‘คอแลน’ ไม้ป่ามีคุณค่า ต้านอนุมูลอิสระ คุณรู้จักไหม ?

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

คอแลน ชื่อสมุนไพรแปลกๆ ต้นนี้น่าจะไม่ใช่พืชที่คนทั่วไปสนใจนัก แต่ผู้ที่สนใจวิถีชีวิตแบบบ้านๆ และมีพื้นเพเติบโตมาจากถิ่นอีสานและล้านนา จะพบ คอแลนมากในภาคอีสานและภาคเหนือ

การเรียกชื่อว่า “คอแลน” น่าจะมาจากการตั้งชื่อตามลักษณะของผิวที่ผล ที่ดูแล้วเหมือนเกล็ดที่อยู่บนคอของตัวแลน (ตะกวด) แต่บางคนแย้งว่าเมื่อดูชื่อสามัญในภาษาอังกฤษก็ใช้คำว่า “Korlan” ออกเสียงทับศัพท์ตรงกัน

จึงอาจเป็นไปได้ว่าชื่อ คอแลน อาจมีความหมายอย่างอื่นได้

นอกจากชื่อแปลกๆ แล้ว พืชชนิดนี้ยังชวนให้แปลกใจอีกว่ามีผู้ศึกษากันน้อยมาก การรายงานอย่างเป็นทางการต่างๆ ก็ยังไม่ครอบคลุม

เช่น บอกว่าพบพืชชนิดนี้ในพม่า มาเลเซียและจังหวัดกระบี่ของประเทศไทยเท่านั้น

หรือในระบบฐานข้อมูลบางแห่งรายงานว่าพบในทางตอนใต้ของประเทศจีนด้วย

แต่เมื่อค้นจากฐานข้อมูลของกัมพูชา (http://www.cambo-zone.org/nephelium-hypoleucum) ก็รายงานว่าพบได้ในพื้นที่ป่าของกัมพูชาเช่นกัน และก็มีรายงานการกระจายในประเทศภูฏานด้วย (A.C.J Grierson & D.G Long. Flora of Bhutan. Published by RBGE. 1991)

การจัดกลุ่มจำแนกพืชก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันด้วย กล่าวคือ มีการจัดว่า คอแลน เป็นผลไม้อยู่ในวงศ์เดียวกับลิ้นจี่ ลำไย เงาะ คืออยู่ในวงศ์ SAPINDACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nephelium hypoleucum Kurz ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในฐานข้อมูลในระดับสากลของ The Plant List (http://www.theplantlist.org/tpl/record/kew-2382809) แต่เป็นที่ยอมรับในฐานข้อมูลขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ของไทย (http://www.gbif.org/)

แม้ว่ายังหาข้อยุติในด้านการจำแนกพืชไม่ได้แน่ชัด ก็ไม่ได้ลดทอนคุณประโยชน์ของคอแลนลงได้เลย

มารู้จักคอแลนกัน

มีชื่อท้องถิ่นต่างๆ ว่า กะเบน คอรั้ง สังเครียดขอน (ภาคใต้) ขาวลาง มะแงว หมากแงว หมักแงว หมักงาน (ภาคอีสาน) คอแลน (ภาคกลาง ภาคเหนือ) คอแลนตัวผู้ ลิ้นจี่ป่า (ตะวันออกเฉียงใต้) มะแงะ หมักแงว (ภาคกลาง ภาคตะวันออก) เป็นต้น

เราสามารถพบคอแลนในเมียนมา ไทย กัมพูชา

คอแลนเป็นไม้ต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-20 เมตร ลำต้นเปลา โคนต้นอาจมีพูพอนบ้าง เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างทึบ

ใบ เป็นช่อ ใบย่อยรูปขอบขนาน แกมรูปไข่กลับ ติดตรงข้าม 1-3 คู่

ดอก ขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว ออกรวมกันเป็นช่อโตๆ ตามปลายกิ่ง ทุกส่วนของช่อมีขนสีเทาทั่วไป กลีบดอกมี 6 กลีบหรือไม่มี ผลมีรูปรีหรือค่อนข้างกลม ผิวขรุขระเป็นปมเล็กๆ กระจายทั่วไป ผลอ่อนสีเขียว พอแก่จัดออกสีแดงเข้มแต่ละผลมีเมล็ดเดียว มีเนื้อเยื่อใสๆ และน้ำหุ้มเมล็ด

ผลสุกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

คอแลนเป็นพรรณไม้ป่าดงดิบ และพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่ชื้นๆ ได้บ้าง เช่น ตามที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นพืชที่ขึ้นได้ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร พบเห็นได้ทุกภาคของประเทศไทย

ซึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นเรียนรู้ว่าเนื้อไม้ต้นคอแลนมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง เนื้อละเอียด มีความเหนียวและแข็ง จึงนำมาทำเครื่องใช้ทางการเกษตร เช่น คันไถ และด้ามจับเครื่องใช้ต่างๆ ได้ดีมาก

สำหรับผลแก่ ก็นำมากิน มีรสเปรี้ยวอมหวาน

ถ้าดูเปลือกผลภายนอกมีลักษณะคล้ายกับลิ้นจี่ แต่เนื้อข้างในคล้ายเงาะมีรสเปรี้ยว อร่อยจี๊ดจ๊าดดี ต้องกินแบบน้ำปลาหวาน หรือจิ้มเกลือกิน ไม่ควรกินเมล็ด

คอแลน ถือเป็นไม้พื้นบ้าน ที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งการกินเป็นผลไม้และใช้เป็นยาสมุนไพร ผลของคอแลนมีรสเปรี้ยวอมหวาน จึงช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้ไอ และใช้เป็นยาระบายท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร มีการกล่าวถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันและรักษาไข้หวัด และช่วยลดความเครียด เป็นผลไม้หรืออาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ กินแล้วสดชื่นเพิ่มพลังงาน มีข้อมูลที่ยังไม่มีการรับรองแน่ชัด เป็นเพียงประสบการณ์ว่าการกินคอแลนมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงมีการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ในตำรายาพื้นบ้านอีสาน มีการนำเอาแก่นมาฝนกับน้ำ โดยผสมสมุนไพรอื่นๆ หลายชนิด กินแก้ไข้หมักไม้ (อาการไข้ชนิดหนึ่ง) ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดใหญ่

ในตำรายาไทยกล่าวไว้ว่า คอแลน เป็นสมุนไพรที่มีเนื้อไม้รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาห้ามเลือด ผลใช้เป็นยาช่วยการกระจายเลือด เปลือกใช้เป็นยาบำรุงเลือด

ตำรับยาโบราณของอีสานตำรับหนึ่ง กล่าวไว้ว่า ให้เอา ฮากฮังหนาม (รากเต็งหนาม; Brideliaretusa (L.) A. Juss.) ท่มโคก (กระทุ่มโคก; Mitragyna hirsute Havil.) ลุมพุกแดง (มะคังแดง; Dioecrescisery throclada (Kurz) Tirveng.) ลุมพุกขาว (ตะลุมพุก; Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. &Sastre) แก่นหมากคำ (ยังจำแนกไม่ได้) ไม้หมากแงว (คอแลน; Nephelium hypoleucum Kurz) ต้มกินดี คายตำลึง 1 แพวาหนึ่ง เหล้า ก้อง ไข่ หน่วยแล (มีค่าบูชาครู 1 ตำลึง ผ้า 1 ผืน เหล้า 1 กระปุก ไข่ 1 ใบ)

ดอกจากไม้คอแลน ยังใช้เลี้ยงผึ้งได้ให้น้ำผึ้งแบบธรรมชาติที่ดี ปัจจุบันไม้พื้นเมืองชนิดนี้มีจำนวนประชากรน้อยลง แต่เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ มิตรสหายที่ทำงานส่งเสริมป่าสมุนไพรในชุมชน เช่น เครือข่ายอินแปงในจังหวัดสกลนคร ได้พัฒนาน้ำผลไม้เข้มข้นจากผลคอแลนได้รสชาติอร่อย เคยนำมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ขายดีทีเดียว

ทุกวันนี้ เราควรมาช่วยกันส่งเสริมการปลูกคอแลน เพื่อเป็นการช่วยฟื้นฟูป่าชุมชน นอกจากได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มแล้ว คอแลนยังมีประโยชน์และพัฒนาได้หลายรูปแบบจริงๆ