เทศมองไทย : ขยะพลาสติก กับคนไทยและประเทศไทย

ปัญหาขยะเป็นปัญหาของคนไทย ของประเทศไทยมานานแล้ว

ปัญหานี้ยิ่งเลวร้ายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา หลังจากที่ทางการจีนตัดสินใจเด็ดขาด ห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศเด็ดขาด ปริมาณขยะของไทยก็เป็นเหมือนกับเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กลายเป็น “ที่ทิ้งขยะ” จากโลกตะวันตกที่พัฒนาแล้ว

สมทบเข้ากับขยะที่เป็นปัญหาอยู่แต่เดิม ทำให้กลายเป็น “วิกฤตการณ์ขยะ” ในระดับชาติขึ้นมา

ผมขอเน้นว่า ปัญหาขยะเป็นปัญหาทั้งของคนไทยและของประเทศ ผมเชื่อว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบกับขยะที่มีอยู่ในเวลานี้ เพราะทุกคนมีส่วนในการสร้างขยะเหล่านี้ขึ้นมา

ข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่สนับสนุนความคิดนี้ก็คือ ทุกวันนี้คนไทยเรายังคงใช้ “ถุงพลาสติก” กันมากถึง 2,000 ล้านถุงต่อปี เกือบทั้งหมดเป็นการ “ใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ครับ

ความเป็นจริงอีกอย่างก็คือ ต่อให้รัฐบาลมีนโยบายบริหารจัดการขยะดีอย่างไร ถ้าผู้คนยังขยันทิ้ง ขยันทำขยะแบบตามใจฉันอยู่ร่ำไป ไม่มีวันที่ขยะจะหมด หรือ “ถูกกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม” ได้

 

รัฐบาลไทยประกาศว่าจะทำให้ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ “ควบคุมได้” และจัดการรีไซเคิล หรือไม่ก็กำจัดอย่างถูกวิธี ให้ได้ในสัดส่วน 75 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดภายในปี 2021 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า จากระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ว่ากันว่า เพื่อการนี้ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5,100 ล้านดอลลาร์ มหาศาลเลยทีเดียว

ที่สำคัญก็คือ ถ้าคนไทยยังผลิตขยะแบบไม่ลืมหูลืมตา ขยะก็จะยังเป็นปัญหาอยู่ต่อไป ถ้าไม่ในระดับเดิมก็อาจแย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ทุกคนจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหานี้ ทำให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลงให้ได้ ตั้งแต่ในระดับตัวบุคคล ไปจนถึงระดับชุมชน ระดับเมืองและระดับประเทศ ใครคิดค้นวิธีการบริหารจัดการขยะที่ดีได้ ควรส่งเสริม ควรร่วมมือครับ

 

เกริ่นมามากมายเพื่อที่จะบอกเล่าเรื่องเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และแอพพลิเคชั่น “จีอีพีพี” (GEPP) ของจีอีพีพี สะอาด บริษัทสตาร์ตอัพของคนไทยที่เกิดมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะครับ

เอเชีย ทูเดย์ เขียนบอกเล่าเรื่องราวของมยุรี อรุณวรานนท์ ซีอีโอของจีอีพีพีเอาไว้เมื่อ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา น่าสนใจมาก บริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้นี่เอง ตอนนี้ดำเนินการครอบคลุมทั้ง 10 เขตของกรุงเทพมหานคร แล้วก็ขยายออกไปทั่วทุกภูมิภาคเรียบร้อยแล้ว เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมทีเดียวครับ

เมื่อถูกถามถึงเจตนารมณ์ในการตั้งบริษัทนี้ มยุรีบอกว่า มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ ต้องการให้คนไทยแยกขยะ

นี่เป็นข้อเท็จจริงแย่ๆ อีกอย่างหนึ่งของคนไทยที่ต้องยอมรับกันครับ การแยกขยะ ก็เพื่อให้สะดวกต่อการรีไซเคิล แล้วก็ลดปริมาณขยะไปในตัว อาจทำให้เกิดรายได้ด้วย แต่คนไทยน้อยมากที่แยกขยะครับ

นั่นคือเหตุผลที่ขยะในเมืองไทยถูกนำไปรีไซเคิลเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของปริมาณขยะทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น 85 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกที่แยกออกมา เป็นการแยกหลังการบริโภค ซึ่งถ้าหากจะให้นำไปรีไซเคิลได้ ต้องทำความสะอาดครับ ไม่เช่นนั้นก็อาจไปลงเอยในที่ทิ้งขยะอีกเหมือนเดิม

 

สภาพอย่างนี้เป็นเหมือนกันหมดทั้งในไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

จีอีพีพีใช้แอพพลิเคชั่นเป็นหลักในการเชื่อมต่อกับผู้ใช้ให้จัดการกับขยะอย่างถูกวิธี เก็บรวบรวมไว้ เพื่อการจัดเก็บและแจ้งเวลาสำหรับการจัดเก็บ แลกกับคะแนนสะสมในแอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถนำมาแลกอะไรต่อมิอะไรได้จากจีอีพีพี

ข้อมูลที่ได้ จีอีพีพีนำไป “ขาย” ให้กับเทศบาล หรือหน่วยงานของทางการที่ทำหน้าที่จัดเก็บขยะ เป็นช่องทางทำรายได้ทางเดียวให้กับบริษัทครับ

จีอีพีพีไม่ได้มีส่วนในการจัดเก็บขยะเหล่านั้นและนำไปรีไซเคิลแต่อย่างใด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของไทย ที่ไม่อนุญาตให้เอกชนจัดเก็บขยะ แต่วิธีการของบริษัทก่อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ใช้ที่สามารถนำแต้มสะสมมาแลกสินค้าได้ เทศบาลที่สามารถทำรายได้จากขยะ “สะอาด” ที่จัดเก็บ รู้เวลาที่จัดเก็บ รู้แหล่งที่จัดเก็บ ที่สำคัญก็คือ ปริมาณขยะที่ต้องทิ้งลดลง ปริมาณที่รีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น

ถ้าประสบความสำเร็จ ไม่แน่ จีอีพีพีอาจขยายออกไปครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นได้ครับ

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตของบริษัทจีอีพีพี สะอาด นี้จะเป็นอย่างไร แต่ขอแสดงความชื่นชม และแสดงความคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จด้วยดี

เพราะนี่คือบทพิสูจน์คนไทยและประเทศไทยครับ