ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“การโจมตี [ของโดรน] เป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียคาดไว้ก่อนว่าจะเกิดขึ้น”
Omar Lamrani
นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์จาก Stratfor
การโจมตีทางอากาศด้วยโดรนต่อแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียเมื่อเช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2019 ส่งสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบป้องกันทางอากาศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบป้องกันทางอากาศที่ลงทุนอย่างมหาศาลและมีเทคโนโลยีในระดับแนวหน้านั้น อาจไม่สามารถป้องกันการโจมตีด้วยโดรนและอาวุธปล่อยแบบครุยส์ (cruise missiles) ได้เลย
เพราะระบบป้องกันทางอากาศดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับต่อการโจมตีของโดรนในลักษณะเช่นนี้แต่อย่างใด
คำถามสำคัญจากกรณีนี้คือ รัฐที่ลงทุนอย่างมากกับเทคโนโลยีอาวุธสมรรถนะสูงที่มีราคาแพงอย่างมาก จะรับมือกับภัยคุกคามของการโจมตีด้วยอาวุธราคาถูกและใช้เทคโนโลยีระดับต่ำ (cheap and low-tech threats) อย่างไร
คำถามเช่นนี้มีรูปธรรมจากการโจมตีที่กล่าวแล้วในข้างต้น และคำถามเช่นนี้เป็นประเด็นที่นักการทหารทั่วโลกต้องหันมาใส่ใจ
มากกว่าจะยึดติดกับ “จินตนาการเก่า” ที่ไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้วว่า เทคโนโลยีอาวุธสมรรถนะสูงราคาแพงคือปัจจัยชี้ขาดทางทหาร และเทคโนโลยีชนิดนี้จะช่วยป้องกันภัยคุกคามจากการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ก่อการร้ายทางอากาศ
หากพิจารณาในมุมมองเปรียบเทียบแล้ว เหตุการณ์การโจมตีแหล่งน้ำมันในวันที่ 14 กันยายน 2019 อาจจะไม่แตกต่างจากการโจมตีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001
เหตุการณ์ในครั้งนั้นชี้ให้เห็นชัดว่า ระบบป้องกันทางอากาศที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของโลกที่รัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐครอบครองนั้น กลับไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีจากการก่อการร้ายด้วยเครื่องบินโดยสารพลเรือนจำนวนสามลำที่พุ่งชนอาคารเวิลด์เทรดในนครนิวยอร์กและอาคารกระทรวงกลาโหมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. … ระบบอาวุธสมรรถนะสูงของสหรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ในการป้องกันได้มากอย่างที่คาดหวังได้
ดังนั้น การโจมตีในแบบที่คาดไม่ถึงจึงกลายเป็นโอกาสอย่างดีของความสำเร็จ
ว่าที่จริงก่อนการโจมตีที่ซาอุดีอาระเบียนั้น ในวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2019 คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงของยุโรป (The EU Security Commission) ได้เตือนถึงโอกาสที่จะเกิดการก่อการร้ายด้วยโดรน
โดยผู้ก่อการร้ายอาจใช้โดรนเป็นเครื่องมือในการโจมตีเมืองและประชาชนในยุโรป
จูเลียน คิง (Commissioner Julian King) กล่าวในเรื่องนี้ว่า เจ้าหน้าที่ของยุโรปควรจะต้องเตรียมคิดในการรับมือกับภัยคุกคามของโดรนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
เพราะโดรนมีขีดความสามารถมากขึ้นเท่าๆ กับ “ฉลาด” มากขึ้น (smarter)
ดังนั้น โดรนจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ของการก่อการร้ายในเมือง หรืออาจกลายเป็น “ผู้ก่อการร้ายทางอากาศ” ในอนาคต
นอกจากนี้ สำนักงานต่อต้านการก่อการร้ายของฝรั่งเศสเองก็มีความกังวลอย่างมากถึงการใช้โดรนเป็นพาหนะในการก่อการร้ายด้วยอาวุธเคมี ซึ่งหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายหลายส่วนยอมรับว่า โอกาสที่จะเกิดการใช้โดรนในการก่อการร้ายทางเคมีมีความเป็นไปได้มาก
อันทำให้ในที่สุดสหภาพยุโรปจัดตั้งโครงการศึกษาเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของโดรน
และในอีกด้านคงต้องยอมรับว่า ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในปัจจุบันไม่แต่เพียงสนใจเทคโนโลยีโดรนมากขึ้นเท่านั้น
หากแต่ยังพยายามยกระดับขีดความสามารถในการใช้โดรนมากขึ้น เช่น กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอนเป็นตัวอย่างของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่มีเทคโนโลยีสมรรถนะสูงของโดรน หรือกลุ่มฮูติในเยเมนก็เช่นเดียวกัน
อาวุธไฮเทค ภัยโลว์เทค
เหตุการณ์ที่ซาอุดีอาระเบียนำไปสู่คำถามที่สำคัญว่า ทำไมการลงทุนอย่างมหาศาลเป็นจำนวนหลักพันล้านเหรียญสหรัฐด้วยการติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศแบบแพตทริออต (Patriot surface-to-air missiles) แต่สุดท้ายแล้วระบบนี้กลับไม่สามารถป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้นได้เลย
ว่าที่จริงแล้วระบบป้องกันทางอากาศแบบแพตทริออตไม่ได้ล้มเหลวแต่อย่างใด
นักวิเคราะห์ด้านอาวุธยอมรับว่าระบบป้องกันชุดนี้เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลกชุดหนึ่ง
หากแต่ระบบดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อป้องกันการโจมตีในแบบที่เราเห็นในวันที่ 14 กันยายนที่ซาอุดีอาระเบีย
ระบบนี้ถูกออกแบบเพื่อรับมือกับการโจมตีของอากาศยานที่บินในระดับสูง เช่น เครื่องบินรบของข้าศึก (ในความหมายของเครื่องบินเจ็ต) หรือป้องกันการโจมตีของขีปนาวุธ (ballistic missiles)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้กลับเป็นการโจมตีในระดับต่ำ
เพราะโดรนหรืออาวุธปล่อยแบบครุยส์ที่บินในระดับต่ำ จนระบบเรดาร์ภาคพื้นดินของแพตทริออตไม่สามารถตรวจจับการบินของอาวุธดังกล่าวได้
กล่าวคือ ระบบป้องกันของแพตทริออตไม่ได้รองรับต่อขีดความสามารถในการโจมตีทางอากาศในระดับต่ำของโดรนหรืออาวุธปล่อยแบบครุยส์
เงื่อนไขเช่นนี้กลายเป็น “ช่องว่าง” ของการป้องกันทางอากาศของซาอุดีอาระเบียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และข้อมูลทางทหารในอีกส่วนหนึ่งชี้ว่า การเตรียมป้องกันทางอากาศนี้ยังเน้นถึงเป้าหมายในมุมสูง
นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์เชื่อว่าซาอุดีอาระเบียเตรียมรับมือกับเป้าหมายในมุม 120 องศา ซึ่งมีนัยหมายถึงการโจมตีในแบบขีปนาวุธ และระบบดังกล่าวเตรียมรับมือกับการโจมตีจากทางทิศใต้
แต่การโจมตีเกิดขึ้นจริงจากทางทิศตะวันตก (จากรายงานของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย)
นอกจากนี้ จากการแสดงซากอาวุธเห็นได้ชัดว่าเป็นจรวดพิสัยใกล้ของอิหร่านแบบ Quds-1 ที่มีพิสัยในระยะ 500 กิโลเมตร และไม่น่าเกิน 1,000 กิโลเมตร
ซึ่งมีนัยว่าจรวดนี้ไม่น่าจะถูกยิงจากพื้นที่ของเยเมน และอาจจะยิงจากอิรักหรืออิหร่าน (ความเห็นของ Michael Elleman นักวิเคราะห์จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ กรุงลอนดอน)
หรือในอีกด้าน ระบบป้องกันอาวุธระยะใกล้ที่น่าจะมีจำนวนอย่างน้อย 4 ชุดที่บ่อน้ำมัน Abqaiq น่าจะพอที่จะรับมือกับการโจมตีของโดรนได้บ้าง
แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าระบบนี้น่าจะติดตั้งผิดทิศทาง และหากระบบดังกล่าวจะทำหน้าที่ได้บ้าง ก็อาจจะไม่ทันเวลากับการโจมตีของโดรน (ความเห็นของ Michael Duitsman นักวิจัยของ Center for Nonproliferation Studies)
ดังนั้น คำถามในยุคปัจจุบันจึงเป็นว่า เราจะรับมือกับภัยคุกคามของ “อาวุธโลว์เทคที่มีประสิทธิภาพ” ได้อย่างไร
อาวุธโลว์เทคที่มีประสิทธิภาพสูง
สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าซาอุดีอาระเบียรับมือกับภัยคุกคามที่ผิดไปจากความเป็นจริง และขณะเดียวกันก็รับมือกับภัยที่ผิดทิศทาง หรือบทเรียนที่สำคัญอาจกล่าวเป็นบทสรุปได้ว่า ภัยคุกคามที่เกิดเป็นเรื่องใหม่ และรัฐบาลริยาดก็ไม่มีมุมมองที่จะคาดถึงการโจมตีในรูปแบบเช่นนี้มาก่อน เพราะการเตรียมรับมือของซาอุดีอาระเบียนั้นมุ่งเน้นการโจมตีของอากาศยานรบสมัยใหม่ หรือการโจมตีด้วยขีปนาวุธ แต่ไม่ใช่ด้วยอาวุธแบบ “โลว์เทค” เช่นโดรนที่มีราคาถูก
นอกจากนี้ ยังพบว่าระบบอาวุธสมรรถนะสูงที่ซาอุดีอาระเบียซื้อจากสหรัฐนั้นอยู่ในการครอบครองของกองทัพ และระบบป้องกันทางอากาศอยู่ในความรับผิดชอบของกองกำลัง National Guard
แต่การป้องกันแหล่งผลิตน้ำมันของประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย (ข้อมูลจาก Becca Wasser นักวิเคราะห์จาก Rand Corporation) ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งของจุดอ่อนของระบบป้องกันทางอากาศของซาอุดีอาระเบีย
ในอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากแหล่งน้ำมันแล้ว ซาอุดีอาระเบียมีเป้าหมายที่อาจกลายเป็นจุดอ่อนให้เกิดการโจมตีได้อีก เช่น แหล่งผลิตน้ำจืดและท่อส่งน้ำไปยังเมืองต่างๆ
ซึ่งเป้าหมายเช่นนี้เป็น “เป้าหมายที่ป้องกันได้ยาก” (หรือเป็น soft target) เพราะมีขนาดใหญ่และอยู่บนพื้นดิน
ซึ่งในด้านหนึ่ง เป้าหมายเช่นนี้อาจจะกลายเป็นจุดหมายของการก่อการร้าย หรือเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับการโจมตีของโดรนไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ หากพิจารณามากกว่าการโจมตีของโดรนในกรณีของซาอุดีอาระเบียแล้ว เราอาจเห็นได้ว่า “สงครามโดรน” กำลังเกิดในตะวันออกกลาง
ระบบอาวุธชุดนี้ออกปฏิบัติการอย่างมากในความขัดแย้งในซีเรีย อิรัก เยเมน และเลบานอน
จนอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ในพื้นที่แถบนี้ก้าวสู่ความเป็น “ยุคใหม่ของความขัดแย้ง” ที่มีการใช้อาวุธโจมตีจากระยะไกล และเป็นเหมือนอาวุธแบบล่องหน (stealth-like weapon) และทั้งสามารถโจมตีเป้าหมายที่มีการระวังป้องกันอย่างดี
ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าโดรนกำลังเป็นระบบอาวุธที่จะมีบทบาทอย่างสำคัญในความขัดแย้งของโลกในอนาคต
คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้โดรนมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต ได้แก่ โดรนมีหลายขนาด รัฐที่ไม่ใช่รัฐมหาอำนาจอาจใช้โดรนขนาดเล็กที่มีราคาถูก และไม่กลายเป็นภาระทางด้านงบประมาณทหารมากเกินไป
อีกทั้งยังง่ายในการผลิตและการบำรุงรักษา หรือหากลงทุนมากขึ้น อาจพัฒนาไปสู่การมีโดรนขนาดกลาง ที่มีพิสัยการบินที่ไกลขึ้น
แต่สำหรับโดรนขนาดใหญ่แล้วมีแต่รัฐมหาอำนาจเท่านั้นที่สามารถลงทุนได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะถือว่าคุณสมบัติที่ทำให้โดรนมีความได้เปรียบระบบอาวุธสมัยใหม่แบบอื่นๆ ก็คือ โดรนเป็นระบบอาวุธที่มีราคาต่ำ และมีขีดความสามารถในการโจมตีทางอากาศได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นระบบอาวุธที่หลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์
จนอาจเป็นเสมือน “อากาศยานล่องหน” ในอีกแบบ
และด้วยเหตุผลของราคาที่ไม่แพงมากและเทคโนโลยีหาได้ง่าย
จึงกลายเป็นปัจจัยให้ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐสามารถใช้โดรนเป็นเครื่องมือในการก่อการร้าย หรือก่ออาชญากรรมได้ด้วย
สงครามโดรน
บทบาทของโดรนกำลังเปลี่ยนแปลงสงคราม ดังจะเห็นได้จากสงครามทางอากาศระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน ซึ่งไม่ใช่สงครามทางอากาศแบบเก่าที่เป็นการต่อสู้ระหว่างเครื่องบินขับไล่โจมตีเช่นในสงครามอาหรับ-อิสราเอลอีกต่อไป หากเป็นการต่อสู้ที่กระทำผ่านโดรน
เช่น อิสราเอลส่งโดรนเข้าโจมตีกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ในเบรุต หรือโจมตีกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของเลบานอน เป็นต้น
โดรนอาจไม่สามารถบรรทุกน้ำหนักของระเบิดได้มากเท่ากับเครื่องบินรบ เช่น โดรนโจมตีของอิสราเอลสามารถบรรทุกระเบิดได้ขนาด 5 กิโลกรัม ปฏิบัติการเช่นนี้ชี้ชัดว่าภารกิจของโดรนก้าวไปสู่การเป็นอุปกรณ์ของการโจมตีทางอากาศ
แม้โดรนจะมีขนาดเล็กและยากในการตรวจจับ แต่โดรนก็ถูกยิงตกได้ไม่แตกต่างจากอากาศยาน
เช่น ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2019 โดรนแบบ MQ-9 ของสหรัฐออกปฏิบัติการในเยเมนถูกยิงด้วยอาวุธปล่อยจากพื้นสู่อากาศในบริเวณพื้นที่การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธของชาวฮูติ (จรวดต่อสู้อากาศยานนี้น่าจะได้รับความสนับสนุนจากอิหร่าน)
แต่การสูญเสียโดรนแตกต่างอย่างมากจากกรณีที่อากาศยานรบถูกยิงตก ที่หมายถึงการสูญเสียนักบิน หรือในบางกรณีนักบินอาจถูกจับ เช่นในกรณีของเครื่องบินสายลับแบบ U-2 ที่ตกในดินแดนของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น
และที่สำคัญ ราคาของโดรนที่ถูกยิงตกนั้น เทียบไม่ได้เลยกับราคาของเครื่องบินรบ
แต่ที่สำคัญ โดรนกำลังทำให้ภาระของรัฐในการสงครามเปลี่ยนไป หากโดรนถูกยิงตก รัฐก็ไม่ต้องรับภาระในทางการเมืองมาก
แม้ชิ้นส่วนของโดรนอาจจะถูกนำมาประจานทางการเมืองถึงการโจมตีที่เกิดขึ้น
แต่นักบินไม่ตายหรือไม่ถูกจับจนกลายเป็นปัญหาทางการเมือง
ที่สำคัญ ในบริบททางเศรษฐกิจก็คือ ความสูญเสียก็ไม่มีภาระทางเศรษฐกิจมากเช่นกันด้วย
เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้โดรนเป็นระบบอาวุธที่มีความคุ้มค่าอย่างมากทั้งในการใช้และการลงทุน และระบบอาวุธแบบเก่าที่ราคาแพงอาจจะมีคุณค่าในทางทหารน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคต
คุณลักษณะเช่นนี้ทำให้โดรนเข้ามาแบกรับภารกิจทางทหารเต็มตัว ไม่ใช่เป็นเพียง “นักล่าสังหารทางอากาศ” เท่านั้น หากแต่กำลังก้าวเข้ามาเป็น “ผู้โจมตีทางอากาศ” ไม่แตกต่างจากเครื่องบินรบในอดีต
รวมทั้งในอีกด้านต้องไม่ลืมว่า โดรนอาจกลายเป็น “ผู้ก่อการร้ายทางอากาศ” อีกด้วย… โลกของสงครามเปลี่ยนไปแล้ว!