วิเคราะห์ : อสังหาฯกำลังเจออะไรจนเบรกหัวคะมำ?

สถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันเป็นมากกว่าคำว่า “ชะลอตัว” ที่เคยใช้เรียกกันมาแล้ว

เพราะบริษัทใหญ่ๆ แบรนด์ดีเยี่ยม ข้อมูลการตลาดสุดดยอด ทำอะไรออกมาก็ขายได้โดยใช้งบฯ โฆษณาประชาสัมพันธ์น้อยมาก ถึงขณะนี้ไม่เพียงแต่ใช้เครื่องมือสื่อสารหลากหลายขึ้นเท่านั้น

มีการปรับตัว แม้แต่ sold agent ที่ปกติไม่ใช้ แต่เวลานี้ต้องหันมาใช้บริการทั้ง sold agent ในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากยอดจองยอดขายวูบต่ำลงจนน่าตกใจ

สำหรับอสังหาฯ รายใหญ่รายกลางอื่นๆ นั้นแน่นอนว่าเจอสถานการณ์เหมือนกัน ซึ่งก็ได้เปิดฉากลุยขายกัน ตะลุมบอนสงครามราคากันอย่างถ้วนหน้า

เพราะแม้จะประเมินกันอยู่แล้วว่า ยอดจองยอดขาย และยอดโอนจะชะลอตัวลง แต่ทุกบริษัทก็คาดไม่ถึงว่าจะลงแรงขนาดนี้

กลยุทธ์ธุรกิจอสังหาฯ จึงมีทางเลือกเหมือนๆ กัน คือ ขายสินค้าสร้างเสร็จในสต๊อกให้เร็วให้มากที่สุด เพื่อเปลี่ยนสต๊อกสินค้าให้เป็นเงินสด

โครงการใหม่โครงการไหนหยุดได้ก็หยุดไปเลย โครงการไหนที่หยุดไม่ทัน ก็ให้ใช้เงินลงทุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ทำตัวให้เบาที่สุด ลดหนี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สถานการณ์เปลี่ยนจากภาวะ “ชะลอตัว” เป็นภาวะ “หัวคะมำ” แล้วเต็มตัว

ไม่น่าเชื่อว่า ภาวะชะลอตัวอสังหาฯ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ถึงกับเปลี่ยนเป็นภาวะ “หัวคะมำ” กันเลย

 

ถึงแม้ว่าขณะนี้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะรับรู้ถึงปัญหาหนักหน่วงรุนแรงของอสังหาฯ ถึงกับเอ่ยปากออกมาด้วยตัวเอง

แต่ก็คงช่วยอะไรได้ไม่เท่าไหร่ เพราะมาตรการที่ออกมา อาทิ มาตรการการคลังที่ให้นำภาระการผ่อนบ้านสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ส่วนหนึ่ง หรือการจะนำมาตรการการลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมโอนมาใช้อีกครั้งนั้น

เป็นเพียงมาตรการยาดมยาลมยาหม่อง ที่ไม่ได้มีผลต่อการรักษาโรคที่เป็นอยู่แต่อย่างใด เป็นการช่วยให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยไปแล้ว ลดค่าใช้จ่ายลงเล็กน้อยบางส่วน แต่ไม่ได้ช่วยให้คนซื้อใหม่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐออกมาย้ำทุกครั้งที่มีการแถลง คือ บอกว่าเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง คนไทยกู้เงินง่าย คนไทยมีแนวโน้มกู้เงินและเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่ไม่เคยมีแนวคิดหรือนโยบายอะไรที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ไม่เคยได้ยินการวิเคราะห์ว่า คนไทยเป็นหนี้อะไร เป็นเพราะความจำเป็นหรือแรงจูงใจอะไร จะแก้ไขได้อย่างไร

ฟังทีไรก็คล้ายจะถูกบอกว่า ถ้าคนไทยนิสัยดี ไม่กู้เงินสถาบันการเงิน ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะหายไป ถ้าคิดอย่างนี้ก็คงแก้ไขอะไรไม่ได้

เพราะไม่เคยคิดที่จะมีแผนนโยบายอะไรที่จะทำให้คนทำมาหากินดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่พอมีพอกินโดยไม่ต้องไปกู้ยืม

ธุรกิจอสังหาฯ ที่เจอภาวะ “หัวคะมำ” อยู่ในเวลานี้ คงหวังมาตรการจากภาครัฐมาช่วยอะไรไม่ได้

สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือช่วยตัวเอง

เตรียมรับกับสถานการณ์ที่เกินกว่าที่คาดไว้ และเตรียมรับปีหน้าที่จะแย่กว่าปีนี้