วิกฤติศตวรรษที่ 21 | การปฏิวัติดิจิตอลและการแข่งขันทางทหารและความมั่นคงระหว่างสหรัฐ-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (21)

การแปรเป็นดิจิตอลกับการสงครามและความมั่นคง

โลกเข้าสู่ยุคดิจิตอลราวทศวรรษ 1950 เรียกชื่อต่างๆ เช่นว่า ยุคข่าวสาร ยุคคอมพิวเตอร์ และได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก่อผลกระทบต่อกิจกรรมทางสังคมทุกด้าน

บางทีเรียกว่า “การปฏิวัติดิจิตอล” เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม และการปฏิวัติดิจิตอลนำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21

แนวคิดนี้เสนอครั้งแรกในปี 2015 โดยสมัชชาเศรษฐกิจโลก

เยอรมนีมีการใช้แนวคิดเรื่อง “อุตสาหกรรม 4.0” มาตั้งแต่ปี 2011 เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาการผลิตทางอุตสาหกรรมของประเทศ ไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตปริมาณมากใน “โรงงานฉลาด”

จีนได้สร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของตนคือ “ทำในประเทศจีน 2025” เสนอปี 2015 แนวคิดทั้งสามซ้อนเหลื่อมกัน ทั้งหมดให้ความสำคัญต่อการปฏิวัติดิจิตอลที่มีลักษณะพลิกโลก

ที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ มีการใช้เทคโนโลยีที่มีลักษณะพลิกโลกอย่างเช่น อินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่งและอินเตอร์เน็ตในระบบ

หุ่นยนต์ฉลาด ความจริงเสมือน และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกทางกายภาพ ชีวภาพ และข่าวสารพร่ามัว

“การแปรเป็นดิจิตอล” ในที่นี้ใช้หมายรวมถึงการปฏิวัติดิจิตอลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่

การแปรเป็นดิจิตอลได้รับการผลักดันจากสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็นที่ต่อเนื่องมา หลังสงครามเย็นได้เกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด ทั้งยังได้เกิดสงครามเย็น 2.0 ซ้ำขึ้นอีกระหว่างสหรัฐกับจีน-รัสเซีย (กล่าวได้ว่าเริ่มในปี 2017)

สงครามที่ไม่หยุดหย่อนเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาการแปรเป็นดิจิตอลอย่างรวดเร็ว

ขณะที่เทคโนโลยีดิจิตอลก็เปลี่ยนโฉมของการสงครามและความมั่นคงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจากสงครามกดปุ่มสู่สงครามฝูงโดรน จากสงครามทางกายภาพสู่สงครามไซเบอร์และอินเตอร์เน็ต จากสงครามในโลกสู่สงครามอวกาศ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารที่ควรกล่าวถึง 3 ประการที่ได้พลิกโฉมการ สงครามและความมั่นคงไปตลอดกาล ได้แก่ 1) เทคโนโลยีขีปนาวุธ 2) ระเบิดนิวเคลียร์ และ 3) วิทยาการเข้ารหัส และการสื่อสาร

จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

1)เทคโนโลยีขีปนาวุธ

เยอรมนีเป็นประเทศนำหน้าในด้านนี้ จรวดที่มีการพัฒนาไปมากได้แก่ วี 2 (แปลว่าอาวุธล้างแค้น 2 พัฒนาจากวี 1) ใช้ในช่วงปลายสงครามโจมตีที่สำคัญต่อประเทศอังกฤษ หลังสงคราม จรวดวี 2 เป็นพื้นฐานให้การพัฒนาจรวดส่งยานอวกาศและขีปนาวุธหลายแบบในสหรัฐ สหภาพโซเวียต และอังกฤษ

สำหรับการผลักดันให้เกิดยุคอวกาศปรากฏว่าได้มีการปล่อยยานอวกาศทางทหารและความมั่นคงคุณภาพสูงขึ้นสู่อวกาศจำนวนมาก จำแนกได้เป็นหลายประเภทคือ

ก) ดาวเทียมสอดแนม ซึ่งเหมือนมีตาทิพย์สามารถสอดส่องความเคลื่อนไหวบนโลกได้ทุกแห่งตลอดเวลา ในสหรัฐมีการจัดตั้งองค์การสอดแนมแห่งชาติ (จากดาวเทียม) ตั้งแต่ปี 1960 สมัยประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

การสอดแนม ขณะนี้ทำได้รวดเร็วราคาถูกโดยใช้โดรนสอดแนม เมื่อผสานกับเทคโนโลยีการสอดส่องและสอดแนมอื่น กล่าวได้ว่าบนโลกนี้ไม่มีที่ใดที่จะพ้นจากการสอดแนมของมหาอำนาจไปได้

ข) ระบบดาวเทียมเตือนภัยการโจมตีด้วยขีปนาวุธ (ทำงานร่วมกับระบบเรดาร์ภาคพื้นดิน) ซึ่งได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามเย็น 1.0 สหรัฐได้มีการก่อตั้งศูนย์ป้องกันทางอวกาศตั้งแต่ปี 1967 มีการพัฒนาและเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง ครั้งท้ายสุด (2011) ใช้ชื่อว่า “ศูนย์เตือนภัยขีปนาวุธ”

กล่าวกันว่ามีเพียงสหรัฐและรัสเซียเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีนี้

ในต้นเดือนตุลาคม 2019 ประธานาธิบดีปูตินเปิดเผยว่ารัสเซียได้ช่วยจีนติดตั้งระบบเตือนภัยการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งแสดงความไว้วางใจอย่างสูงระหว่างรัสเซีย-จีน

และเป็นการเสริมความสามารถในการทหารของจีนอย่างมาก ในการต่อต้านการกดดันทางเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐ (ดูบทรายงานของ Pavel Felgenhauer ชื่อ Russia Exports Its Missile Early-Warning Knowhow to China ใน jamestown.org 10/10/2019

ค) ระบบดาวเทียมนำทาง ที่มีราคาแพง เนื่องจากต้องใช้ดาวเทียมจำนวนมาก ผสานกับสถานีภาคพื้นดิน จึงใช้งานได้ดี กองทัพเรือสหรัฐที่ต้องการทราบพิกัดตำแหน่งของเรือที่แน่นอน และเพื่อนำทางขีปนาวุธได้พัฒนาระบบดาวเทียมนำทางของตนขึ้นก่อนตั้งแต่ปี 1959 ต่อมาในปี 1973 ได้เริ่มพัฒนาระบบดาวเทียมนำทาง (ระบบจีพีเอส) เต็มรูปแบบ

แต่การเปิดใช้ในภาคพลเรือนกระทำอย่างจำกัด เริ่มจากสายการบินในปี 1985 ขยายการเปิดให้ภาคพลเรือนใช้มากขึ้นหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง แต่มีการบิดเบนสัญญาณที่ใช้ในทางพลเรือนไม่ให้แม่นยำ

จนถึงปี 2000 จึงได้เปิดสัญญาณให้มีความแม่นยำใกล้เคียงกัน ชาติอื่นที่สร้างระบบดาวเทียมนำทางได้แก่ สหภาพโซเวียต สหภาพยุโรป และจีน ตามลำดับ

ง) ระบบดาวเทียมสื่อสาร สหรัฐสร้างระบบการสื่อสารดาวเทียมทางทหารในทศวรรษ 1960 ใช้ปฏิบัติงานได้ ในปี 1968 ได้ส่งดาวเทียมสื่อสารไปกว่า 30 ดวง ในปี 2007 ได้ขยายปฏิบัติการร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมออสเตรเลียที่อยู่ทางแปซิฟิกตอนใต้ สร้างระบบดาวเทียมสื่อสารโลกคลื่นความถี่กว้างขึ้น

จ) การติดอาวุธในอวกาศ ซึ่งมีแผนและกระทำกันอย่างลับๆ ในหมู่ประเทศมหาอำนาจ แต่เบื้องหน้ามีการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศต่างๆ แปรอวกาศไปใช้ในทางทหาร ในที่สุดสหรัฐได้ประกาศว่ามีแผนก่อตั้งกองกำลังอวกาศ มีระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างปี 2020-2024

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธนั้นได้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งบินได้ไกลขึ้น เร็วขึ้น บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น บรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้และแม่นยำขึ้น จนกล่าวกันว่า ผู้นำประเทศมหาอำนาจสามารถกดปุ่มทำสงครามนิวเคลียร์ได้ ประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงที่วิวาทกับคิม จอง อึน ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือในเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ได้ขู่สำทับว่า

“ผมก็มีปุ่มกดระเบิดนิวเคลียร์เหมือนกัน แต่มันใหญ่กว่ามากและทรงพลังกว่ามาก และปุ่มของผมทำงานได้ดี”

2)ระเบิดนิวเคลียร์

สหรัฐเป็นประเทศผู้นำหน้า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้ผลิตและใช้ระเบิดปรมาณูเป็นครั้งแรก หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้พัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังมากกว่าระเบิดปรมาณูเป็นร้อยเท่า

แต่ชาติอื่นมีสหภาพโซเวียตและจีนก็ได้พัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงนี้อย่างตามติด จนไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์อีกหลังสงคราม

และมีความพยายามที่จะลดการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์

ทำให้บางพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และจำกัดการพัฒนาอาวุธนี้

แต่ดูจะไม่เป็นผลสำเร็จ

สหรัฐเองมีแผนพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยระหว่างปี 2017-2046 ใช้เงินทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน-รัสเซีย

การพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารสองอย่างข้างต้น ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์โดยธรรมชาติ คอมพิวเตอร์ใช้งานที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นแบบดิจิตอลรุ่นแรกของสหรัฐ เป็นคอมพิวเตอร์ในกิจการทหาร ชื่อเอเนียก (ENIAC เครื่องคอมพิวเตอร์และบูรณาการตัวเลขอิเล็กทรอนิกส์) ประกอบสำเร็จปี 1946 ใช้ในการคำนวณตารางขีปนาวุธและออกแบบระเบิดไฮโดรเจน

การทหารต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กแบบพกพาสะดวก

ต่อมาบริษัทไอบีเอ็มจึงได้สร้าง “เครื่องคำนวณการทหาร” ในปี 1950 ออกจำหน่ายสอดคล้องกับสงครามเกาหลี เมื่อถึงในปี 1964 สหรัฐได้สร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขึ้น

เพื่อเอาชนะคู่แข่งสหภาพโซเวียตในสงครามเย็นและการแข่งขันทางอวกาศ

3)วิทยาการเข้ารหัสและการสื่อสาร

ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีการใช้วิทยุเพื่อการสื่อสารอย่างกว้างขวางทั้งในกิจการพลเรือนและทางทหาร ในด้านการทหารนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจที่ทำให้การบังคับบัญชาเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

แต่คลื่นวิทยุง่ายแก่การดักฟัง ได้เกิดวิทยาการเข้ารหัสขึ้น เพื่อทำให้ยากแก่การดักฟัง (ข่าวสารที่เข้ารหัสนี้ใช้ทางการทูตและการค้าด้วย)

เมื่อสงครามโลกระเบิดขึ้น เกิดสงครามวิทยาการเข้ารหัสระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับฝ่ายเยอรมนีและญี่ปุ่น ซึ่งมีผลต่อการพลิกผันของการรบและสงครามโดยรวม

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการถอดรหัสอีนิกมาของเยอรมนี (อีนิกมาเป็นชื่อเครื่องจักรใช้เข้ารหัสข้อความ) เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ คือ อลัน ทัวริ่ง (Alan Turing เกิด 1912-1954) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้กล่าวชมทัวริ่งในบางแห่งว่า เขามีคุณูปการใหญ่หลวงแต่เพียงผู้เดียวในชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อนาซีเยอรมัน (ดูบทความชื่อ How Alan Turing Cracked the Enigma Code ใน iwm.org.uk 05/02/2018)

ในสหรัฐเองก็มีพนักงานสตรีอเมริกันถึงราว 1 หมื่นคนที่ทำหน้าที่ถอดรหัส ทำงานอยู่เบื้องหลังในสงครามโลกครั้งที่สอง

ข่าวสารที่เธอแจ้งแก่กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้สามารถช่วยจมเรือของศัตรูและยิงเครื่องบินจากเรือยามาโมโต้ตก รวมทั้งช่วยในการวางแผนยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี

ซึ่งหลังสงคราม สตรีผู้ทำงานด้านนี้ได้รับคำชมเชยว่าได้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงในการเอาชนะศัตรู ทำให้สงครามสั้นลงอย่างมาก (ไม่น้อยกว่าสองปี) และช่วยชีวิตทหารหลายพันคน

(ดูบทความของ Maya Wei-Hass SMITHSONIAN.COM OCTOBER 5, 2017 และบทความของ Liza Mundy ชื่อ The Female code breakers who helped defeat the Nazis ใน politico.eu 10/14/17)

ในช่วงสงครามเย็นที่มีระเบิดนิวเคลียร์อำนาจทำลายล้างสูง เกิดความหวั่นเกรงว่าการสื่อสารและการบังคับบัญชาทางทหารจะถูกทำลายได้ง่าย

ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ให้เงินอุดหนุนสร้างสำนักงานเครือข่ายการวิจัยระดับสูง (ARPANET) เครือข่ายการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในกิจการทหารและการวิจัยทางทหาร จนในปี 1990 จึงได้เริ่มเปิดให้ภาคเอกชนมาใช้ เมื่อถึงปี 1993 ทั่วโลกมีเว็บไซต์เพิ่มขึ้นเป็น 600 แห่ง จากนั้นจึงได้เร่งฝีก้าวขึ้น สงครามวิทยาการเข้ารหัสได้ขยายสู่สงครามไซเบอร์และสงครามอินเตอร์เน็ตอย่างที่เป็นอยู่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการแปรเป็นดิจิตอลและปัญญาประดิษฐ์ กับการสงครามและความมั่นคง