มนัส สัตยารักษ์ | ข้อหาพยายามก่อการกบฏ!

พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มอบหมายให้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สนง.พระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการ สนง. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ดำเนินคดีกับบุคคลรวม 12 คน ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านกับนักวิชาการ หลังร่วมกันจัดเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่บริเวณลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลาง จ.ปัตตานี เมื่อ 28 กันยายน 2562

ต้นเหตุมาจากช่วงที่ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการ กล่าวตอนหนึ่งว่า “…สถานการณ์ชายแดนใต้ไม่มีทางที่จะดีขึ้นได้ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันสืบทอดอำนาจของระบอบเหล่านี้…”

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “…การแก้ปัญหาของประเทศไทยอาจไม่ต้องอยู่กันเป็นรัฐเดียวหรือรวมศูนย์ก็ได้ การแก้รัฐธรรมนูญ อาจแก้มาตรา 1 ด้วย ก็ไม่แปลกอะไร”

คงจะตรงนี้แหละครับที่ กอ.รมน.เห็นว่า “พยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1”

แต่ในส่วนตัวผม-ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ชำนาญการ-เห็นว่ายังไม่เข้าองค์ประกอบ “เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ฯลฯ …เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน ฯลฯ…และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ตามมาตรา 116 กฎหมายอาญาแต่อย่างใด

กรณีที่ กอ.รมน.ส่วนหน้าแจ้งความให้พนักงานสอบสวนของตำรวจเพื่อดำเนินคดีครั้งนี้ ถ้าฟังความอย่างหยาบๆ ก็อาจจะเข้าใจผิดได้ว่า กลุ่มคนที่ถูกแจ้งความทั้ง 12 คนได้มั่วสุมเสวนากันอย่างลับๆ โดยไม่ได้ขออนุญาต และได้กระทำการผิดกฎหมาย (อาญา ม.116) ตามกฎหมาย เพราะแจ้งความเอาเรื่องทุกคนที่พูดบนเวที รวมทั้งนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งเป็นพิธีกร

พูดกันกันตามภาษาบ้านๆ ก็ต้องว่าทั้ง 12 คนโดนข้อหา “พยายามก่อการกบฏ” ทีเดียวแหละ เล่นกันอย่างนี้ก็เลิกพูดเรื่อง “ปรองดอง” ได้แล้ว

ในความเป็นจริง การเสวนาครั้งนี้กระทำอย่างเปิดเผย ที่บริเวณลานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี มีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาร่วมฟัง

ตำรวจต้องรับแจ้งตามระเบียบ แสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน พิจารณาปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายและมีความเห็นโดยไม่ต้องกังวลกับอำนาจใดๆ

คดีที่ข้อกล่าวหารุนแรงอย่างนี้ถือเป็นคดีสำคัญ ตำรวจคงให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมาควบคุมดูแลการดำเนินการอยู่แล้ว ตำรวจอาจจะเรียกผู้ถูกกล่าวหามาให้การและแจ้งข้อหา ส่วนจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือให้หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เป็นเรื่องของอัยการ

การพิพากษาว่าผิดหรือไม่ผิด ลงโทษหรือยกฟ้อง เป็นเรื่องของศาลสถิตยุติธรรม

ดูผ่านๆ เราน่าจะมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่นอน เพราะในครั้งนี้ กอ.รมน.วางบทบาทตัวเองประหนึ่งเป็น กอ.รมน.ในยุค คสช.ที่รัฐบาลมีอำนาจใช้ ม.44 ซึ่งเป็นอำนาจที่อยู่เหนือทุกองค์กรรวมทั้งศาล

แต่ขณะนี้เป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ไม่มี ม.44 พรรคการเมืองจึงรวมตัวกันฟ้องกลับ กอ.รมน. และกล่าวโทษไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ กอ.รมน. ในข่าวที่อ่านพบได้ความว่า พรรคฝ่ายค้านตั้งข้อหาส่วนหนึ่งว่า “กลั่นแกล้งและหมิ่นประมาท”

ก็มีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เพราะอ่านข่าวและดูคลิปแล้ว นอกจาก ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ก็ไม่พบว่ามีใครพูดถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 หมวด 1 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หน.พรรคประชาชาติและคนอื่นๆ ล้วนแต่พูดถึงความผิดพลาดของรัฐบาลในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ซึ่งได้รับเสียงปรบมือจากผู้ฟังตลอดเวลา เนื้อหาคำพูดของผู้ร่วมเสวนาบนเวทีส่วนใหญ่ก็เป็นประเด็นที่คนภาคใต้ต่างพูดซ้ำซากกันมามากกว่า 10 ปีแล้ว ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 กฎหมายอาญาแต่อย่างใด

ถ้า กอ.รมน.ไม่คิดจะกลั่นแกล้งหรือหมิ่นประมาทก็ควรที่จะแจ้งความดำเนินคดีกับ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ แต่เพียงคนเดียว

การแจ้งความให้ดำเนินคดีแบบเหมารวมทั้ง 12 คนครั้งนี้เท่ากับว่ารัฐบาลเจตนาจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามและพรรคฝายค้านที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ… รัฐธรรมนูญที่ช่วยให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ยาวได้จนนิรันดร์

เหตุที่ต้องแจ้งความด้วยข้อหารุนแรงขนาดนี้ก็เพราะเป็นช่วง “ขาลง” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้หรืออยู่ยาก!

เหตุใดจึงคิดว่ารัฐบาลประยุทธ์เป็นช่วงขาลง?

ประการแรก หัวหน้ารัฐบาลเป็นคนเดียวกับหัวหน้ารัฐบาล คสช. ซึ่งประเทศต้องเสียเวลาถึง 5 ปีไปกับการถอยหลังไม่ว่าจะในด้านใดก็ตาม จากประเทศอันดับต้นๆ ของอาเซี่ยน ไทยทำท่าจะรั้งท้ายในตำแหน่งบ๊วย

คนฝ่ายรัฐบาลรวมถึงนายทุนใหญ่ซึ่งเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศต่างร่ำรวยมากขึ้น ในขณะที่ 99 เปอร์เซ็นต์ยากจนลงไปอีก

คนในทีมรัฐบาลร่ำรวยขึ้นโดยปราศจากการตรวจสอบ เชื่อว่าถ้ามีการซักถาม เจ้าตัวแต่ละคนคงชี้แจงที่มาของความร่ำรวยไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องจุกจิกน่ารำคาญ บอกให้รู้ถึงสภาพบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่ชนะพรรคฝ่ายค้านอย่างหวุดหวิดด้วยสารพัดกลวิธีของสูตรนับคะแนนแบบใหม่ ได้อำนาจรัฐเพราะเสียง ส.ว. ที่ตัวเองแต่งตั้ง 250 เสียง

รัฐบาลที่ใช้เงินของรัฐในการตอบแทนบุญคุณคนชเลียร์ ใช้งบประมาณแผ่นดินสนองนโยบายประชานิยมเพื่ออำนาจในอนาคต

รัฐบาลที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและโทษสมบัติของรัฐมนตรี

“พลเอก” และรัฐบาลทั้งคณะ ได้รับความเชื่อถือในการบริจาคช่วยเหลืออุทกภัยน้อยกว่า “พระเอก” คนเดียว หลายร้อยล้านบาท

รัฐบาลในท่ามกลางสภาพสังคมการเมืองที่แตกร้าว ด้วยแรงดัน (stress) แรงกด (pressures) และแรงดึง (tension)

รัฐบาลขาลงต้องเผชิญกับแรงกด ดึง ดัน รุมเร้ารอบด้านเช่นนี้ ต้องใช้กรรมวิธี “เล่นแรง” กับพรรคฝ่ายค้านด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาอำนาจไว้ให้คงอยู่ยาวนาน