เพ็ญสุภา สุขคตะ : เมื่อศิลปินต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ในยุคเริ่มต้นงานคริสตศิลป์

เพ็ญสุภา สุขคตะ

งานคริสตศิลป์ยุคเริ่มแรกมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Early Christian Art ถือกำเนิดขึ้นบนรอยต่อระหว่างยุคปลายของอาณาจักรโรมัน กับช่วงเวลาหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ได้ไม่นาน

เกิดจากการที่อัครสาวกกับเหล่าคริสตชนชาวยิวกลุ่มหนึ่งได้เดินทางจากตะวันออกกลางเข้ามาสู่กรุงโรม และพยายามเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในยุคที่ซีซาร์ (Caesar เป็นคำนำหน้าที่ใช้เรียกแทนจักรพรรดิโรมัน) ยังเรืองอำนาจ

ปฏิบัติการรังเกียจและรังแก “คนนอกศาสนา” จึงทวีความรุนแรงขึ้น นักบุญต้องซ่อนตัวอยู่ในถ้ำใต้ดิน ศิลปินต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนการสื่อสารแบบตรงไปตรงมาเพื่อความปลอดภัย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-4

 

ในนามชาวรากหญ้า พวกข้าจักไม่ทน

ศาสนาคริสต์ถือกำเนิดที่กรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ซึ่งในอดีตก่อนมีการแบ่งแยกประเทศ ดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย และก่อนที่จะมีคริสต์ศาสนา ผู้คนชาวยิวก็มีความเชื่อในเรื่อง “บัญญัติ 10 ประการ” ของโมเสส ดังที่ปรากฏใน The Old Testament หรือคัมภีร์พันธสัญญาเดิม มาก่อนแล้ว

กระทั่งคริสตชนกลุ่มหนึ่งนำโดยนักบุญซีโมน เปโตร หรือ St. Peter (ผู้ทันอยู่ในเหตุการณ์ชีวิตจริงของพระเยซู) ได้ตัดสินใจมุ่งหน้าไปสู่กรุงโรม ศูนย์กลางของโลกขณะนั้น มีความพยายามที่จะประกาศพระธรรมของพระเยซู

St. Peter ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคจากชนชั้นปกครอง แต่ในทางกลับกัน เขาได้การตอบรับจากคนรากหญ้าที่กำลังตกอยู่ในห้วงเหวแห่งความทุกข์ทรมานจากระบอบการปกครองของโรมัน

ดูภายนอกเสมือนว่าโรมรับอารยธรรมอันสูงส่งมาจากกรีก แต่ในความเป็นจริงนั้นโรมไม่ได้ศรัทธาต่อเทพเจ้าเหมือนชาวกรีก แค่หยิบยืมรูปลักษณ์และบทบาทของเทพเจ้ากรีกบางองค์มาแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นของตนเองโดยไม่ได้มีความผูกพันต่อเทพเจ้าแต่อย่างใด และซีซาร์ก็มีอำนาจเหนือกว่าเทพเจ้า

ชื่อเรียกเทพ-เทพีใหม่ที่โรมันแปลงจากกรีก ได้แก่ วีนัส กลายเป็นอาโฟไดท์, โพไซดอน เปลี่ยนเป็น เนปจูน, เฮราเคิล เรียก เฮอร์คิวลิส, หรือ เฮอร์เมส เรียกใหม่เป็น เมอร์คิวรี เป็นต้น

ซ้ำร้าย โรมยังพัฒนาโรงละครแบบครึ่งวงกลมของกรีกที่เรียกว่า Odeon มาเป็น Amphitheater หรือโรงมหรสพแบบวงกลมขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันดีคือ Colosseum ภายในแทนที่จะเป็นการแข่งขันกีฬามวยปล้ำเล็กๆ น้อยๆ หรือการแสดงละครร้อง พอให้ผู้ชมเพลิดเพลินใจ

แต่กลับกลายเป็น “ละครแห่งชีวิตจริง” ที่ไม่ต้องมีสคริปต์ ประเภทเลือดต้องล้างด้วยเลือด โดยเอาทาสเชลยต่างแดนมาสู้รบกับอัศวินสวมชุดเกราะอาวุธครบมือ หรือป่าเถื่อนยิ่งไปกว่านั้น คือเอาคนสองมือเปล่าแถมล่ามโซ่ที่ขามาสู้กับสิงโตหรือเสือตัวเป็นๆ ให้ผู้ชมได้เห็นฉากสยดสยอง

ในยุคที่สังคมโรมันเริ่มเสื่อมทรามจนถึงขีดสุด ชนชั้นสูงเอาแต่ฟุ้งฝัน ฝักใฝ่กามารมณ์ รสนิยมซาดิสต์ เห็นผิดเป็นชอบ เป็นช่องโหว่ให้การประกาศพระคริสตธรรมของนักบุญมองเห็นความสำเร็จอยู่รำไรก็จริง แต่วิธีการสานฝันนั้นกลับต้องทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ

ชาวบ้านร้านตลาดเริ่มหันมาตั้งคำถามกับ “ลัทธิจักรวรรดินิยมโรมัน” ที่ซีซาร์ของพวกเขาเอาแต่กระหายโลหิต บ้าอำนาจ รุกไล่ล่าดินแดนอื่นๆ ปล้นชิงทรัพยากรเพื่อนบ้านเพื่อเอาศฤงคารนั้นมาขยายปราสาทราชวังให้ใหญ่โตเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการจิกหัวทาสเชลยให้เป็นเหยื่อสิงโตในสนาม Gladiator

ชาวรากหญ้าในกรุงโรมบอกกับตนเองว่า ในเมื่อตอนนี้พวกข้าได้เห็นลำแสงใหม่ที่พอจะส่องทางสว่างให้ก้าวเดินออกจากทางตันขึ้นมาบ้าง ต่อจากนี้ไปพวกข้าจักไม่ทนรองมือรองเท้าเหล่าซีซาร์และชนชั้นปกครองอีกต่อไป

 


เมื่อนักบุญต้องซ่อนตัวในถ้ำ

การเผยแผ่พระธรรมในกรุงโรมไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่านักบุญไม่อาจมาเดินเคาะประตูตามบ้านประชาชน รวมทั้งไม่อาจก่อตั้งวัด โบสถ์ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมใดๆ ได้อย่างเปิดเผยเสรีบนท้องถนน แม้แต่ในชนบทห่างไกล

โดยเฉพาะในยุคของซีซาร์โรมันที่ชื่อ ไดโอเคลเตียน (Diocletian) มีความจงเกลียดจงชังประชาชนที่แอบไปเข้ารีตอย่างมาก ในปี ค.ศ.288 (บางเล่มว่า 287) พระองค์สั่งให้จับนักบุญเซบาสเตียน (St. Sebastian) มัดกับต้นไม้บนหน้าผาแห่งเนินเขาปาลาไทน์ (Palatine) แล้วให้นายขมังธนูยิงลูกศรพุ่งใส่ร่างซ้ำหลายดอกจนกว่าจะตาย ศพของนักบุญร่วงลงสู่ห้วงธารเหวลึก มีหญิงสาวชื่อ ลูชีนา (Lucina) ไปพบเข้าขณะเธอกำลังหาปลา ชาวบ้านจึงช่วยกันนำศพ St. Sebastian ไปฝังในถ้ำแบบหลบๆ ซ่อนๆ (ซึ่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 สถานที่แห่งนี้บนผิวดินถูกพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิหาร St. Peter แห่งกรุงวาติกัน สถานที่เดียวกันกับที่ได้นำร่างของ St. Peter และ St. Paul มาฝังไว้ด้วย)

ในภาวการณ์เช่นนั้น สิ่งเดียวที่พอจะทำได้คือ การขุดอุโมงค์ลับลงไปใต้ดิน มีความลึกโดยเฉลี่ยระหว่าง 22-45 ฟุตจากระดับพื้นดิน

ปี ค.ศ.1955 เป็นครั้งแรกที่นักโบราณคดีอิตาเลียนได้ทำการสำรวจอุโมงค์เหล่านั้น จวบปัจจุบันนับได้รวมแล้วมากกว่า 60 แห่ง เกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

อุโมงค์ใต้ดินมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Catacomb คาตาคอมบ์ คำว่า Cata เป็นรากศัพท์ของ Casa ในภาษาละตินที่แปลว่า บ้าน ที่พัก นิคาม ส่วน Comb หมายถึง Tomb แปลว่า หลุม ถ้ำ อุโมงค์

ภายใน Catacomb เหล่านักบุญและคริสต์ศาสนิกชนชาวโรมันรุ่นแรกๆ ได้เข้ามารวมตัวกันอยู่ในนี้เพื่อแอบแลกเปลี่ยนเรียนรู้สนทนาธรรมะ ตามแนวทางของ New Testament หรือคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ โดยไม่ให้ชาวโรมันล่วงรู้ความเป็นไป

อีกทั้งใน Catacomb ยังต้องเก็บซ่อนศพของนักบุญองค์ต่างๆ ผู้เสียสละชีวิตแบบ “มรณสักขี” ผู้ประกาศพระวรสาร คริสต์ศาสนิกชนจำนวนมาก ในหีบศพที่เรียกว่า “ซาโคฟากัส” (Sarcophagus)

นักโบราณคดีนับกะโหลกศีรษะในหีบศพรวมทั้งที่วางซ้อนในซอกหลืบต่างๆ ทั่วอุโมงค์ 60 กว่าแห่ง ได้มากกว่า 20,000 ชิ้น

 

เมื่อศิลปินต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

ในเมื่อนักบุญก็ไร้อิสรภาพที่จะประกาศพระศาสนาบนพื้นดินอย่างเปิดเผย ฝ่ายของนายช่างศิลป์เองที่ต้องทำงานเป็นกองหนุนสร้างสรรค์ศิลปะเสริมส่งให้นักบุญ ก็จำต้องอยู่ในโลกมืดๆ แคบๆ ไม่ต่างกัน

ความอัตคัดขัดสนในวัสดุอุปกรณ์ (เพราะไม่สามารถไปเสาะแสวงหาได้อย่างเปิดเผย) ความที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระแวดระวังภัยจากการจู่โจมบุกรุกทำลาย Catacomb โดยทหารที่ได้รับบัญชาจากซีซาร์ ทำให้ศิลปินต้อง “ลดเพดานตัวเอง” หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ลงอย่างมาก น่าจะมากถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์จากศักยภาพเดิมที่เคยมี

เดิมนั้นศิลปะทุกแขนงในโรมก่อนยุค Early Christian เคยพัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดแล้ว ทั้งด้านประติมากรรม และสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะด้านจิตรกรรมแบบปูนเปียก (Fresco) มีจิตรกรที่สามารถวาดผลองุ่นแบบเหมือนจริงเสียยิ่งกว่าจริง ถึงขั้นที่ว่าแม้แต่นกที่บินในอากาศอยู่ดีๆ เมื่อเหลือบเห็นภาพเขียนบนพื้นห้องนั้นแล้วนึกว่าเป็นองุ่นสด ยังต้องโฉบมาจิกผนังภาพจิตรกรรม จนจะงอยปากระบม

แต่แล้วในที่สุด เมื่อศิลปินต้องพรางตัวอยู่ในเขาวงกตขมุกขมัว แสงส่องสลัว จะระเบิดระบายความรู้สึกตามจริงก็ไม่ได้ มิพักต้องถามเลยว่า รูปแบบศิลปะจะเป็นเช่นไร?

งานคริสตศิลป์ยุคบุกเบิกนอกจากจะ “ไม่สวย” คือฝีมือไม่วิจิตรประณีต ไม่พิถีพิถันในการจัดองค์ประกอบ หรืออาจกล่าวได้ว่า ย้อนยุคถอยกลับไปราว 3,000 ปีสู่งานฝีมือแบบดั้งเดิม (Primitive) ด้วยซ้ำ แล้วยังต้องซ่อนสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้อีกมากมาย แทนการวาดรูปพระเยซู แม่พระมาดอนนา (พระแม่มาเรียอุ้มพระบุตร) ไม้กางเขน คือไม่อาจสื่อสารโดยตรงกับผู้ชมได้เลย

 

Good Shepherd และ Orante Prayer

ภาพวาดหลัก 2 ภาพที่พบบนผนังถ้ำในคาตาคอมบ์ทุกแห่ง ต้องมีภาพที่เรียกว่า The Good Shepherd กับ The Orante Prayer เสมอ

Good Shepherd แปลตรงตัวว่า คนเลี้ยงแกะที่ดี แสดงออกด้วยรูปผู้ชายแบกแกะไว้บนบ่า มีนก และฝูงแกะล้อมรอบซึ่งภาพลักษณะเช่นนี้เคยพบมาก่อนแล้วในศิลปะกรีกยุคแรกสุดคือยุคอาร์เคอิก (Archaic) เป็นรูปเทพเฮอร์เมสแบกแกะ หมายถึงเทพผู้พิทักษ์วิญญาณ คอยชี้นำหรือนำทางคนชั่วไปนรก คนดีไปสวรรค์

แต่ “แกะ” และ “คนเลี้ยงแกะ” ในคาตาคอมบ์ยุคเริ่มต้นของงานคริสตศิลป์จะหมายถึงเทพเฮอร์เมสด้วยล่ะหรือ? นักโบราณคดีชาวตะวันตก ตีความว่าคนเลี้ยงแกะหมายถึงพระเยซู (บางท่านว่าหรืออาจเป็นเซนต์ยอห์น) ส่วนแกะคือฝูงมนุษย์ที่หลงทาง รอคอยให้พระเยซูมาชี้ทางสว่าง หากแกะเหล่านั้นไม่มีผู้ดูแลก็จะเป็นสัตว์ป่าที่ไม่เชื่อง

Orante Prayer หรือ Praying Figure แสดงออกด้วยรูปบุคคลไม่ว่าชายหรือหญิงยกมือขึ้นสองข้างคล้ายสวดอ้อนวอนอะไรบางอย่าง อ้อนวอนใคร สวดเพื่ออะไร?

ผู้รู้ตีความประเด็นนี้กันหลายนัย บ้างว่าเป็นการสวดในตอนที่ต้องการให้พระคริสต์ฟื้นคืนชีพ บ้างว่าสวดเพื่อให้โยนาห์ (Jonah) ที่ถูกโยนลงไปในทะเลแล้วปลากลืนเข้าไปในท้อง ก่อนจะคายออกมาอีกครั้ง ฟื้นคืนชีพ

บ้างตีความว่า หรือแท้ที่จริง เป็นการวิงวอนให้ทหารโรมันและซีซาร์กลับตัวกลับใจเลิกไล่ฆ่าบุคคลที่เห็นต่างทางศาสนา

ศิลปะแบบคาตาคอมบ์ดำเนินไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 กระทั่งถึงยุคสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 1 มหาราช (Constantin I the Great) จักรพรรดิโรมันองค์แรกที่หันมายอมรับศาสนาคริสต์ให้เป็นศาสนาของชาวโรมันแทนที่ศาสนาเดิมซึ่งนับถือเทพเจ้าต่างๆ ตามแบบกรีก ทำให้ปี ค.ศ.330 เกิดการสร้างกรุงคอนสแตนติโนเปิล ขึ้นที่ตะวันออกกลาง ปัจจุบันคือกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี เรียกกันว่าอาณาจักรที่สองของโรมัน หรือ Byzantium

ศิลปะบีแซนไทน์ (ไบแซนไทน์ Byzantine) ได้รับการอุปถัมภ์โดยจักรพรรดิโรมันสืบต่อมาอีกหลายรัชกาล ทำให้ศิลปินสามารถรังสรรค์รูปแม่พระมาดอนนา รูปไม้กางเขน ได้อย่างเปิดเผย กลายเป็นศิลปะที่วิจิตรบรรจงวิลิศมาหรา ประหนึ่งขั้วตรงข้ามกับงานศิลปะในถ้ำคาตาคอมบ์

หากนับเวลามาถึงสมัยเรา เหตุการณ์ก็ผ่านไปนานเนิ่นถึง 1,700-1,800 ปีแล้ว แต่ไฉนทุกวันนี้ ศิลปินไทยแขนงต่างๆ ไม่ว่าจิตรกร ประติมากร ประพันธกร กวี คีตกร รวมทั้งงานในแขนงภาพยนตร์ ฯลฯ

ยังไม่สามารถแสดงออกชนิดที่เรียกว่า “ปากกับใจตรงกัน” ได้อีก ไยยังต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อีกนานไหมที่พวกเราเหล่าศิลปินจักคลานออกมาจากถ้ำ!