วงค์ ตาวัน | ไม่ใช่ยุคทหารนำการเมืองจริงหรือ ?

วงค์ ตาวัน

ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่ผ่านมา ปัญหาไฟใต้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างมากมายทีเดียว โดย ส.ส.ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตถึงการทุ่มเทงบประมาณลงไป หากยังใช้แนวทางเดิมๆ จะคุ้มค่าหรือไม่ ทั้งเรียกร้องให้ปรับแก้นโยบายของรัฐ เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีกว่านี้

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ชี้แจงยืนยันว่า แก้ปัญหาถูกทางแล้ว สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยุคนี้ไม่ใช่การทหารนำการเมือง และไม่มีการหากินจากสถานการณ์สงคราม

“แต่ชาวบ้านฟังแล้วก็คงจะงุนงงว่า สถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้ ดีขึ้นอย่างไร แบบไหน!?”

ไม่เท่านั้น ในการชี้แจงต่อสภาตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เป้าหมายของฝ่ายก่อการร้ายก็คือ การแบ่งแยกดินแดน

ฟังแล้วก็ต้องสะดุดหู

เคยมีผู้ศึกษาสถานการณ์ไฟใต้ ให้ความเห็นว่า การมองว่าผู้ก่อความไม่สงบ 3 จังหวัดใต้ มีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน เป็นการตีความผิดๆ ของรัฐหรือไม่

“หรือเป็นการจงใจตีความ เพื่อยกระดับปัญหาให้เกินเลย เพื่อให้มองว่าที่มีผู้ก่อความไม่สงบ ไม่ใช่การต่อต้านความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคด้านเชื้อชาติศาสนา”

แต่เพราะมีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน จะแยกประเทศชาติของเรา

ดังนั้น การแก้ปัญหาไฟใต้ ต้องใช้สงคราม ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างเดียว ไม่มีการเจรจาพูดคุย ไม่ต้องรับฟังปัญหาแล้วหาทางออกร่วมกัน

“นี่ไง จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายแก้ไฟใต้ในยุครัฐบาล คสช. ก็คือยุครัฐบาลทหาร ก็คือทหารนำการเมือง”

ขณะที่การตั้งโต๊ะพูดคุยเจรจาที่เริ่มต้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น มาในยุค คสช.เริ่มหดหายไป แม้จะมีบ้างก็ไม่ชัดเจนว่าคุยแล้วคืบหน้าอย่างไร

นั่นเพราะหากมองด้วยสายตาของนักประชาธิปไตย ก็ต้องยอมรับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่นี้ ยอมรับว่าคนส่วนใหญ่มีเชื้อชาติศาสนาอย่างไร แล้วจัดวางระบบการปกครองที่สอดรับ และยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย

แต่ถ้ามองด้วยสายตาเผด็จการ ชาตินิยมสุดโต่ง จะไม่ให้ความสำคัญในด้านเสรีภาพของเชื้อชาติศาสนา ต้องหลอมหลวมเป็นไทยเท่านั้น ถ้าขัดขืนแข็งข้อก็ต้องกดให้อยู่หมัด

“ทั้งที่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เห็นได้ก็คือ ก่อการร้ายใน 3 จังหวัดใต้ แต่ไหนแต่ไรมา และจนถึงวันนี้ เป็นการก่อเหตุที่ไม่เคยประกาศตัว ไม่เคยทิ้งสัญลักษณ์ ใบปลิว ว่าเป็นฝีมือกลุ่มไหน ขบวนการไหน ไม่เคยมีคำแถลงหลังก่อการ เพื่อประกาศตัวอวดผลงาน”

ซึ่งขัดแย้งกับการมองว่ามีเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน ไม่เช่นนั้นจะต้องชูชื่อกลุ่มองค์กรขบวนการให้โดดเด่น ต้องมีตัวผู้นำชูขึ้นมาชัดเจน เพื่อสร้างชื่อชั้นให้เป็นผู้ปกครองรัฐใหม่ อะไรเหล่านี้

แต่ความเป็นจริง ไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้ในความรุนแรงภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แล้วจะตีความว่าเป็นการกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดนนั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงหรือไม่

ความจริงอีกประการก็คือ 3 จังหวัดใต้มีทรัพยากรในระดับเลี้ยงตัวเองได้หรือไม่ เช่น น้ำมัน เพชร ทอง แล้วจะแยกดินแดนเป็นรัฐใหม่ได้อย่างไร!?!

ย้อนไปยุคสมัย “หะยีสุหลง” เมื่อปี 2490 ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐบาล เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แล้วถูกจับกุมดำเนินคดีฐานก่อกบฏแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ใน 7 ข้อนั้น ไม่มีข้อไหนเลยที่เป็นการเรียกร้องขอแบ่งแยกดินแดน บอกด้วยซ้ำว่ายังเป็นแคว้นหนึ่งของไทย

เพียงแต่ต้องการให้มีรูปแบบการปกครองที่ยอมรับสิทธิด้านศาสนา ภาษา วัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่

แต่นั่นแหละถูกตีความว่าเพื่อแยกดินแดน จับกุมดำเนินคดีหลายปี เมื่อพ้นโทษก็ถูกอุ้มหายไปในปี 2497 ก่อนจะปรากฏความจริงว่าถูกคำสั่งลับให้จัดการ

“นั่นเป็นชนวนเหตุแรกๆ ที่นำมาสู่การลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐด้วยความรุนแรงของคนในพื้นที่ กลายเป็นการก่อความไม่สงบที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน”

ปัญหาก็คือ เริ่มต้นตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อน เมื่อมีการเรียกร้องอะไร ก็ตีความว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน ไม่รับฟังแล้วก็ใช้อำนาจจัดการ แล้วก็ใช้มุมมองนี้มาตลอด จนถึงวันนี้ลุกลามไปขนาดไหน ก็ยังเชื่อในแนวทางเดิมๆ อยู่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในสภา ก็ระบุอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า พวกนี้ต้องการแบ่งแยกดินแดน นั่นคือยังมองเหมือนเดิม โดยไม่ดูข้อเท็จจริงรายละเอียด

เมื่อไม่นานมานี้ฝ่ายค้านเปิดเวทีเวนาแก้รัฐธรรมนูญที่ปัตตานี มีนักวิชาการเสนอว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อใช้ประชาธิปไตยเข้ามาดับไฟใต้ เพราะประชาธิปไตยจะยอมรับความหลากหลายของคนในพื้นที่ แต่ถูกตีความว่าข้อเสนอในเรื่องจัดการปกครองที่ยอมรับความแตกต่างดังกล่าวนั้น เป็นความผิด

“เกิดประเด็นร้อนระอุ มาตรา 1 ราชอาณาจักรไทยแยกไม่ได้ จากผู้นำรัฐบาลและกองทัพ”

ขนาดนักวิชาการพูดในมุมวิชาการแท้ๆ ก็ถูกตีความร้ายแรง

แต่ก็ไม่ยอมรับว่า การปราบปรามและไฟใต้ดำเนินมาหลายสิบปีแล้ว ทำไมไม่จบลงเสียที แสดงว่านโยบายไม่ยอมรับฟังและใช้อำนาจเข้าควบคุมจัดการนั้น ไม่ได้ผล

ทั้งความจริงของทุกปัญหาการปกครองในโลกนี้ บอกอยู่แล้วว่า ยิ่งกดยิ่งเกิดแรงต้าน!!

ในปลายเดือนนี้และต้นเดือนหน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 โดยจัดระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน ล่าสุดมีการประชุมเตรียมความพร้อมของตำรวจเพื่องานใหญ่นี้อย่างเต็มที่

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมสถานการณ์ โดยสั่งเตรียมกำลังตำรวจกว่า 10,000 นาย ในการดูแลความปลอดภัยและการจราจร

ขณะที่ ครม.มีมติให้วันที่ 4-5 พฤศจิกายน เป็นวันหยุดราชการพิเศษ เฉพาะกรุงเทพมหานครและนนทบุรี โดยจะขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชน บริษัทต่างๆ ให้เป็นวันหยุดงาน เพื่อเป็นการลดปัญหาด้านการจราจรใน กทม.ด้วย

“จัดหนักทุกฝ่าย เพื่อให้เรียบร้อยและราบรื่นที่สุด”

แต่ข่าวจากห้องประชุมของตำรวจระบุว่า ที่มีการเน้นย้ำอย่างมากที่สุดคือ การสืบสวนหาข่าวป้องกันกลุ่มก่อความไม่สงบ ลอบวางระเบิด

เพราะเหตุระเบิดทั่ว กทม.และนนทบุรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งชัดเจนว่าเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบจากไฟใต้ ขึ้นมาลอบวางระเบิดกว่าสิบจุดนั้น เป็นช่วงที่มีการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพอดี

“เชื่อว่าต้องการนำเอาปัญหา 3 จังหวัดใต้ สะท้อนไปยังวงประชุมอาเซียน”

ทั้งการสืบสวนหาพยานหลักฐานถึงขณะนี้ ชัดเจนว่า เหตุระเบิดทั่วกรุงดังกล่าว เป็นขบวนการไฟใต้ ไม่พบความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใดๆ

ดังนั้น เมื่อการประชุมผู้นำอาเซียนจะเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมต่อต้นพฤศจิกายน

“ปฏิบัติการของกลุ่มไฟใต้เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา จึงเป็นบทเรียนที่ตำรวจต้องนำมาเป็นประเด็นใหญ่ เพื่อเตรียมรับมืออย่างเต็มพิกัด”

โดยเร่งระดมหน่วยสืบสวนตั้งแต่พื้นที่ไฟใต้ขึ้นมาถึง กทม. เพื่อสกัดกั้นรับมือให้ได้

ต้องไม่ลืมว่า เมื่อสิงหาคม 2559 ก็ลุกลามวางระเบิดทั่ว 7 จังหวัดใต้ตอนบนมาแล้ว ล่าสุดก็มาถึง กทม.เมื่อสิงหาคมนี้แล้ว

ตราบใดที่นโยบายไฟใต้ระดับรัฐยังเป็นแนวเดิมๆ อยู่ ตำรวจก็ต้องรับมือกับไฟใต้ที่ลามออกนอกพื้นที่กันอย่างเหน็ดเหนื่อยต่อไป!