นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : เคล็ดลับความสำเร็จของจิ้งจอกสยาม (ตอน1)

AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

จากทีมท้ายตารางในลีกอันดับสามของอังกฤษ เคยติดหนี้หลายสิบล้านปอนด์ Leicester City กลายเป็นแชมป์ Premier League ได้อย่างไร

อะไรทำให้ทีมเล็กๆ ที่หลายปีก่อนยังหนีตกชั้นอยู่ใน League One (ลีกอันดับสามของอังกฤษ) และแทบไม่เคยมีเกียรติประวัติใดๆ เกี่ยวกับแชมป์ลีก ก้าวขึ้นมาเป็นทีมที่ดีที่สุดในอังกฤษ แซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่าง Chelsea หรือ Manchester City

ถ้าดูจากประวัติและศักยภาพของทีมแล้ว มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ ปีที่แล้วพวกเขาเพิ่งได้เลื่อนชั้นขึ้นมา และหนีตายจบด้วยอันดับ 14 อยู่แท้ๆ!

วิเคราะห์ในมุมของเกมฟุตบอล หลายคนพุ่งเป้าไปที่การคุมทีมของผู้จัดการทีมชาวอิตาเลียนอย่าง Claudio Ranieri ที่กลับมาใช้รูปแบบการเล่นดั้งเดิม 4-4-2 หรือการปล่อยให้นักเตะมีเวลาพักผ่อนถึง 2 วันต่อสัปดาห์

ฟอร์มอันสุดยอดของ Riyad Mahrez นักเตะยอดเยี่ยมของ PFA ปีล่าสุด

การถล่มประตูที่ทุบสถิติมากมายของกองหน้าชาวอังกฤษ Jamie Vardy

หรือการแจ้งเกิดระดับโลกของกองกลางโนเนมอย่าง N”Golo Kant?

รวมไปถึงโชคชะตาที่นักเตะตัวหลักแทบไม่บาดเจ็บกันเลยตลอดปี

แต่นอกเหนือจากฟุตบอลลูกกลมๆ แล้ว สำนักข่าว Daily Mail เคยวิเคราะห์ว่า “King Power” นี่แหละที่ควรได้รับเครดิตเต็มๆ

และผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

Leicester City's Italian manager Claudio Ranieri (C) stands with the Premier league trophy as the Leicester City team take part in an open-top bus parade through Leicester to celebrate winning the Premier League title on May 16, 2016. / AFP PHOTO / GLYN KIRK
AFP PHOTO / GLYN KIRK

ถ้าใครที่เป็นคอบอลเหมือนผม คงจำกันได้ว่า ทีมที่มีอายุกว่า 130 ปีนี้เคยทำผลงานได้ดีมากในยุค “90-00s โดยมีกุนซือฝีมือดี Martin O”Neill ทำทีมขึ้นชั้นสู่พรีเมียร์ ลีก ได้ แถมยังคว้าแชมป์ลีกคัพมาครองถึง 2 สมัย (ค.ศ.1997 และ 2000) จนได้ไปเตะฟุตบอลรายการของยุโรปอย่างยูฟ่าคัพ

แต่หลังจากที่โอนีลลาออกไป ผลงานของจิ้งจอกสีน้ำเงินก็ตกต่ำลง ถึงขึ้นที่ตกไปอยู่ในลีกวันในปี ค.ศ.2008

จุดเปลี่ยนสำคัญของสโมสรเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2010 เมื่อ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” จากประเทศไทย หอบเงินหลายสิบล้านปอนด์ (BBC รายงานว่ามูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ราว 40 ล้านปอนด์) ซื้อทีม แล้วขึ้นแท่นเป็นประธานสโมสร ต่อจาก Milan Mandari? เจ้าของทีมคนเก่า

พร้อมกับแต่งตั้ง อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ลูกชายคนเล็กของครอบครัว เป็นรองประธานสโมสรที่มีอายุน้อยสุดในขณะนั้นด้วยวัย 25 ปี

โดยก่อนหน้านี้วิชัยแห่งคิง เพาเวอร์ เคยเจรจากับสโมสร Reading แต่ก็ไม่เป็นผล นอกจากนี้ เขายังเคยสนับสนุนเสื้อนักเตะของเลสเตอร์ ซิตี้ อยู่แล้วด้วย

หลังจากควบคุมกิจการเต็มตัว ผลงานของเลสเตอร์ ซิตี้ ก็ดีขึ้นอย่างเป็นลำดับ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับสโมสร ทั้งการปรับโครงสร้างทีม เปลี่ยนระบบการทำงาน จ้างโค้ชคนใหม่ พร้อมอัดฉีดเงินร้อยล้านปอนด์ เพื่อพาทีมไล่ล่าความสำเร็จ

ผลงานชิ้นโบแดงของทีมคือการคว้าแชมป์เดอะแชมเปี้ยนชิพอังกฤษปี 2013/2014 พร้อมกับขึ้นสู่ลีกสูงสุดของประเทศได้ในรอบ 10 ปี ก่อนที่พวกเขาจะมาสร้างเทพนิยายแห่งความฝันคว้าแชมป์พรีเมียร์ ลีก ได้ในฤดูกาลนี้

นับจากวันที่ คิง เพาเวอร์ เข้าเทกโอเวอร์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2010 ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาใช้เวลาเพียง 6 ปีในการสร้างปาฏิหาริย์ และทำให้ชื่อของคนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลก

ฟุตบอลลูกกลมๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ก็จริง แต่ผมเชื่อว่าความสำเร็จของ “จิ้งจอกสยาม” นั้นไม่ได้มาจากแค่โชคชะตา เงินทอง ฟอร์มการเล่นเพียงอย่างเดียว (และเอ่อ…ไม่เกี่ยวกับพระพรหมมังคลาจารย์ หรือ “เจ้าคุณธงชัย” แห่งวัดไตรมิตรฯ กทม. ที่ไปที่สนามคิง เพาเวอร์ บ่อยครั้งด้วย)

ทว่า สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือ มันสมองของผู้นำ

พูดง่ายๆ ก็คือ การบริหารจัดการที่ดีและฉลาดนั่นเอง

และนี่คือบทเรียนที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ซิตี้ สอนพวกเราทุกคน

000_AB6N5

1.ความรักต้องมาเป็นที่หนึ่ง

เมื่อเห็นถ้วยแชมป์ในวันนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าความสำเร็จของเลสเตอร์ ซิตี้ เสกขึ้นได้ในพริบตา ทว่า ความเป็นจริงแล้วพวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย

อันดับแรกคือ แรงต้านจากผู้บริหารและพนักงานเดิมที่ทำงานมาราว 20 กว่าปี โดยอัยยวัฒน์ รองประธานสโมสรให้สัมภาษณ์กับ Forbes Thailand ว่า

“ช่วงแรกๆ ลองของผมกันเต็มเลยครับ ไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตาม” นอกจากนี้ ยังมีแรงต้านจากแฟนบอล ที่คิดว่าเขาจะมากอบโกยผลประโยชน์อย่างเดียว รวมทั้งคำสบประมาทว่าทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีแล้วทำทีมฟุตบอลเป็นหรือ

อัยยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร a day ว่า “เขาต่อต้านเพราะเขากลัว เขามองว่านี่คือสโมสรเขา เขาซื้อมาตั้งแต่รุ่นปู่ แล้วคุณเป็นใครมาเอาความเป็นเจ้าของของเขาไป”

อันดับสองคือ เรื่องเงิน เว็บไซต์ Ftw.usatoday.com รายงานว่าตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่ คิง เพาเวอร์ เข้ามา สโมสรมีหนี้สินอยู่ถึง 96 ล้านปอนด์ และหลังจากนั้นก็ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องราว 27 ล้านปอนด์ต่อปี เพิ่งจะมาทำกำไรได้ในปีที่ขึ้นชั้นพรีเมียร์ ลีก เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้จากพรีเมียร์ ลีก 71.6 ล้านปอนด์

อันดับสามคือ แรงกดดันอย่างหนัก อัยยวัฒน์เล่าว่า หลังจากลงเงินไปกว่า 70-80 ล้านปอนด์ ทีมก็ยังไม่ขยับจากตารางแชมเปี้ยนชิพได้เลย โดยเฉพาะฤดูกาล 2012-2013 ที่ตกรอบเพลย์ออฟ เขาถึงกับเผยความในใจว่า

“ความฝันพังทลาย”

แต่กระนั้นสิ่งที่ยังคงเป็นพลังและแรงผลักดันให้กับพวกเขาก็คือ “ความรัก” ที่มีต่อฟุตบอล โดยเฉพาะอัยยวัฒน์ที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก ถึงขั้นเคยติดทีมนักฟุตบอลโรงเรียนเซนต์คาเบรียลมาแล้ว และยังดูบอลพรีเมียร์ ลีก ตั้งแต่อายุ 7 ปี

“หลายคนอาจมองว่าความสำเร็จของทีมฟุตบอลขึ้นอยู่กับผู้จัดการทีมเป็นสำคัญ แต่ผมคิดว่าน่าจะอยู่ที่เจ้าของทีมมากกว่า ว่าเข้าใจกีฬาฟุตบอลได้มากแค่ไหน” เขาให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ

“ผมยังจำได้ว่าเลยนักข่าวฝรั่งถามผมว่า คุณจะเข้ามาโกยเงินจากสโมสรใช่ไหม” เขาย้อนความหลังกับนิตยสาร a day

“ผมตอบไปว่า ผมทำทีมโปโล จ่ายให้ปีละ 15 ล้านปอนด์ 10 ปี ไม่เคยได้รีเทิร์นเลยแม้แต่บาทเดียว คุณว่ากีฬากับผมเป็นยังไง ถ้าผมรักจริง ผมทำเต็มที่ แล้วเขาก็ไปเช็ก ซึ่งมันก็เป็นจริงตามนั้น แล้วนี่เป็นกีฬาฟุตบอลที่เรารัก เราก็บอกไปว่า มันรีเทิร์นกับแฟนบอลมากกว่า ถ้าจะได้ก็ได้พร้อมกัน นั่นคือการได้ขึ้นชั้นพรีเมียร์ ลีก”

จริงอยู่ ที่ คิง เพาเวอร์ อาจจะลงทุนกับสโมสรฟุตบอลด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรืออยากสร้างการรับรู้แบรนด์ในระดับโลก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากพวกเขาไม่มีความเข้าใจ ความหลงใหล และความรักในฟุตบอลจริงๆ แล้วล่ะก็

เลสเตอร์ ซิตี้ คงไม่มีทางเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างแน่นอน

The King Power Stadium, home to Leicester City football club, is seen in Leicester, central England, on May 3, 2016, after the team won the English Premier League on Monday May 2. Thousands celebrated and millions around the world watched in wonder as 5,000-1 underdogs Leicester City completed arguably the greatest fairytale in sporting history by becoming English Premier League champions yesterday. Second-placed Tottenham Hotspur's 2-2 draw at Chelsea late on Monday was enough for last year's relegation battlers Leicester to seal a scarcely credible title after outshining some of football's most glamorous teams. / AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS
AFP PHOTO / JUSTIN TALLIS

2.ลงทุนกับสิ่งที่เป็นพื้นฐานและระบบ

อย่างที่บอกไปว่าการบริหารของ คิง เพาเวอร์ ในช่วงแรกเจอกับแรงต้านอยู่มาก ทำให้อัยยวัฒน์ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เน้นทำความเข้าใจเป็นหลัก

แต่เมื่อผลงานปีแรกไม่สู้ดีนัก เขาก็ตัดสินใจผ่าตัดทีมครั้งใหญ่ ลงทุนกว่า 100 ล้านปอนด์ โดยสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือ โครงสร้าง และระบบ

เขาเผยความรู้สึกกับ a day ว่า

“ผมซ้อมบอลแล้วรู้ว่าอะไรที่สำคัญ สนามต้องดี อุปกรณ์ต้องดี เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาต้องดี ตอนเข้าไปเห็นว่าลูกฟุตบอลตกบนสนามอินดอร์แทบไม่เด้ง เราบอกว่าไม่ใช่แล้วมั้ง มันส่งผลถึงนักกีฬา ที่จริงผมควรจะต้องเอาเงินบางส่วนไปซื้อนักกีฬา แต่ผมตัดเงินไปทำสนาม คุณพ่อบอกว่าบ้าหรือเปล่า สตาฟฟ์ทุกคนบอกว่าคุณผิดนะ ผมบอกว่าไม่ผิดหรอก ปีแรกมันอาจจะยังไม่เห็นผล แต่เชื่อสิว่าเดี๋ยวจะดี”

เขายกเครื่องเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์ ระบบแมวมอง การวางแผนซื้อนักเตะ อุปกรณ์ สนามการแข่งขัน วิทยาศาสตร์การกีฬา ไปจนถึงเปลี่ยนซีอีโอ การจ้างงานโค้ช และนำประสบการณ์ด้านธุรกิจค้าปลีกมาพลิกโฉมร้านขายของที่ระลึกให้ทันสมัย

“ระบบทำให้การทำงานง่าย ออกมาเป็นตัวเลข คนนี้เล่นดี สถิติจะออกมาชัดเจน ผมลงวิทยาศาสตร์การกีฬาเยอะเพื่อป้องกันนักเตะเจ็บและมีความฟิตสมบูรณ์ ผมเป็นนักกีฬาเก่าจึงรู้ว่าความฟิตสำคัญกับฟุตบอล ระบบเหล่านี้สมบูรณ์พร้อมในช่วงที่ทีมขึ้นชั้นพรีเมียร์ ลีก พอดี”

เรียกได้ว่าตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา 130 ปี นี่คือการลงทุนระบบและโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุด

AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS / RESTRICTED TO EDITORIAL USE. No use with unauthorized audio, video, data, fixture lists, club/league logos or 'live' services. Online in-match use limited to 75 images, no video emulation. No use in betting, games or single club/league/player publications.  /
AFP PHOTO / ADRIAN DENNIS