สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ฟังครูเล่าไม่เท่าเห็นของจริง (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การออกตัวของโครงการพัฒนาเครือข่ายครูนักสร้างแรงบันดาลใจในสถาบันฝึกหัดครู โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นแกนหลักหรือเจ้าของโครงการ มอบหมายให้สถาบันรามจิตติ เป็นหน่วยวิชาการและฝ่ายประสานงาน เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561

กระบวนการที่ทำก็คือ เอาคนสามกลุ่มหลัก คือ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครูคุณากร ครูยิ่งคุณ ครูขวัญศิษย์ที่ยังปฏิบัติงานอยู่ในโรงเรียนหรือที่เกษียณราชการแล้วก็ตาม อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาครูมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้จากสนามจริงแก่นักศึกษาครูที่จะจบออกไปเป็นครูในอนาคต ผลยังทำให้เครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและเครือข่ายอาจารย์มหาวิทยาลัย กว้างขวางออกไป

การดำเนินโครงการเกิดขึ้นระหว่างที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูจาก 5 ปี เป็น 4 ปี ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ยังไม่ได้ข้อยุติ

กระทั่งมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เรื่องมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี พ.ศ.2562 ออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เกี่ยวกับการส่งนักศึกษาครูออกฝึกสอนตามโรงเรียนต่างๆ หรือภาษาทางการศึกษาเขียนเสียสวยหรู ว่าการฝึกประสบการณ์วิชาชีพนั่นแหละ

ประกาศข้อ 6 ระบุไว้ชัด สถาบันอุดมศึกษาควรให้นิสิต-นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกประสบการณ์วิชาชีพเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ระยะแรกๆ ที่เข้ามาศึกษา เพื่อให้รู้จักวิชาชีพและสร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู และเพิ่มระดับความเข้มข้นของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้มากขึ้นตามลำดับจนถึงปีสุดท้าย ควรจัดประสบการณ์ฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่ครูในสถานศึกษาตลอดภาคการศึกษา ไม่เฉพาะแต่ประสบการณ์ด้านการสอนเท่านั้น

ทั้งนี้ สถาบันควรมีความร่วมมือกับสถานศึกษาที่เป็นหน่วยปฏิบัติการสอน ทำแผนการปฏิบัติการสอนของนิสิต-นักศึกษาเพื่อที่บัณฑิตครูจะสามารถทำหน้าที่ครูได้ทันที เมื่อเข้าไปประกอบวิชาชีพครู

การดำเนินโครงการครูผู้สร้างแรงบันดาลใจจึงสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามประกาศที่ว่า ผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกระดับอย่างที่ว่าไปแล้วเมื่อตอนที่แล้ว

 

อีกระดับหนึ่งคือระดับการนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทำให้เกิดข้อเสนอแนวทางการผลิตครูทั้งระบบในอนาคต โดยเฉพาะการวางกลไกการพัฒนาระบบผลิตครูรุ่นใหม่ การพัฒนาการเรียนการสอน ขยายผลไปสู่นักศึกษาชั้นปีต่างๆ พัฒนาคณาจารย์โดยเชื่อมโยงเครือข่ายครูเข้าเป็นพลัง รวมถึงยุทธศาสตร์การเป็น HUB ของการผลิตและพัฒาครูในพื้นที่

ให้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มาบรรยาย มาร่วมเวทีประชุม สัมมนา ถ่ายทอดประสบการณ์ ไม่แต่เฉพาะให้กับนักศึกษาคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์เท่านั้น แต่รวมไปถึงคณะสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เทคโนโลยีอุตสาหกรรม

นักศึกษาได้ไปติดตามสังเกตการณ์ เรียนรู้การทำงาน การปฏิบัติตน กับเครือข่ายครูถึงโรงเรียน โดยมีอาจารย์ในคณะเป็นพี่เลี้ยงร่วมเรียนรู้ด้วย

แต่ละสถาบันผลิตครูที่ร่วมโครงการทั้งสามแห่ง แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ชัดเจน มีอธิการบดีเป็นที่ปรึกษา

มหาวิทยาลัยยะลาผลิตครู 12 สาขาใน 3 คณะ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มี ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นหัวหน้าคณะทำงานโครงการ

ระดับรองลงไปมีแกนนำขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ระหว่างประธานสาขาและอาจารย์ กับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีครูอรพินท์ แสนรักษ์ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 52 ชุมชนบ้านต้นไพ จ.ปัตตานี ครูยิ่งคุณปี 2558 และครูศิริพร ทองจำรุญ โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อ.เมือง จ.ยะลา ครูขวัญศิษย์ 2560 เป็นหลัก

ระดับปฏิบัติการมีคณะทำงาน อาจารย์สมัครใจจากสาขาวิชาต่างๆ อาทิ ภาษาไทย ภาษามาลายู สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ ร่วมกันคิดรูปแบบการเรียนรู้ กิจกรรมสร้างทักษะความเป็นครูยุคใหม่และบ่มเพาะจิตสำนึกความเป็นครู

เช่น จัดเวทีเสวนาเปิดตัวครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ มี ร.ต.อ.สุวิทย์ ช่วยเทวฤทธิ์ ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตืองอ ช่างกลปทุมวันอนุสรณ์ 13 จังหวัดนราธิวาส ครูยิ่งคุณปี 2558 ครูกาญจนา ทองเดิม กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนบ้านนาประดู่ จ.ปัตตานี ครูขวัญศิษย์ปี 2558 นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าร่วมกว่า 300 คน

 

กิจกรรมพัฒนาห้องเรียนสร้างแรงบันดาลใจ นักศึกษาแบ่งกลุ่มลงไปเรียนรู้กับครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทั้งวัน ครูอรพินท์ แสนรักษ์ ครูกาญจนา ทองเดิม ครูธีรวัฒน์ ทองเสนอ ครูภาษาต่างประเทศ โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ อ.นาทวี จ.สงขลา ครูขวัญศิษย์ 2560 ครูอภินันท์ พฤกษะศรี ครูดนตรีไทยโรงเรียนมหาวชิราวุธ อ.เมือง จ.สงขลา ครูขวัญศิษย์ 2558 ครูสุทีป ช่วยเหลือ ครูภาษาต่างประเทศ โรงเรียนบ้านหนองนายซุ้ย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ครูขวัญศิษย์ 2558

ติดตามด้วยกิจกรรมล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เปิดเวทีสะท้อนคิด ถอดความรู้ของนักศึกษา และเสวนาถอดบทเรียนโดยนักศึกษา อาจารย์และครูนักสร้างแรงบันดาลใจ มีครูชาตรี สำราญ ครูรางวัลคุณากร รุ่นที่ 1 ปี 2558 ครูผู้สร้างการเรียนรู้ ผู้อุทิศทั้งชีวิตเป็นครูทุกลมหายใจ และครูสุเทพ เท่งประกิจ โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนล่าสุด รุ่นที่ 3 เข้าร่วมด้วย

ผมตาม ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิ ดร.จักรพรรดิ วะทา อดีตเลขาธิการคุรุสภา ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้จัดการมูลนิธิ ไปดูผลงานของเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ให้บริการหลังการขายด้วยความตื่นเต้น หวาดเสียวเล็กน้อย

จากหาดใหญ่ไปยะลาผ่านสี่แยกใหญ่บังเกอร์ทหารตั้งวางกำลังอยู่ หน่วยลาดตระเวนเดินตรวจรถแล่นผ่านไปมา รถแล่นต่อไปถึงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มอเตอร์ไซค์จอดเรียงแถวยาวเหยียดชิดเกาะกลางถนนสองฝั่ง แทนที่จะให้จอดหน้าฟุตปาธริมรั้วมหาวิทยาลัย เหตุเพราะจอดริมรั้วสะดวกแก่การลอบวางสิ่งของต้องสงสัย แต่หากจอดชิดเกาะกลางถนน พื้นที่โล่ง ใครไปทำอะไรลับๆ ล่อๆ คนมองเห็นง่าย จึงป้องกันได้ดีกว่า

ลงจากรถพอพบหน้า ครูชาตรี สำราญ มารอประธานและกรรมการมูลนิธิอย่างอบอุ่น คุ้นเคย เป็นกันเอง ใจเลยชุ่มชื้นขึ้น ก่อนเดินตามไปเข้าห้องประชุม ฟังนักศึกษาเล่าเรื่องด้วยความประทับใจ