วิรัตน์ แสงทองคำ : อยุธยา ยุคใหม่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไม่น่าเชื่อว่า อยุธยา เมืองหลวงเก่า จังหวัดเล็กๆ ของประเทศไทย จะมีเรื่องราวน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ

เรื่องราวมิใช่ใหญ่โต แต่มีนัยยะ กรณีบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา (มหาชน) หรือซีพีเอ็น (CPN) กิจการสำคัญในกลุ่มเซ็นทรัล เพิ่งประกาศ (16 ตุลาคม 2562) แผนการลงทุนกว่า 22,000 ล้านบาท ดูจะเน้นเป็นพิเศษที่ว่า “ยึดหัวหาดเมืองเศรษฐกิจใหม่ ด้วยมิกซ์ยูสรูปแบบใหม่กลางใจเมือง”

และเปิดฉากขึ้นที่อยุธยาอย่างตั้งใจ ในฐานะโครงการลงทุนที่ใช้เงินมากที่สุดในการประกาศแผนการคราวนี้

พระนครศรีอยุธยา มักเรียกอย่างย่อ “อยุธยา” เป็นจังหวัดขนาดเล็ก มีพื้นที่ราว 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร (อันดับที่ 63 ของประเทศ) มีประชากรกว่า 8 แสนคน (ปี 2561) หรืออันดับ 29 ของประเทศ

ที่สำคัญ เคยเป็นเมืองหลวงเก่ายาวนานถึง 4 ศตวรรษ (พ.ศ.1893-2310 หรือ ค.ศ.1350-1767) หากเปรียบกับเมืองหลวงเก่าสำคัญ กรณี Kyoto แห่งญี่ปุ่น อย่างที่บางคนในถ้อยแถลงข้างต้นอ้างถึง

ถือได้ว่าอยุธยาเป็นส่วนหนึ่งของยุค Kyoto (ค.ศ.791-1868) เมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนานถึง 11 ศตวรรษ

 

โครงการเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ที่ว่า จะตั้งอยู่บริเวณทางแยกถนนหลักของประเทศ-ถนนสายเอเชีย (AH1) กับถนนจังหวัด-ถนนอโยธยา (หมายเลข 2053) ช่างบังเอิญ อยู่ห่างจากหมู่บ้านญี่ปุ่นทางทิศตะวันตกไม่ถึง 5 กิโลเมตร

หมู่บ้านญี่ปุ่น สะท้อนเรื่องราวชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออก ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางตอนใต้ของเกาะเมืองเก่า อยู่ในอาณาบริเวณชุมชนชาวต่างชาติ ทั้งโปรตุเกส อังกฤษ และฮอลันดา ซึ่งคงร่องรอยประวัติศาสตร์ไว้

โดยพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในราวสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ. 2112-2133) ถือว่าอยู่ในยุคสมัย Kyoto

ที่น่าสนใจ ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับญี่ปุ่นอย่างมาก โดยเฉพาะในบทบาทนำ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมญี่ปุ่น เข้ามาในสังคมไทย ผ่านสินค้า โดยเฉพาะเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่น หลายต่อหลายแบรนด์ เช่น OOTOYA KATSUYA CHABUTON YOSHINOYA ไปจนถึงสินค้าแฟชั่นอย่าง MUJI

เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลย่อมมองเห็นอยุธยากับพัฒนาการชั้นใหม่ เปิดฉากขึ้นเมื่อ 2-3 ทศวรรษมานี้ ด้วยแรงกระตุ้นสำคัญมาจากญี่ปุ่น

 

พัฒนาการอยุธยาที่ว่านั้น เป็นฐานและจุดเชื่อมต่อสำคัญจากเมืองหลวงเก่าที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะเวียน ท่ามกลางวิถีเกษตรกรรมซึ่งคงอยู่ สู่การเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม ศูนย์รวมแรงงานฝีมือแหล่งใหญ่ ฐานผู้บริโภคกลุ่มสำคัญ กำลังเคลื่อนสู่วิถีผู้บริโภคสมัยใหม่

ภาพการเปลี่ยนแปลงชุมชนเกษตรกรรมไทย รากฐานสังคมนอกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะชุมชนภาคกลาง ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา “อู่ข้าวอู่น้ำ” ตั้งแต่ประวัติศาสตร์เกษตรกรรมพึ่งตนเอง จนถึงยุครุ่งเรือง-ข้าว กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ในช่วงสงครามเวียดนาม ภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไปอีก

ด้านหนึ่ง-การเคลื่อนย้ายแรงงานจากชุมชนเกษตรกรรมมาสู่เมืองหลวง เข้าสู่ภาคการผลิตพื้นฐาน และภาคบริการ

อีกด้านหนึ่ง-การขยายเครือข่ายธุรกิจจากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด

การเปลี่ยนแปลงชุมชนเกษตรที่ราบลุ่มเจ้าพระยา มาถึงอีกขั้น ดูจะเป็นไปอย่างเงียบๆ ในช่วงแรกๆ ค่อยๆ เชื่อมโยงโดยตรงกับการผลิตพื้นฐานในเชิงอุตสาหกรรมระดับโลก ภาพใหม่กลับปรากฏอย่างครึกโครมในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ภาพรถยนต์ญี่ปุ่นจมน้ำหลายร้อยคันในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเป็นเรื่องราวครั้งแรก อุทกภัยคุกคามรุนแรงทั้งชุมชนเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรมในเวลาเดียวกัน หากภาพความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของระบบที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ณ ที่ราบลุ่มเจ้าพระยากับนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งเผชิญปัญหาน้ำท่วมอย่างถ้วนหน้าเวลานั้น มีภาพเชิงขยายถึง “โรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของธุรกิจญี่ปุ่นมีจำนวน 300 กว่าโรง” อ้างจากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นตามรายงานข่าวสำนักงานข่าวเอพี

ที่น่าสนใจคือ เขตนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) อยู่ทางทิศตะวันออกของที่ตั้งโครงการเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ห่างกันตามถนนโรจนะราวๆ 5 กิโลเมตร เขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอยุธยา มีพื้นที่ 15,000 ไร่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2531 บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะเองเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2538 มีผลประกอบการที่ดี กับแผนการขยายธุรกิจดำเนินไป

ที่สำคัญเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดย NIPPON STEEL & SUMIKIN BUSSAN CORPORATION แห่งญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ที่มีบทบาทสำคัญ “WNIPPON STEEL & SUMIKIN BUSSAN CORPORATION หรือสึมิกิน เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท …โดยเป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายที่ดินรายใหญ่ของบริษัท ซึ่งมีสัดส่วนการขายผ่านสึมิกินปีละประมาณ 70-80 ของการขายที่ดิน…” (อ้างจากรายงานประจำปี 2561 บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน))

และเป็นที่รู้กันว่าเป็นที่ตั้งโรงงานจากบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รวมทั้งกลุ่มมินิแบ (MINIBEA) ผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แห่งญี่ปุ่น ในฐานะได้บุกเบิกความสัมพันธ์กับอยุธยาตั้งแต่ปี 2525

ขณะนี้มินิแบมีโรงงานในอยุธยาหลายแห่ง ทั้งในที่ของตนเองและในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ

 

ช่วงเวลาเดียวกันความสัมพันธ์อยุธยากับญี่ปุ่นมีติอื่นๆ ด้วย เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาขึ้น “นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯ นี้มีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศคือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคม วัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (RESEARCH BASED RECONSTRUCTION)” ตั้งอยู่ในเกาะเมือง ห่างจากโครงการเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ไม่ถึง 10 กิโลเมตร

โครงการเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา เป็นไปตามแนวคิดและโมเดลธุรกิจ ภาพใหญ่กลุ่มเซ็นทรัลพยายามเชื่อมโยงกับสังคมมากขึ้น “Mixed-use development (ตามแผนมีทั้งศูนย์การค้า, โรงแรม, ที่พักอาศัย และศูนย์ประชุม) เพื่อส่งเสริมการ “สร้างงาน สร้างเมือง สร้างประเทศ เป็น Center of Life ของทุกจังหวัด” ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่พัฒนาไปและลงลึกกับความต้องการของคนและชุมชน”… ดึงจุดเด่นของพื้นที่มาสร้างเป็นแม่เหล็ก ช่วยยกระดับบทบาท ทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว”

เฉพาะเซ็นทรัลพลาซา อยุธยา มีความพยายามขยายความเชื่อมโยงกับเมืองอยุธยา ในฐานะเป็นพื้นที่และทำเลสำคัญ วาดภาพไว้ว่าเป็น “ศูนย์กลาง” ภาคกลางตอนบน “ครอบคลุมจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี ประชากรเกือบ 2,500,000 คน” ทั้งเข้าใจภาพความเป็นไปดังที่กล่าวข้างต้น โดยย้ำว่า “ยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญที่ต่อขยายจากกรุงเทพฯ”

อีกประเด็นหนึ่งในฐานะเมืองหลวงเก่า เมืองมรดกโลก โครงการเซ็นทรัลพลาซา อยุธยาจะให้ความสำคัญเบื้องแรกเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม “ด้วยการออกแบบที่เชิดชูเอกลักษณ์เมืองอยุธยาในอดีต ผ่านงานออกแบบร่วมสมัย” ให้สอดคล้องกับมุมมองเชิงธุรกิจซึ่งดูจะเจาะจงตั้งใจสื่อสารกับนักลงทุนและธนาคาร ให้เป็นไปตามแผน เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา

“เป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเมืองอยุธยาที่นักท่องเที่ยวทั้งไทย-เทศต้องมา check in เป็นที่แรกเมื่อมาถึง”

 

เป็นที่มาของแผนการธุรกิจ เน้นว่าเป็น “จุดขายของโครงการ” กับสิ่งที่เรียกว่า “นิทรรศน์พระนครฯ” ซึ่งให้อรรถาธิบายอย่างสั้นๆ “ย้อนกาลเก่า เล่าเรื่องเมืองอยุธยา ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลรูปแบบใหม่” ซึ่งมิได้ขยายความความสำคัญว่าด้วย “เนื้อหา” การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ทั้งในมิติ เชื่อมโยง เทียบเคียงหรือแตกต่าง โดยเฉพาะกับศูนย์การศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาที่กล่าวถึงข้างต้น หรือไม่ อย่างไร

และอีกจุดขายซึ่งดูจะเป็นทิศทางใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ไม่ว่าโครงการของกลุ่มเซ็นทรัล อย่าง Central Village หรือโครงการใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไอคอนสยาม

สิ่งที่เรียกว่า “ทรรศนาอโยธยา” ซึ่งขยายความไว้ค่อนข้างชัดเจน “ท่องไปในวิถี กรุงศรีอยุธยา สัมผัสวิถีชีวิตแบบชาวอยุธยาดั้งเดิม โดยจำลองเมืองเก่าเล่าใหม่ในบรรยากาศย้อนยุค มีร้านค้า สินค้าต่างๆ รวมถึงชุดไทยให้เปลี่ยนก่อนเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวต่อไป”

เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา น่าจะเป็นโครงการใหญ่ซึ่งมีแรงสั่นสะเทือนในวงกว้างพอสมควร ตามแผนการลงทุนประมาณ 6,200 ล้านบาท ด้วยพื้นที่โครงการขนาด 47 ไร่

มีบางตอนอ้างอิงสิ่งที่เรียกว่า Kyoto Model ดูไปแล้ว กล่าวถึงเป้าหมายให้อยุธยาเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น ยังมองไม่เห็นแผนการที่เป็นไปได้ หากเพียงแค่ขยายความไว้ข้างต้น

 

ในฐานะผู้เขียนเองเป็นคนอยุธยา สิ่งที่น่าสนใจติดตามมีอย่างน้อย 2 ประเด็น

หนึ่ง-การออกแบบให้ร่วมสมัย คงจะมีมุมมองซึ่งกว้างกว่าการตอบสนองกิจกรรมธุรกิจโดยตรง หากสะท้อนภาพรวมว่าด้วยความสัมพันธ์กับบริบทและบุคลิกอยุธยา ในฐานะเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของอยุธยายุคใหม่ พลังแห่งการออกแบบมีมากจริงๆ ในปัจจุบัน ดังกรณี Zaha Hadid กับ Beijing Daxing International Airport

อีกประเด็นหนึ่ง ว่าด้วย “จุดขาย” มิใช่เป็นจุดขายอย่างที่เข้าใจ หากเป็นสิ่งอ้างอิงที่แตกต่าง หากเชื่อมโยงกันอย่างแยบยล

ด้วยไม่แน่ใจในกรณีอยุธยา- Kyoto Model หากค่อนข้างแน่ใจในโมเดลยุคสมัย ในบางมิติ ในกรณี Roppongi Hills Mori Tower กับ Tokyo