนอนไม่หลับอีกเหมือนเคย

หลับตาไปก็ไม่รู้สึกว่าจะหลับได้

พลิกตัวไป พลิกตัวมาอยู่นั่น

เป็นชั่วโมงแล้วก็ยังไม่หลับ

พรุ่งนี้ก็จะต้องตื่นไปทำงานอีก

นอนไม่หลับแล้วจะทำงานวันพรุ่งนี้ไหวหรือ

ยิ่งคิด ยิ่งเครียด ยิ่งนอนไม่หลับ

ใครเคยได้ยินชื่อ “มาซาโยชิ ซน” บ้างครับ

เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนในวงการเทคโนโลยี หรือคนที่สนใจการลงทุนสตาร์ตอัพจะรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี

ส่วนคนที่ไม่รู้จัก วันนี้คุณจะได้รู้จักครับ

เพราะเขาคือ “นักลงทุนระดับโลก”

เจ้าของบริษัทเทเลคอมที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศญี่ปุ่น

ที่มีชื่อว่า “ซอฟต์แบงก์”

และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท “ยาฮู เจแปน (Yahoo Japan)”

หลายๆ ท่านได้ยินชื่อ “ยาฮู” แล้ว คงจะพอจำกันได้

บริษัทที่ให้บริการ การค้นหาอะไรก็ได้ในอินเตอร์เน็ตเจ้าแรกๆ ของโลก

หลายคนรู้ว่าบริษัทนี้ได้พ่ายแพ้ให้กับบริษัทอย่าง “กูเกิล” ไปเป็นที่เรียบร้อยเกือบสิบปีแล้ว

แต่ทราบมั้ยครับว่ามีประเทศหนึ่ง

จะเรียกว่าประเทศเดียวก็ได้ ที่ “ยาฮู” ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “การค้นหา” หรือแม้แต่ชื่ออีเมล

นั่นคือประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

ก็ด้วยฝีมือการบริหารของ “มาซาโยชิ ซน” นี่เอง

ถ้าจะพูดถึงการลงทุนของบุคคลคนนี้ ที่หลายคนรู้จักดี

ก็คงจะต้องเป็นบริษัท “อูเบอร์” นั่นเอง

ซึ่งเขาลงทุนไปถึง “7 พันล้านเหรียญสหรัฐ” หรือ “สองแสนล้านบาท”

เรียกได้ว่าทำให้อูเบอร์ที่กำลังลำบาก มีเงินไม่พอ

กลับมานำพาตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างทันการณ์

สิ่งเหล่านี้พอจะยืนยันได้ถึงความเก่งกาจของ “มาซาโยชิ”

แต่ที่เห็นว่าประสบความสำเร็จได้มากมายขนาดนี้

บริษัทซอฟต์แบงก์เคยเกือบล้มละลายมาแล้ว เมื่อปี 2000

ตอนที่ฟองสบู่แตก

ตอนนั้นมาซาโยชิต้องแสดงฝีมือบริหารงาน

นั่นคือ การทำให้บริษัทอยู่รอด

เขาทำการขายกิจการที่ไม่ทำกำไรทิ้งไป

กิจการที่ใหญ่เกินไปก็ขายเช่นกัน

ยอมตัดแขน ตัดขา เพื่อรักษาร่างกายให้อยู่รอด

ร่างกายที่ว่า คือบริษัทยาฮู เจแปน ที่ยังคงยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

แถมเงินที่ได้มาจากการขายกิจการก็นำมาต่อยอดกิจการที่ดำเนินการต่อ

จนเติบโต ย้อนศรบริษัทอื่นๆ ที่ทยอยปิดกิจการกันไป

การพลิกกลับมาของธุรกิจที่กำลังจะตายแบบนี้

ทำให้นึกถึง

“สตีฟ จอบส์”

ตอนที่เขากลับมาบริหารงานที่ “แอปเปิ้ล”

สิ่งแรกที่เขาทำคือ ประกาศ “สิ่งที่จะไม่ทำ”

ตอนนั้นบริษัทแอปเปิ้ลทำผลิตภัณฑ์มากกว่ายี่สิบอย่าง

แม้แต่เครื่องพิมพ์เอกสาร (Printer) ยังไม่เว้น

ทำมันตั้งหลายอย่าง แต่ไม่ค่อยมีกำไร

สตีฟ จอบส์ ตัดสินใจปิดกิจการหลายๆ ประเภท

เหลือไว้เพียงผลิตภัณฑ์ที่ทำต่อ

เพียงแค่ 4 ตัวเท่านั้น

ต่อยอดมาเป็น ไอพอด คอมพิวเตอร์ ไอแพด ไอโฟน ที่เราเห็นในปัจจุบัน

เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

แต่แท้จริงแล้วก็เคยเกือบตาย

จากการทำอะไรหลายอย่าง แต่ไม่ดีสักอย่างเหมือนกัน

อีกบริษัท ที่ผู้บริหารทำแบบนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร

ก็คือบริษัท “เจเนอรัล อิเล็กทริก หรือจีอี (GE)”

ในยุคสมัยของ “แจ๊ก เวลช์ (Jack Welch)” ผู้บริหารในตำนาน

เช่นเดียวกัน เมื่อแจ๊กขึ้นมาดำรงบทบาทซีอีโอ

เขาเห็นถึงงานหลายอย่างที่จีอีทำ

ลงแรงเยอะ แต่ได้ดอกผลน้อย

จึงค่อยๆ ทยอยปิด ทยอยขาย

เอามาลงทุนกับแผนกที่มีอนาคต

โดยมีเป้าหมายง่ายๆ ว่า

ทุกธุรกิจที่ทำ จะต้องเป็นที่หนึ่ง หรือที่สองของตลาดนั้นๆ ให้ได้

ไม่งั้นก็ไม่มีอนาคต

ต้องปิดในเร็ววัน

การบริหารในสภาวะวิกฤตนั้น

สร้างความเครียดให้ผู้บริหารเหล่านี้ไม่น้อย

หลายครั้งก็ทำเอานอนไม่หลับ

มีคนเคยสัมภาษณ์ “มาซาโยชิ” ว่า

ถ้าหัวคิดแต่เรื่องงาน ทำให้นอนไม่หลับ ทำอย่างไร

มาซาโยชิตอบว่า

“นอนไม่หลับ ก็ตื่นมาทำงานเลย”

ถ้านอนไม่หลับ เครียดเรื่องงาน ก็อย่าได้กังวล

ตื่นมาทำงานเลย

เดี๋ยวเหนื่อย มันก็หลับเอง

จริงมั้ย